Topic

European Green Deal ประเด็นสำคัญที่ผู้ส่งออกไทยต้องรู้

 

จากเป้าหมายที่ทุกประเทศจะช่วยกันลดก๊าซเรือนกระจกลง เพื่อทำให้อุณหภูมิของโลกไม่เพิ่มขึ้นเกิน 1.5-2.0 องศาเซลเซียส ภายในศตวรรษนี้ และในปี 2050 ต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือที่เรียกว่า "Net Zero" 

ในเดือน ก.ค. 2021 คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) จึงมีแผนการทำงานเพื่อสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว และเกิดเป็น "European Green Deal" หรือมาตรการลดคาร์บอนไดออกไซด์ลงร้อยละ 55 ในปี 2030 หรือ Fit for 55 Package ซึ่งเป็นร่างกฎหมายเพื่อรับรองเรื่อง

  • การปรับปรุงสิทธิการซื้อขายและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • การส่งเสริมการคมนาคมสีเขียวทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ
  • การกำหนดอัตราภาษีธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  • การกำหนดสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน
  • การตั้งเป้าหมายการดูดซับก๊าซเรือนกระจก
  • และการออกมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป  คือการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป European Union (EU)

 

ทั้งนี้ EU ไม่ใช่กลุ่มเดียวที่ออกมาตรการและนโยบายด้าน Green และ Climate Change ปัจจุบันหลายประเทศให้ความสำคัญในเรื่องนี้เช่นกัน อาทิ นโยบาย Green Plan ของสิงคโปร์ Green New Deal ของเกาหลีใต้ Green Growth Strategy ของญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาเองก็หันมาให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างมาก โดยมาตรการ European Green Deal อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการสินค้าส่งออกของไทย ทำให้ยอดการส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศ EU ลดลง จึงเป็นความท้าทายที่ภาคเอกชนไทยและภาครัฐต้องทำงานร่วมกัน เพื่อเตรียมการรับมือนโยบายและมาตรการ "European Green Deal" ผลักดันวิกฤตให้กลายเป็นโอกาส


นโยบายและมาตรการ European Green Deal ประกอบด้วยเป้าหมายหลักๆ 3 ประการ

ข้อมูลจากกองสหภาพยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ เจาะลึกในประการที่ 2 "Carbon Neutrality" คือ แนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์  ซึ่งมีกฎหมายและกฎระเบียบ 6 ข้อประกอบด้วย

1. Renewable Energy หรือกฎหมายเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน มีสาระสำคัญ คือ ปรับปรุงกฎหมายเพิ่มอัตราการใช้พลังงานทดแทนให้เป็น 40 % ของพลังงานทั้งหมดในปี 2030 (ปัจจุบัน 20%) และมาตรการปรับลดอัตราภาษีในกลุ่มพลังงานทดแทน โดยปรับเพิ่มอัตราภาษีในกลุ่มพลังงานประเภทอื่นที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง รวมทั้งมาตรการปรับปรุงอาคารสำนักงานในกลุ่มประเทศสมาชิก EU ให้ลดการใช้พลังงานลงอย่างน้อย 3% ต่อปี ซึ่งอาจเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการไทย ที่สามารถสร้างนวัตกรรมอุปกรณ์สำนักงานที่ช่วยประหยัดพลังงานส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยัง EU ได้เพิ่มขึ้น  

2. Sustainable / Smart Mobility หรือกฎหมายเกี่ยวกับการขนส่งอัจฉริยะและยั่งยืน มีสาระสำคัญ คือ ยกระดับมาตรฐานยานพาหนะที่ใช้ในกลุ่มประเทศสมาชิก EU โดยอนุญาตให้ใช้ยานพาหนะที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์เท่านั้น ภายในปี 2035 ซึ่งจะส่งผลกระทบกับการส่งออกอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ และอุปกรณ์การชาร์จพลังงานสำหรับรถไฟฟ้า และรถไฮโดรเจน จากประเทศไทย  รวมทั้งการปรับปรุงมาตรฐานการควบคุมมลพิษ Euro-7 ส่งผลกระทบกับธุรกิจระบบเครื่องยนต์ดีเซล และเบนซิน และ ปรับปรุงกฎหมายควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมการบิน และการเดินเรือ  โดยจะเริ่มในปี 2026 อันจะส่งผลกระทบกับเครื่องบินไทย การเดินเรือไทยที่เข้ามาในกลุ่มประเทศสมาชิก EU ซึ่งต้องมีการเตรียมพร้อมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่ง

