Environment

ความรับผิดชอบของธุรกิจในมิติสิ่งแวดล้อม

ธุรกิจมีความเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทั้งในฐานะผู้สร้างผลกระทบและผู้ที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตส่วนใหญ่มักเป็นทรัพยากรที่มาจากธรรมชาติซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด แต่สวนทางกับความต้องการใช้ทรัพยากรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเมื่อวิเคราะห์ตามห่วงโซ่คุณค่าแล้ว จะเห็นว่าสิ่งแวดล้อมมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจอย่างมาก ตั้งแต่การผลิตสินค้าและบริการ การขนส่งหรือส่งมอบสินค้า การตลาดและการขายสู่ผู้บริโภค ไปจนถึงการใช้สินค้าและบริการของผู้บริโภคเองก็ล้วนเกี่ยวข้องกับ การใช้พลังงาน การใช้น้ำ การสร้างของเสียและมลพิษ รวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ธุรกิจควรตระหนักอยู่เสมอว่าสิ่งแวดล้อม
มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ

ที่ต้องแสดงความรับผิดชอบ และเสริมสร้างความสามารถของตนเอง
ให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

การวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม
ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่ธุรกิจต้องใส่ใจ เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงและการสร้างโอกาสของการแข่งขันในระยะยาวไปพร้อมกัน ประกอบด้วย การบริหารจัดการพลังงาน การบริหารจัดการน้ำ การบริหารจัดการขยะ ของเสียและมลพิษต่างๆ และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

การบริหารจัดการพลังงาน

การดำเนินธุรกิจทุกประเภทจำเป็นต้องอาศัยพลังงาน นับตั้งแต่กิจกรรมการขนส่งและจัดเก็บวัตถุดิบ การผลิตสินค้าและบริการ การขนส่งหรือส่งมอบสินค้าและบริการสู่ลูกค้า การตลาดและการขายสู่ผู้บริโภค ไปจนถึงการใช้สินค้าและบริการของผู้บริโภค ซึ่งพลังงานที่ธุรกิจนำมาใช้ อาทิ พลังงานไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการผลิต การใช้พลังงานไฟฟ้าในสำนักงาน การใช้น้ำมันในการขนส่งและเดินทาง เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานของทุกธุรกิจและเป็นพลังงานจากแหล่งที่ใช้แล้วหมดไป ธุรกิจจึงควรบริหารจัดการพลังงานอย่างรู้คุณค่าเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งพิจารณาทางเลือกของการใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงงานน้ำ พลังงานลม พลังงานชีวมวล มาแทนที่การใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งเป็นการช่วยบริหารความเสี่ยงของธุรกิจในการพึ่งพาพลังงานจากแหล่งที่ใช้แล้วหมดไป และให้ให้มั่นใจได้ว่าธุรกิจจะมีแหล่งพลังงานที่ใช้ได้อย่างเพียงพอในระยะยาว

การบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพจึงไม่เพียงแต่ช่วยธุรกิจลดค่าใช้จ่ายเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างความมั่นคงในการมีแหล่งพลังงานทางเลือกที่เพียงพอในระยะยาว ที่สำคัญคือช่วยลดการใช้พลังงานฟอสซิลและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการสร้างการมีจิตสำนึกที่ดีในการอยู่ร่วมกันและแสดงถึงความรับผิดชอบของธุรกิจที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในวงกว้างอีกด้วย

การวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจกับการบริหารจัดการพลังงาน

การบริหารจัดการน้ำ

น้ำมีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจทั้งในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการรวมถึงการอุปโภคบริโภคด้วย จากวิกฤตการณ์น้ำในปัจจุบันสะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคำนึงถึงการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดความเสี่ยงในการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและต่อตัวธุรกิจ โดยประเภทของน้ำที่ธุรกิจทั่วไปใช้ประกอบด้วยน้ำประปาและน้ำดิบจากแหล่งต่างๆ ที่ต้องมีการบริหารจัดการให้ดีเช่นกัน

