Topic

เศรษฐกิจโตขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมลดลง ด้วยการฟื้นฟูสีเขียว (Green Recovery) 

เป็นไปได้หรือไม่?

เศรษฐกิจโตขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมลดลง (Decoupling) ด้วยการฟื้นฟูสีเขียว (Green Recovery) 

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การระบาดของโควิด-19 ส่งผลเสียอย่างมหาศาลต่อโลกในทุก ๆ ด้าน นอกจากชีวิตผู้คนทั่วโลกแล้ว ด้านเศรษฐกิจถูกกระทบอย่างหนัก เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ภาครัฐต่างมองหาแนวทางในการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจจะเป็นรูปแบบเดิมที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ และคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรองลงมา หรือจะมองว่า วิกฤติโควิด-19 เป็นโอกาสอันดีในการเริ่มพัฒนาทั้งเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคมควบคู่กัน

ทุกคนคงพอทราบกันอยู่แล้วว่า โควิด-19 นี้ เกิดจากการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จากค้างคาวสู่คน แต่ทุกคนอาจจะคาดไม่ถึงว่าโรคอุบัติใหม่นี้มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับการทำลายสิ่งแวดล้อม การล่มสลายของระบบนิเวศ รวมถึงภาวะโลกรวน (Climate Change) ที่กลายเป็นปัญหายุ่งเหยิงและทับซ้อนกันลงไป และนำมาซึ่งความเจ็บปวดและทุกข์ยากของประชาชนทุกคน ดังนั้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ไข (Collective Action) ไม่อาจเพิกเฉยหรือละเลยได้อีกต่อไปแล้ว

นักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมมองว่า ตอนนี้เป็นโอกาสดีที่จะปรับนโยบายเศรษฐกิจของประเทศให้เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยไม่สร้างผลเสียต่อเศรษฐกิจด้วย จึงเกิดแนวคิด "การฟื้นฟูสีเขียว หรือ Green Recovery" ซึ่งเป็นคำเรียกแนวทางและมาตรการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในลักษณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเติบโตแบบยั่งยืน

Green Recovery ถูกคิดค้นขึ้นมาบนหลักการที่ท่านคงคุ้นเคยกันบ้างกับคำว่า ‘Decoupling’ ซึ่งถูกนำมาอ้างถึงในการประชุมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมในระดับโลกเสมอ ๆ ความหมายตามพจนานุกรม คือ ‘แยกออกจากกัน’ ส่วนความหมายที่นักเศรษฐศาสตร์นำมาใช้และยกเป็นหลักการคือ ‘การแยกออกจากกันระหว่างอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น (Economic Output) และความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Pressure)’

องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ได้แบ่ง Decoupling ในบริบทของสิ่งแวดล้อมออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ

  1. Absolute Decoupling คือ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ในขณะที่อัตราความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติคงที่หรือลดลง
  2. Relative Decoupling คือ อัตราการเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติที่สูงขึ้นแต่ไม่สูงไปกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ที่มา: (Fedrigo-Fazio et al., 2016)


ตามข้อมูลทางสถิติจาก Our World in Data ที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศต่อหัว (GDP per Capita) ของสหราชอาณาจักร (United Kingdom) ตั้งแต่ปี 1990 พบว่า ตลอดสามสิบปีที่ผ่านมา GDP per Head เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่การผลิตและบริโภคก๊าซเรือนกระจกต่อหัวลดลงอย่างมากซึ่งตรงกับหลักการ Decoupling ที่ว่า อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้น ในขณะที่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลดน้อยลง (รูปแบบAbsolute Decoupling) และนอกจากสหราชอาณาจักรแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศที่กำลังพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน เช่น
ประเทศสวีเดน เป็นต้น

 

ดังนั้น จึงอาจเป็นโอกาสที่ดีในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจแบบยั่งยืน โดยอิงมุมมองจากหลักการ Decoupling เพื่อที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมให้เติบโตได้ โดยส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

รายงานล่าสุดของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) มองว่า แนวทางการฟื้นฟูสีเขียวจำเป็นอย่างยิ่งต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของอาเซียนหลังวิกฤติโควิด-19 เนื่องจากเหตุผล 4 ประการ คือ