3. Forestry / Biodiversity หรือกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพ มีสาระสำคัญ คือ มาตรการการปกป้องป่าที่เป็นแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจก อาทิ การไม่ใช้พลังงาน Biofuel เช่น ปาล์มน้ำมัน อ้อย และข้าวโพด ที่มาจากการรุกพื้นที่ป่า หรือสร้างผลลัพธ์ทำให้ขาดแคลนอาหาร และทำให้ราคาอาหารแพงขึ้น รวมถึงการไม่ซื้อสินค้าทุกประเภทที่มาจากการรุกพื้นที่ป่า เช่น กาแฟ 

4. Taxonomy หรือฎหมายเกี่ยวกับการจัดหมวดหมู่ธุรกิจสีเขียว คือการกำหนดนิยามกิจกรรมของธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก็จะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศสมาชิก EU มากขึ้น เช่น การระดมทุนใน Green Bond  หรือได้สิทธิพิเศษทางสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ Soft Loan

5. Due Diligence หรือฎระเบียบความรับผิดชอบในการประกอบธุรกิจ คือการกำหนดกรอบการทำธุรกิจตามหลักบรรษัทภิบาล Sustainable Corporate Governance  ธุรกิจที่ไม่สร้างผลกระทบและดูแลสิ่งแวดล้อม และธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน  ซึ่งจากกฎระเบียบข้อนี้นักธุรกิจและผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัว โดยให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนตามหลัก (Environmental, Social, Governance: ESG) ที่ไม่ได้ทำธุรกิจเพียงแค่แสวงหาผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ต้องให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลและผนวกอยู่ในยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ในการดำเนินกิจการด้วย

6. CBAM หรือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ซึ่งมาตรการนี้มีการปรับราคาสินค้านำเข้าบางประเภท เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในกลุ่มประเทศสมาชิก EU และปกป้องธุรกิจภายในกลุ่มประเทศสมาชิก EU ที่ต้องแบกภาระต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเพราะต้องปฏิบัติตามมาตรการ European Green Deal เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ทำให้การแข่งขันเป็นธรรม เมื่อเทียบกับสินค้านำเข้าจากประเทศที่ 3 นอก EU ที่ราคาสินค้าถูกกว่าเพราะการผลิตไม่มีต้นทุนการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ดังนั้นผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกเข้าสินค้าเข้าไปในกลุ่มประเทศสมาชิก EU ต้องถูกใช้มาตรการ European Green Deal เช่นเดียวกัน

 

มาทำความรู้จัก CBAM และการเตรียมความพร้อมของไทย

5 กลุ่มสินค้าแรกที่ถูกพิจารณาตามระเบียบของ CBAM
โดยแต่ละกลุ่มสินค้าจะมีข้อกำหนดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และวิธีการเรียกเก็บค่าคาร์บอน ได้แก่ (1) บริการไฟฟ้า (2) ซีเมนต์ (3) ปุ๋ย (4) เหล็กและเหล็กกล้า (5) อะลูมิเนียม

ระเบียบของ CBAM เริ่มบังคับใช้เต็มที่ในวันที่ 1 มกราคม 2569 และจะมีกลุ่มสินค้าอื่นๆ ถูกพิจารณาตามระเบียบของ CBAM เพิ่มขึ้น โดยระหว่างนี้ภาคเอกชนไทยต้องเตรียมพร้อมทั้งการขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมธิการยุโรปภายใต้ CBAM การซื้อขายคาร์บอน การรายงานและการตรวจสอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การรายงานการจ่ายค่าคาร์บอนสินค้านำเข้าและส่งออก เพื่อรักษาความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจไทย

กลไกและมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) ที่ผู้ส่งออกไทยต้องศึกษา  