วิกฤตการณ์น้ำที่ท้าทายและสามารถส่งผลต่อธุรกิจในปัจจุบันมี 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

1

การขาดแคลนน้ำ ซึ่งเกิดจากความต้องการน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจและจำนวนประชากรโลก รวมทั้งจากปัญหาภัยธรรมชาติและภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอนของปริมาณน้ำในหลายพื้นที่

2

คุณภาพน้ำเสื่อมโทรม จากการปนเปื้อนหรือมลพิษในแหล่งน้ำที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น หลายบริษัทต้องอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งต้นน้ำเพื่อฟื้นความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำที่จะนำไปใช้ในกระบวนการผลิต หรือลงทุนสร้างระบบบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพ

3

การเข้าถึงแหล่งน้ำที่ไม่ทั่วถึงหรือไม่เท่าเทียม ของชุมชนในหลายพื้นที่ ดังนั้นธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการน้ำและคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนในการเข้าถึงแหล่งน้ำคุณภาพจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ธุรกิจควรคำนึงถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ธุรกิจเข้าไปใช้แหล่งน้ำร่วมกับชุมชน

การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งที่ธุรกิจต้องให้ความสำคัญ โดยควรใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การลดการใช้น้ำ การนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ และการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่หลังการบำบัด

การวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจกับการบริหารจัดการน้

การบริหารจัดการขยะ ของเสีย และมลพิษ

ธุรกิจก่อให้เกิดขยะและของเสียในเกือบทุกกระบวนการตลอดห่วงโซ่คุณค่า เช่น ของเสียที่เกิดขึ้นตั้งแต่ขั้นตอนของการได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่งและจัดเก็บวัตถุดิบ การผลิตสินค้าและบริการ การขนส่งหรือส่งมอบสินค้าและบริการสู่ลูกค้า การตลาดและการขายสู่ผู้บริโภค ไปจนถึงการใช้สินค้าและบริการนั้นของผู้บริโภค ธุรกิจจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการขยะ ของเสีย และมลพิษอย่างจริงจัง เพื่อหลีกเลี่ยงการละเมิดข้อกำหนดทางกฎหมายหรือการไม่ได้รับการยอมรับให้ประกอบธุรกิจ (license to operate) จากชุมชนและสังคมที่ได้รับความเดือดร้อน

ขยะ ของเสีย และมลพิษแบ่งเป็น 4 ประเภทคือ

1

ขยะย่อยสลาย (Compostable waste) คือ ขยะที่เน่าเสียและย่อยสลายได้เร็ว เช่น เศษผัก เปลือกผลไม้ เศษอาหาร ใบไม้ เศษเนื้อสัตว์ เป็นต้น

2

ขยะรีไซเคิล (Recyclable waste) คือ ของเสียบรรจุภัณฑ์ หรือวัสดุเหลือใช้ซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ เช่น แก้ว กระดาษ เศษพลาสติก กล่องเครื่องดื่มแบบ UHT กระป๋องเครื่องดื่ม เศษโลหะ

3

ขยะอันตราย (Hazardous waste) คือ ขยะปนเปื้อน วัตถุอันตราย เช่น วัตถุระเบิด วัตถุไวไฟ วัตถุออกซิไดซ์ วัตถุมีพิษ วัตถุที่ทำให้เกิดโรค วัตถุกัมมันตรังสี วัตถุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม วัตถุกัดกร่อน วัตถุที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง เป็นต้น

4

ขยะทั่วไป (General waste) คือ ขยะประเภทอื่นนอกเหนือจากขยะ 3 ประเภทข้างต้นที่มีลักษณะที่ย่อยสลายยากและไม่คุ้มค่าสำหรับการนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เช่น ห่อพลาสติกบรรจุผงซักฟอก ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ถุงพลาสติกเปื้อนเศษอาหาร

นอกจากนี้ ยังมีมลพิษจากการกระบวนดำเนินธุรกิจ เช่น มลพิษทางอากาศ ทางน้ำ ทางเสียงและความสั่นสะเทือนรวมถึงจากสารอันตรายและกากของเสียอีกด้วย

