Topic

บริษัท โรงพยาบาลมหาชัย จำกัด (มหาชน) ต้นแบบการนำกลยุทธ์ความยั่งยืนไปพัฒนาธุรกิจโรงพยาบาล (บทความ)

โรงพยาบาลมหาชัย ต้นแบบธุรกิจโรงพยาบาลสู่ความยั่งยืน ที่ยกระดับการให้บริการศูนย์การแพทย์เฉพาะทางเที่ยงคืน และศูนย์การแพทย์เฉพาะทางเสาร์-อาทิตย์ เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าเป็นสำคัญ (Customer Centric)

ปัจจุบันสถานพยาบาลในประเทศไทยมีจำนวน 38,512 แห่ง แบ่งเป็นสถานพยาบาลของรัฐประมาณ 34.7% และสถานพยาบาลเอกชน 65.3% แม้จำนวนสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนจะมีอยู่มาก แต่ความพร้อมยังไม่เพียงพอรองรับผู้ป่วยในบางพื้นที่และทันท่วงที การใช้บริการเป็นผู้ป่วยนอกยังต้องใช้เวลารอนาน เปิดโอกาสทางการตลาดแก่ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนซึ่งเน้นให้บริการด้วยความรวดเร็วและสะดวกสบาย

ปัจจัยท้าทายประการหนึ่งของผู้ประกอบการธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน คือการขาดแคลนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดจำนวนแพทย์และพยาบาลต่อประชากรไว้ที่ 2.8:1,000 ขณะที่ประเทศไทยมีอัตราส่วนอยู่ที่ 0.4:1,000 ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานของ WHO และปัจจัยหนุนธุรกิจโรงพยาบาล คือการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่หนุนความต้องการใช้บริการทางการแพทย์ที่ซับซ้อนและเทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น โดยคาดว่าผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปของไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 11.2 ล้านคนในปี 2560 เป็น 13.1 ล้านคนปี 2564 ด้านกระทรวงสาธารณสุขประเมินค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 22.8 หมื่นล้านบาท (2.8% ของ GDP) ในปี 2565 จาก 6.3 หมื่นล้านบาทปี 2553 (2.1% ของ GDP) ซึ่งมองเป็นโอกาสของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน

บมจ. โรงพยาบาลมหาชัย ดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลในเครือรวม 6 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลมหาชัย โรงพยาบาลมหาชัย 2 โรงพยาบาลมหาชัย 3 โรงพยาบาลมหาชัยแม่กลอง โรงพยาบาลมหาชัยเพชรรัชต์ และโรงพยาบาลมหาชัยพร้อมแพทย์ กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องในนามบริษัทย่อยจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ บริษัทแพทย์ไทย 88 จำกัด ดำเนินธุรกิจสนับสนุนการแพทย์ในการจำหน่ายยาวัสดุทางการแพทย์และเวชภัณฑ์ รวมถึงเครื่องมือแพทย์ และบริษัท เว็ลตี้เฮลท์แคร์ จำกัด เพื่อเตรียมสำหรับการขยายธุรกิจในอนาคต ในปี 2559 ก่อตั้ง บริษัท ทีพีพี เฮลท์แคร์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจเป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งใหม่ในกรุงเทพฯ ในนามโรงพยาบาล Med Park จะเปิดให้บริการประมาณกลางปี 2563 กลุ่มลูกค้าของ บมจ.โรงพยาบาลมหาชัย เป็นผู้มีรายได้ปานกลางซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลักของธุรกิจ โรงพยาบาลต้องปรับตัวและหากลยุทธทางการตลาดใหม่ ๆ เพื่อรักษาและเพิ่มฐานลูกค้า

