Stakeholder Engagement & Materiality Analysis

การมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย และการวิเคราะห์ประเด็นสำคัญ

การมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย
และการวิเคราะห์ประเด็นสำคัญ

การบริหารจัดการธุรกิจที่มีประสิทธิภาพไม่ได้เกิดขึ้นด้วยตัวองค์กรเองเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่คุณค่าซึ่งประกอบด้วยผู้มีส่วนได้เสียหลากหลายกลุ่ม ดังนั้น องค์กรต้องพิจารณาให้ได้ว่ามีความเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มใดบ้าง แต่ละกลุ่มมีลักษณะเฉพาะอย่างไร รวมถึงมีความสำคัญและสอดคล้องกับกลยุทธ์การดำเนินงานขององค์กรอย่างไร ที่สำคัญองค์กรและผู้มีส่วนได้เสียมีคุณค่าร่วมกันอย่างไร

ผู้มีส่วนได้เสียจำแนกได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

1

ผู้มีส่วนได้เสียหลัก
(Primary Stakeholders)

เป็นผู้ใกล้ชิดองค์กรโดยตรง และได้รับประโยชน์หรือผลกระทบทางตรงจากการประกอบกิจการ เช่น พนักงาน ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้า ผู้ส่งมอบ ครอบครัวพนักงาน
นักลงทุน เจ้าหนี้ ชุมชนรอบถิ่นตั้งองค์กร เป็นต้น

2

ผู้มีส่วนได้เสียรอง
(Secondary Stakeholders)

เป็นผู้เกี่ยวข้องกับองค์กรโดยอ้อมหรือสังคมไกลออกไป โดยเป็นผู้ได้รับประโยชน์หรือผลกระทบทางอ้อมจากการประกอบกิจการ เช่น รัฐบาล หน่วยงานของรัฐ สมาคมการค้า กลุ่มวิชาชีพ NGO ผู้ที่จะมาเป็นลูกค้าหรือพนักงานในอนาคต ชุมชนนอกถิ่น
ที่ตั้งองค์กร เป็นต้น

ความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย
มีความสำคัญต่อการดำเนินงานของธุรกิจ เช่น

ช่วยกำหนดนโยบาย กลยุทธ์
ทิศทาง แผนการดำเนินงาน
และแนวทางในการพัฒนาองค์กร
เป็นโอกาสและประโยชน์
ในการสร้างสรรค์สินค้า
และบริการใหม่
ช่วยลดความเสี่ยง
และผลกระทบเชิงลบ
ที่อาจเกิดขึ้นกับองค์กร
การสานความสัมพันธ์ที่ดี
กับผู้มีส่วนได้เสีย ช่วยทำให้
การดำเนินงานราบรื่นขึ้น

ธุรกิจจึงจำเป็นต้องทราบความสัมพันธ์ของตนกับผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งผลกระทบและประเด็นที่เกี่ยวโยงกันในทางบวกและทางลบ ทางตรงและทางอ้อม ดังนั้นต้องหาทางบริหารจัดการให้สอดคล้องกับความต้องการในระดับที่เหมาะสมเพื่อช่วยลดความเสี่ยง รวมถึงเป็นโอกาสที่จะพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

การมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย

การมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย

เมื่อผู้มีส่วนได้เสียมีความสำคัญต่อการดำเนินงานของธุรกิจ องค์กรจึงควรเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยทำความเข้าใจระหว่างกัน รับฟังความคิดเห็นและความต้องการ มองประเด็นเร่งด่วนว่าตรงกันหรือไม่ สอดคล้องหรือขัดแย้งกันอย่างไรบ้าง สิ่งเหล่านี้เพื่อค้นหาประเด็นที่สามารถส่งผลกระทบและเป็นความคาดหวังที่มีต่อธุรกิจ ที่ครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และเพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งที่องค์กรคาดการณ์หรือประเมินไว้เกี่ยวกับผู้มีส่วนได้เสียไม่ได้เกิดจากองค์กรคิดเองแต่ฝ่ายเดียว ทั้งนี้ อาจจะออกแบบเครื่องมือสำหรับวางแผนการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียอย่างเป็นระบบโดยระบุเป้าหมายการมีส่วนร่วมอยู่ด้วย เพื่อให้แน่ใจว่ารูปแบบ/กิจกรรมที่ใช้มีความชัดเจน รวมถึงควรกำหนดให้มีผู้ที่รับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่มอย่างชัดเจน ซึ่งการมีส่วนร่วมสามารถทำได้หลายรูปแบบ/วิธีภายใต้ความถี่ของการมีส่วนร่วมที่แตกต่างกัน