ธุรกิจสามารถบริหารจัดการขยะ ของเสีย และมลพิษอย่างมีประสิทธิภาพได้ โดยให้ความสำคัญกับการลดการใช้ การนำกลับไปใช้ซ้ำหรือรีไซเคิล การปรับกระบวนการผลิต ปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ หรือโมเดลธุรกิจ และส่งเสริมให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ให้ความสำคัญกับการเลือกใช้วัสดุ การออกแบบผลิตภัณฑ์ การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในกระบวนการที่เกี่ยวข้องตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ รวมถึงช่วยสร้างจิตสำนึกเพื่อมีส่วนในการสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคให้เลือกใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย การกระทำเหล่านี้ไม่เพียงแต่สะท้อนความรับผิดชอบของธุรกิจในการลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่ยังช่วยบริหารจัดการต้นทุนการดำเนินงานบริหารจัดการความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจและความเสี่ยงในการปฏิบัติตามกฎระเบียบอีกด้วย เพื่อความยั่งยืนของธุรกิจและสังคมโดยรวม

การวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจกับการบริหารจัดการขยะ ของเสีย และมลพิษ

การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ธุรกิจทุกประเภทมีส่วนสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเกือบทุกกิจกรรมตลอดห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ เช่น ก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยในการขนส่งและจัดเก็บวัตถุดิบ การผลิตสินค้าและบริการ การขนส่งหรือส่งมอบสินค้าและบริการสู่ลูกค้า และการใช้สินค้าและบริการนั้นของผู้บริโภค ซึ่งโดยทั่วไปธุรกิจภาคการผลิตมักมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในทางตรงและทางอ้อม ในขณะที่ธุรกิจภาคบริการอาจสร้างผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทางอ้อม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับแหล่งกำเนิดของก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมา

การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Scope of Emission) จัดเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1

Scope 1 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรงจากการผลิตไฟฟ้า ความร้อน หรือไอน้ำ การปล่อยจากกระบวนการผลิต การรั่วไหลระหว่างกระบวนการ

2

Scope 2 จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยอ้อมผ่านการซื้อพลังงานมาใช้ เช่น พลังงานไฟฟ้า พลังงานไอน้ำ พลังงานความร้อน เป็นต้น

3

Scope 3 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยอ้อมอื่นๆ เช่น จากกิจกรรมทางธุรกิจระหว่างองค์กรและผู้ผลิตภายนอกองค์กร เช่น การว่าจ้างผลิตและบริการ (Outsource) การบำบัดของเสีย และซากผลิตภัณฑ์ของบริษัท การขนส่งที่ไม่ได้เกิดจากยานพาหนะของบริษัท เช่น การขนส่งวัตถุดิบจากผู้ผลิต การเดินทางของพนักงานด้วยพาหนะที่ไม่ใช่สินทรัพย์ขององค์กร และจากสินทรัพย์ที่เช่ามา (Leased asset)

ก๊าซเรือนกระจก ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการเลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ประชาคมโลกจึงได้กำหนดเป้าหมายร่วมกันว่าจะรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้สูงเกิน 2 องศาเซลเซียสจากช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้ทุกภาคส่วนผลักดันให้ธุรกิจต้องบริหารจัดการเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง โดยจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (carbon footprint) ขององค์กรและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 1 และ Scope 2 นอกจากนี้ ธุรกิจยังอาจพิจารณาซื้อขายคาร์บอนเครดิตและดำเนินกิจกรรมชดเชยคาร์บอนเพื่อลดผลกระทบจากกิจกรรมต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมโดยรวม

การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกนับเป็นประเด็นท้าทายสำหรับธุรกิจไทยที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อยับยั้งวิกฤตการณ์ภาวะโลกร้อนที่ทุกภาคส่วนต้องมีบทบาทในการรับมือและแก้ไขกับปัญหานี้อย่างจริงจัง

การวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจกับการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก