CGR and THSI
การประเมินบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน
ของบริษัทจดทะเบียน
ปัจจุบันแนวคิดการลงทุนอย่างยั่งยืนถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางและมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยผู้ลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
หัวใจหลักของแนวคิดนี้ คือ
การเลือกลงทุนในธุรกิจที่ดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
และสังคม ภายใต้กรอบบรรษัทภิบาล
(Environmental, Social and Governance: ESG)
นอกเหนือจาการเลือกลงทุนในธุรกิจ
ที่ให้ผลตอบแทนทางการเงินเท่านั้น
ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงานด้าน ESG
และจัดให้มีการประเมินผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน ที่ครอบคลุมประเด็นด้าน ESG
ควบคู่กัน เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ลงทุนได้เห็นและนำข้อมูลผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของธุรกิจมาใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจลงทุน ขณะเดียวกันการเปิดเผยข้อมูลและการประเมินผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนยังเป็น
เครื่องมือสำคัญในการพัฒนากระบวนการบริหารจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพ ช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและสร้างความอยู่รอดขององค์กรในระยะยาว อีกทั้งเป็นเครื่องมือช่วยสร้างผลเชิงบวกต่อสังคม สิ่งแวดล้อม
และผู้มีส่วนได้เสียด้วย
การประเมินความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนเริ่มต้นครั้งแรกในปี 2544 โดยเป็นการประเมินในมิติของการกำกับดูแลกิจการที่ดีหรือบรรษัทภิบาลเพียงมิติเดียว ผ่านโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน หรือ Corporate Governance Report of Thai Listed Companies (CGR) ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้การสนับสนุนสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Thai Institute of Directors: IOD) เป็นผู้ดำเนินการจวบจนปัจจุบัน โดยเป็นการประเมินบริษัทจดทะเบียนไทยทุกบริษัทผ่านข้อมูลที่เปิดเผยสู่สาธารณะ อาทิ รายงานข้อมูลที่บริษัทต้องจัดทำและนำส่งตามแบบที่สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด รายงานประจำปี เว็บไซต์ เป็นต้น
ต่อมาในปี 2558 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ขยายขอบเขตการประเมินความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนเพิ่มเติมจาก CGR ที่เน้นบรรษัทภิบาลเพียงด้านเดียว ด้วยการริเริ่มจัดทำ Thailand Sustainability Investment (THSI) หรือ รายชื่อหุ้นยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนไทย เพื่อให้ครอบคลุมตามความต้องการของผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียอย่างรอบด้าน โดย THSI เป็นการคัดเลือกบริษัทจดทะเบียนจากการสมัครใจเข้าร่วมตอบแบบประเมินความยั่งยืนที่ครอบคลุมคำถาม 3 มิติ ได้แก่ มิติเศรษฐกิจ มิติสิ่งแวดล้อม และมิติสังคม (ส่วนหนึ่งของมิติเศรษฐกิจได้มีการบรรจุคำถามด้านบรรษัทภิบาลที่คัดเอาเป็นประเด็นหลักสำคัญๆ ไว้) นอกจากนี้แบบประเมินความยั่งยืน THSI ยังถูกจัดทำอย่างมีความสอดคล้องกับการประเมินความยั่งยืนในระดับสากลอีกด้วย
ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งหวังให้การประเมิน CGR และ THSI เป็นเครื่องมือบริหารจัดการความเสี่ยง และการตอบสนองความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย ในขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือในการคิดค้นกลยุทธ์ และกำหนดแผนงานอย่างรอบด้านเพื่อเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพของการดำเนินงาน อาทิ การบริหารจัดการต้นทุน การนำนวัตกรรมมาใช้พัฒนาหรือคิดค้นผลิตภัณฑ์/บริการใหม่ การพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรและห่วงโซ่คุณค่า ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร เป็นต้น นอกจากนี้การเข้าร่วมประเมินทำให้บริษัททราบว่า ในกระบวนการบริหารจัดการธุรกิจยังสามารถพัฒนาปรับปรุงประเด็นใดเพิ่มเติมได้ รวมถึงได้เห็นแนวโน้มความยั่งยืน (Sustainability Trends) ที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับสากลและในประเทศอันจะนำไปสู่การยกระดับตนเองสู่การเป็นองค์กรที่ยั่งยืนต่อไป
ข้อมูลเพิ่มเติม ผลการประเมิน CGR, ผลการประเมิน THSI