ในการวิเคราะห์ปัญหาและประเด็นที่สำคัญทางธุรกิจ นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช กรรมการผู้จัดการ บมจ. โรงพยาบาลมหาชัย กล่าวว่า เราต้องตอบโจทย์ปัญหาหรือ Pain Point ของผู้ป่วยให้ได้ ต้องคำนึงถึงความต้องการของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ปกติถ้าผู้ป่วยไปโรงพยาบาลหาหมอในเวลาเย็นก็อาจจะเจอแต่หมอเวร และหมอเวรจะสั่งยาไปกินชั่วคราวพรุ่งนี้กลับมาใหม่ ไม่สามารถรักษาโรคเฉพาะทางได้ การให้บริการของโรงพยาบาลไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยได้ เราพบว่า Weekend Effect ผู้ป่วยที่ไปหาหมอในวันหยุดหรือในช่วงนอกเวลาทำการในโรงพยาบาลที่ไม่มีบริการที่พร้อมหรือไม่สามารถให้บริการได้เต็มที่นั้น ทำให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยมากกว่าการเข้ารักษาในวันธรรมดา 30%  ด้วยเหตุนี้เราจึงสร้างกลยุทธ์ โดยเปิดให้บริการศูนย์การแพทย์เฉพาะทางเที่ยงคืน และศูนย์การแพทย์เฉพาะทางเสาร์-อาทิตย์ หากผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลในวันหยุด หรือในเวลาใดก็ได้ เราพร้อมดูแลผู้ป่วยอาการหนักหรือโรคเฉพาะทางตลอดเวลา โรงพยาบาลมหาชัยถือปรัชญาว่า “ถ้าญาติและผู้ป่วยไม่ยอมแพ้ โรงพยาบาลก็ไม่ยอมแพ้” เราจะเลิกการเสียโอกาสการรอคอยของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นการรอคอยผล Lab รอคอยหมอเฉพาะทาง รอคอยเจ้าหน้าที่ โรงพยาบาลมหาชัยมีความพร้อมในทุกจุดเพื่อให้ผู้ป่วยและญาติมีความมั่นใจ

อีกประเด็นปัญหาของโรงพยาบาลคือการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ และมีอัตราการลาออกของพนักงานสูง เพราะเปลี่ยนงานในที่ๆ เงินเดือนสูงขึ้น และด้วยเหตุนี้เราต้องทำให้บุคลากรของโรงพยาบาลมีการเติบโตและยั่งยืนไปพร้อมกับองค์กรด้วย ดังนั้นบุคลากรของเราทุกคนต้องมีความมั่นคงทางการเงิน เรามีโครงการสินมัธยัสถ์ให้พนักงานสามารถฝากเงินรายเดือนโดยได้อัตราดอกเบี้ยสูง นอกจากนี้โรงพยาบาลมหาชัยยังส่งเสริมให้พนักงานมีความรู้เพิ่มขึ้น เรามีระบบ Competency มาใช้สำหรับพัฒนาทักษะและความสามารถของพนักงาน สนับสนุนทุนให้พนักงานเรียนรู้ในสาขาเฉพาะทางเพิ่มเติม เมื่อพนักงานเก่งขึ้นมีทักษะวิชาชีพเพิ่มขึ้น ซึ่งพนักงานก็จะมีค่าตอบแทนสูงขึ้นตามไปด้วย ทำให้เรารักษาพนักงานให้อยู่กับโรงพยาบาลได้และพนักงานทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

การพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน “ทำแล้วดี” กับโรงพยาบาลในทุกด้าน เมื่อเรามีบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ป่วย ผลประกอบการของโรงพยาบาลเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีอัตราของลูกค้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น 5-10% ทุกปี และในส่วนของพนักงานหลังจากเรามีนโยบายต่างๆ ที่ช่วยดูแลพนักงานทุกคนทั้งด้านสุขภาพการเงินที่ดี และความเติบโตในสายวิชาชีพ ทำให้อัตราการลาออก Turnover ของพนักงานลดลงจากเดิมอยู่ที่ประมาณ 30% เหลือเพียงประมาณ 10% “ผมคิดว่าการดำเนินนโยบายและกลยุทธ์ความยั่งยืน ที่เน้นความต้องการของผู้ป่วย และพนักงานรวมทั้งผู้มีส่วนได้เสียเป็นหลักสำคัญทำให้ทุกคนได้ประโยชน์ ก็จะส่งผลให้ธุรกิจโรงพยาบาลเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง มั่นคงและยั่งยืนต่อไปข้างหน้าได้

Click ดูวิดีโอคลิปเพิ่มเติม