INNOVATION

INNOVATION

นวัตกรรมและความยั่งยืนของธุรกิจ

นวัตกรรม คือ สิ่งใหม่ที่เกิดจากการใช้ความรู้
และความคิดสร้างสรรค์ที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม

การพัฒนานวัตกรรมจึงทำได้หลายรูปแบบ ทั้งการคิดค้นด้วยบริษัทเองหรือการปรับเปลี่ยนจากสิ่งที่เป็นหรือมีอยู่เพื่อให้การดำเนินงานดียิ่งขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น โรงงานอุตสาหกรรมมีการจัดวางตำแหน่งอุปกรณ์ใหม่เพื่อลดการจราจรภายในโรงงาน หรือสำนักงานปรับลดขั้นตอนการทำงานเพื่อให้การดำเนินงานรวดเร็วยิ่งขึ้น เป็นต้น

นวัตกรรม
แบ่งได้ 4 ประเภท

ตามผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนานวัตกรรมนั้น
  • 1

    Incremental Innovation

    คือ นวัตกรรมที่เกิดจากการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงจาก
    สิ่งที่เป็นปัจจุบัน เช่น การเปลี่ยนกระบวนการหรือการลด
    ขั้นตอนที่ไม่จำเป็น ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จะช่วย
    ลดเวลาลดต้นทุนหรือในบางกรณีอาจ
    สามารถสร้างตลาดใหม่ได้

  • 2

    Breakthrough Innovation

    คือ นวัตกรรมที่เกิดขึ้นใหม่และสามารถสร้าง
    ผลกระทบ (Disrupt) ต่อธุรกิจ เช่น การเกิดขึ้นของ
    Smartphone ที่ส่งผลต่อยอดขายโทรศัพท์
    มือถือแบบเดิมและยอดรายได้จากบริการ
    ส่งข้อความ (Message) ที่ลดลง

  • 3

    Business Model Innovation

    คือ นวัตกรรมที่เกิดจากการปรับปรุงกระบวนการภายใน
    จนเกิดเป็นรูปแบบใหม่ของการดำเนินธุรกิจ เช่น ผู้ผลิต
    คอมพิวเตอร์รายหนึ่งได้สร้างรูปแบบการผลิตแบบ
    “Build-to-order” ที่ลูกค้าสามารถกำหนด
    specification ของคอมพิวเตอร์ที่
    ต้องการได้เอง ทำให้บริษัทสามารถลด
    ต้นทุนการขายผ่านร้านค้าปลีก

  • 4

    New Venture Innovation

    คือ นวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงธุรกิจเดิมอย่างสิ้นเชิงซึ่งต้อง
    มีทั้งการปรับทักษะการทำธุรกิจและการเข้าสู่ตลาดใหม่
    เช่น ผู้ผลิตปากกาลูกลื่นชื่อดังในอดีตที่โดน disrupt
    ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวโดยเข้าสู่อุตสาหกรรม
    ผลิตไฟแช็กและมีดโกนหนวดแทนเพื่อรักษา
    ระดับรายได้ของบริษัท

จากตัวอย่างการแบ่งประเภทของนวัตกรรมข้างต้นจะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในหลายปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบให้ธุรกิจต้องปรับตัวให้ทันกับการแข่งขันด้วยการพัฒนานวัตกรรมในองค์กรเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน นวัตกรรมจึงอาจไม่ใช่แค่ทางเลือกแต่เป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญเพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรจะยังดำรงอยู่ได้พร้อมกับความสามารถทางการแข่งขัน ซึ่งจะสัมฤทธิ์ผลได้ด้วยหลายปัจจัยประกอบกัน อีกทั้งต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นระบบ ตั้งแต่คณะกรรมการบริษัทที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้โดยการ กำหนดนโยบายและให้การสนับสนุนฝ่ายจัดการ การกำหนดกลยุทธ์ของฝ่ายจัดการที่ชัดเจนทั้งเป้าหมาย งบประมาณและผลลัพธ์ที่ต้องการ มีการปรับปรุงและติตตามผลการดำเนินงานเป็นระยะ รวมถึงมีการขยายผลไปยังผู้มีส่วนได้เสียให้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวด้วย อีกทั้งพนักงานมีการลงมือปฏิบัติที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมที่สอดคล้องกัน ทั้งนี้การดำเนินการจะต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องมิใช่เพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น และอาจขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมไปยังคู่ค้าของบริษัทด้วย