การวิเคราะห์ประเด็นสำคัญ

การวิเคราะห์ประเด็นสำคัญ

เมื่อทราบ ประเด็นผลกระทบ/ความคาดหวัง ของผู้มีส่วนได้เสียที่สามารถมีอิทธิพลต่อการดำเนินงานของธุรกิจแล้ว องค์กรควรนำไปวิเคราะห์อย่างต่อเนื่องเพื่อหาระดับความสำคัญของประเด็น ที่มีต่อองค์กรว่ามากน้อยเพียงใด โดยอาจใช้ เครื่องมือแผนภูมิ เป็นตัวช่วยจัดระดับและเปรียบเทียบความสำคัญของประเด็นต่างๆ ที่มีต่อทั้งองค์กรและต่อผู้มีส่วนได้เสียไปพร้อมกัน ทั้งนี้ กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียทั้งที่องค์กรต้องพึ่งพามากและพึ่งพาองค์กรมาก รวมถึงกลุ่มที่องค์กรต้องระมัดระวัง ควรได้รับการจัดอยู่ในระดับ "สำคัญที่สุด" และที่ต้อง "จัดการอย่างใกล้ชิด" เพราะกลุ่มนี้อาจมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญกับองค์กร นอกจากนี้ต้องจัดลำดับความสำคัญของประเด็นของผู้มีส่วนได้เสียด้วย เพราะระดับความสำคัญของประเด็นมีส่วนสำคัญในการกำหนดว่าองค์กรควรตอบสนองต่อประเด็นนั้นๆ อย่างเข้มข้นและรวดเร็วเพียงใด

บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถศึกษาและวิเคราะห์ประเด็นสำคัญทางธุรกิจ โดยใช้เครื่องมือ Materiality Assessment บนเว็บไซต์ SETLink

การปรับปรุงแก้ไขประเด็นปัญหาและมองหาโอกาสพัฒนาการดำเนินงาน

หลังจากสรุปได้ว่าผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มใดและประเด็นใดบ้างที่มีอิทธิพลอย่างสำคัญต่อการดำเนินงานของธุรกิจ องค์กรต้องมีการวางแผนตอบสนองต่อประเด็นเหล่านั้น ทั้งการจัดการความเสี่ยง ปรับปรุงแก้ไข และใช้เป็นโอกาสพัฒนาสร้างสรรค์ให้เกิดนวัตกรรมสินค้าและบริการใหม่ๆ ทั้งกระบวนการทำงาน สินค้าและบริการ ตามขั้นตอนต่อไปนี้

1

การประเมินการตอบสนองในปัจจุบัน ว่าองค์กรได้ปฏิบัติต่อประเด็นนั้นๆ มากน้อยเพียงใด

2

การกำหนดเป็นกลยุทธ์และแผนงาน อย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การดำเนินกิจการ

3

การเสริมสร้างความสามารถ
ในการตอบสนอง

ต่อประเด็นเหล่านั้นในลักษณะที่ต้องการ เช่น ความเพียงพอของทรัพยากรด้านการเงินและเทคโนโลยีสร้างความรู้ความเข้าใจ การเพิ่มทักษะที่จำเป็นของทีมงาน

4

การทำตามแผนและประเมินผล
การปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมากลับมาปรับปรุงแก้ไขกระบวนการใหม่ในอนาคตเพราะเมื่อบริบทองค์กรเปลี่ยนไปผู้มีส่วนได้เสียบางกลุ่มหรือบางประเด็นอาจเปลี่ยนแปลงลำดับความสำคัญได้