  • ผู้นำเข้าหรือผู้ประกอบการ (ผู้ส่งออกไทย) ต้องตั้งผู้ดูแล Authorization ที่ได้รับอนุญาตในการนำเข้าสินค้าที่อยู่ภายใต้ข้อบังคับของ CBAM มายังเขตศุลกากรของสหภาพยุโรป
  • ผู้นำเข้าหรือผู้ประกอบการส่งออกสินค้ามีหน้าที่ยื่น CBAM Declaration เพื่อรายงานว่าสินค้ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่ หรือที่เรียกว่า Embedded Emissions ซึ่งค่า Embedded Emissions  จะถูกนำมาคิดค่าคาร์บอน (ปัจจุบันในไทยยังไม่ได้รายงานในระบบ Embedded Emissions แต่เป็นระบบ Carbon footprint)     
  • ผู้นำเข้าสินค้าจะถามหา CBAM Certificate  คือหลักฐานการชำระค่าคาร์บอนแล้วตามมาตรฐาน EU จากประเทศต้นทางของสินค้า ถ้าไม่มี CBAM Certificate ก็จะถูกเก็บค่าคาร์บอนจากประเทศที่ส่งสินค้า และต้องเสียค่าปรับ
  • ผู้นำเข้าจะต้องรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่มีระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน 3 ปีแรก โดยยังไม่ต้องซื้อและส่งมอบ CBAM Certificate ซึ่งจะบังคับใช้ CBAM จริงในวันที่ 1 ม.ค. 2569 ดังนั้นระหว่างนี้ผู้ประกอบการควรต้องประเมินว่าต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเท่าไหร่จากมาตรการ CBAM
  • ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2569  ผู้นำเข้าต้องซื้อและส่งมอบ CBAM Certificate ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเภทสินค้า โดยอาจมีการขยายรายการสินค้า

 

การปรับใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ของไทยกับมาตรการ CBAM

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ TGO จะพัฒนาระบบการรายงานในระบบ Embedded Emissions ซึ่งเน้นการวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉพาะในกระบวนการผลิต ทั้งทางตรงและทางอ้อม ให้สอดคล้องกับมาตรการ CBAM เพราะหากในประเทศไทยมีกระบวนการ CBAM Certificates ของตนเอง ผู้ส่งออกไทยจะสามารถเสียค่าคาร์บอนที่ต้นทางหรือในประเทศไทย แทนการที่ต้องไปเสียให้ต่างประเทศ

 

TGO เห็นว่าปัจจัยสำคัญในการรับมือกับมาตรการ CBAM คือการพัฒนาให้เกิดผู้ทวนสอบค่า Embedded Emissions ตามมาตรฐาน EU  และพัฒนาแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตอย่างเป็นรูปธรรม  เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการชดเชยการปล่อยคาร์บอนที่เกินมาตรฐานของ CBAM รวมทั้งการเจรจาทำความตกลงกับสหภาพยุโรปให้ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้คาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VERs หรือโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย เพื่อทดแทนหรือลดภาระการซื้อค่าคาร์บอน หรือ CBAM Certificate โดย TGO จะปรับปรุงมาตรฐานการรับรองของโครงการ T-VERs บางประการให้สอดคล้องกับมาตรการ CBAM มากขึ้น

 

ความคืบหน้าของไทยกับเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์  
เมื่อปี 2016 ประเทศไทยตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานและการขนส่งลง 7-20 % ภายในปี 2020 และจากข้อมูลปี 2020 ไทยลดก๊าซเรือนกระจกลงได้จริง 17 %  โดยภายในปี 2030 ไทยมีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกลง 20-25 % ในทุกอุตสาหกรรม และภายในปี 2065-2070 ไทยมีเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์  ซึ่งจะประกาศในที่ประชุม COP26 ในเดือน พ.ย. 2021

เครดิต: งานสัมมนาออนไลน์  "จับตากระแส European Green Deal ประเด็นสำคัญที่ผู้ส่งออกไทยต้องรู้"
(จัดโดย: สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย)

ผู้ร่วมเสวนา
นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์  ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊ชเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
นางสาวจิตรนา กำเนิดเพ็ชร์   อัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) สำนักงานพาณิขย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเชลส์
คุณจุฬามณี ชาติสุวรรณ  อธิบดีกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ
นายกิจวัตร ทาเจริญ  นักการทูตชำนาญการ (ที่ปรึกษา) กองสหภาพยุโรป กรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ

 เอกสาร: กลไกการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) 2566 Click