  1. การฟื้นฟูสีเขียว มีความสำคัญในการป้องกันโรคระบาด หรือโรคอุบัติใหม่ในอนาคต เนื่องจากประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพของมนุษย์
  2. การฟื้นฟูสีเขียว มีความสำคัญในการสร้างความสามารถในการรับมือการเปลี่ยนแปลง (Resilience) จากภาวะโลกรวนและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Loss) รวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค
  3. การฟื้นฟูสีเขียว มีศักยภาพอย่างยิ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ (Economic Stimulus)
  4. การฟื้นฟูสีเขียว จำเป็นต่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งและความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาคในระยะยาว

และยังชี้ให้เห็นถึง 5 โอกาสสำคัญหากภูมิภาคอาเซียนนำแนวคิดการฟื้นฟูสีเขียวมาปรับใช้ เพื่อนำไปสู่ ‘การเติบโตสีเขียว หรือ Green Growth’ ต่อไป ได้แก่

  1. การเกษตรปฏิรูปเพื่อฟื้นฟูดิน (Regenerative Agriculture)
  2. การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน (Sustainable Urban Development) และโมเดลขนส่งสาธารณะ
  3. การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด (Clean Energy Transition)
  4. เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
  5. มหาสมุทรที่อุดมสมบูรณ์ (Productive and Healthy Oceans)

ซึ่งทั้งหมดนี้อาจต้องใช้เงินในการลงทุนมากถึง 176,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6.2 ล้านล้านบาท เพื่อที่จะให้ผลตามเป้าหมายที่วางไว้ อย่างไรก็ตาม นี่เป็นโอกาสสำคัญต่อภาคแรงงานที่จะนำมาซึ่งการจ้างงานคุณภาพกว่า 30 ล้านตำแหน่งภายในปี 2030 และจากการวิเคราะห์ของ ADB ยังพบว่า โอกาสเหล่านี้มีความสัมพันธ์สูงกับ 169 เป้าหมายย่อยภายใต้ 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์กรสหประชาชาติ (United Nations’ Sustainable Development Goals) ซึ่งหากทำได้ตามแนวทางข้างต้นจะสามารถบรรลุเป้าหมาย UN SDGs กว่า 60% อีกด้วย

โดยสรุปจะเห็นได้ว่า แนวคิดด้านความยั่งยืนหรือด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่ถูกพูดถึงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้น ล้วนมาจากการคิด วิเคราะห์บนหลักการทางวิทยาศาสตร์ (Science-Based) ประสบการณ์ และข้อมูลที่ได้รับการพิสูจน์แล้วทั้งสิ้น ประกอบกับวิกฤติโควิด-19 ที่เป็นตัวเร่งให้เห็นถึงปัญหาของโลกที่มีอยู่และต้องการการแก้ไข ทำให้แนวคิดการฟื้นฟูสีเขียวนี้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการออกแบบนโยบาย ไม่ว่าจากภาครัฐหรือเอกชน ซึ่งสามารถหวังผลที่มั่นคงในระยะยาว เป็นโอกาสในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป

ที่มา: https://www.bcg.in.th/background/


ประเทศไทยเอง ก็ได้นำหลักการและแนวคิดดังกล่าวมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศ โดยประกาศโมเดล "เศรษฐกิจ BCG" เป็นวาระแห่งชาติ เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2021 ที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนระดับภูมิภาคและระดับโลก โมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) คือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นแนวคิดการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (First S-Curves) ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุ อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ โดยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ผลิตที่เป็นฐานการผลิตเดิม เช่น เกษตรกรและชุมชน ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงหรือนวัตกรรม กล่าวคือ โมเดลนี้จะเป็นกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และป้องกันจากการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
จากรากฐานทรัพยากรทางธรรมชาติ วัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามโมเดล BCG จะสร้างโอกาสธุรกิจใหม่ ๆ ตามมาอีกมาก ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างร่วมกันปรับตัวโดยเริ่มจากสิ่งที่เราทำได้ดีและมีอยู่แล้ว ให้เกิดการสร้างมูลค่า ผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นและนำไปสู่การต่อยอดอื่น ๆ ในอนาคต

ตัวอย่างของโอกาสทางธุรกิจภายใต้โมเดล BCG

  • Bio Economy เศรษฐกิจชีวภาพ คือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มุ่งที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง โดยมีตัวอย่างโอกาสธุรกิจดังนี้
    • ธุรกิจอาหาร Plant-based Meat, นมวัว Lactose Free
    • ธุรกิจพลังงาน Bio-Fuel, Sustainable Aviation Fuels (SAF)
  • Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน คือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เน้นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า และนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยตัวอย่างโอกาสธุรกิจ ได้แก่
    • ธุรกิจก่อสร้างที่นำเทคโนโลยีมาช่วยคำนวณการใช้วัตถุดิบตั้งแต่กระบวนการออกแบบ เพื่อลดของเสีย
    • ธุรกิจที่นำวัตถุดิบรีไซเคิลมาใช้ เช่น นวัตกรรมเส้นด้ายพลาสติกรีไซเคิล อุปกรณ์ภายในรถยนต์ที่ทำจากส่วนผสมพลาสติกรีไซเคิล ขวดแก้ว กระป๋องอะลูมิเนียม เป็นต้น
    • ธุรกิจให้เช่าหรือส่งต่อ เช่น co—office space, สินค้ามือสอง เป็นต้น
  • Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว คือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน โดยตัวอย่างโอกาสธุรกิจ ได้แก่
    • การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EVs และยานยนตร์ไร้คนขับ
    • ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism)

ที่มา: https://www.nxpo.or.th/th/bcg-economy/

หรือการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ โมเดลเศรษฐกิจ BCG เช่น การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาสร้างต้นแบบบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม
เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาและเป็นสื่อกลางในการสร้างความร่วมมือให้กับทุกภาคส่วน เป็นต้น

ทั้งนี้ แม้อุตสาหกรรมเป้าหมายเดิม (First S-Curve) จะมีมูลค่าสูงก็จริง แต่ก็อาจช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้เพียงระยะสั้น-กลางเท่านั้น เพราะความต้องการตลาดกำลังเปลี่ยนไป ทรัพยากรธรรมชาติ กฏเกณ์กติกาก็เปลี่ยนไป อุตสาหกรรมเดิมที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาจมีต้นทุนสูงขึ้นและไม่ให้ผลตอบแทนเช่นเดิม จึงต้องถูกหันมาให้ความสนใจกับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต(New S-Curve) ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์, การบินและโลจิสติกส์, เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, ดิจิทัลและการแพทย์ครบวงจร เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดและมั่นคงในระยะที่ยาว ควบคู่ไปกับสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีนั่นเอง

*********************************
References

International Resource Panel, United Nations Environment Programme. Sustainable Consumption and Production Branch, 2011. Decoupling natural resource use and environmental impacts from economic growth. UNEP/Earthprint.

Lenaerts, K., Tagliapietra, S. and Wolff, G.B., 2022. The Global Quest for Green Growth: An Economic Policy Perspective. Sustainability14(9), p.5555.

Lim, G., Ng, T.H. and Zara, D., 2021. Implementing a green recovery in Southeast Asia.

Our World in Data. 2020. Change in per capita CO₂ emissions and GDP. [online] Available at: https://ourworldindata.org/grapher/co2-emissions-and-gdp-per-capita.

Vadén, T., Lähde, V., Majava, A., Järvensivu, P., Toivanen, T., Hakala, E., & Eronen, J. T. (2020). Decoupling for ecological sustainability: A categorisation and review of research literature. Environmental science & policy, 112, 236–244. https://doi.org/10.1016/j.envsci.2020.06.016

ZHENWEI QIANG, C., SAURAV, A. and VINEY, B., 2021. Global investors shift focus to sustainability amid push for a green recovery. [online] World Bank Blogs. Available at: https://blogs.worldbank.org/psd/global-investors-shift-focus-sustainability-amid-push-green-recovery.

Nxpo.or.th. 2022. [online] Available at: https://www.nxpo.or.th/th/bcg-economy/.

Fedrigo-Fazio, D., Schweitzer, J.P., Ten Brink, P., Mazza, L., Ratliff, A. and Watkins, E., 2016. Evidence of absolute decoupling from real world policy mixes in Europe. Sustainability, 8(6), p.517.

Eec.vec.go.th. 2022. [online] Available at: Eec.vec.go.th.