ASEAN Corporate Governance Scorecard
ASEAN Corporate Governance Scorecard (ACGS) คือ การประเมินการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียนในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการกำกับดูแลกิจการของ ASEAN Capital Markets Forum (ACMF) หรือที่เรียกว่า ACMF Corporate Governance Initiatives โดยเป็นการเปิดเผยระดับคุณภาพการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนในภูมิภาคอาเซียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการในภูมิภาคนี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงสร้างมาตรฐานการกำกับดูแลกิจการ และมาตรฐานการปฎิบัติงานดัชนีของตลาดทุนในภูมิภาคอาเซียนให้ทัดเทียมระดับสากล และเป็นที่ยอมรับจากผู้ลงทุนนานาประเทศอีกทั้งเพื่อรองรับการเปิดเสรีของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่เข้าร่วมการประเมิน ได้แก่ ประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม
บริษัทที่ได้รับการประเมิน
บริษัทจดทะเบียนที่จะได้รับการประเมิน ACGS คือ 100 บริษัทแรกในภูมิภาคอาเซียนที่มีมูลค่าทางการตลาด (Market Capitalization) สูงสุด ณ วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี และเป็นบริษัทที่มีข้อมูลเปิดเผยเป็นภาษาอังกฤษ หากบริษัทใดไม่มีข้อมูลภาษาอังกฤษเพียงพอก็จะเลือกบริษัทในลำดับถัดไปจนได้ครบ 100 บริษัท
ข้อมูลที่ใช้ประเมิน
การสำรวจและให้คะแนนของ ACGS พิจารณาจากข้อมูลที่บริษัทเปิดเผยต่อสาธารณะ ได้แก่
- รายงานประจำปีของบริษัท
- แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี
- หนังสือนัดประชุมและรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น
- ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทที่เผยแพร่ผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.
- ข้อมูลอื่นๆ ที่เปิดเผยต่อสาธารณะ เช่น เว็บไซต์บริษัท เป็นต้น
เกณฑ์การประเมิน
เกณฑ์การประเมิน ของ ACGS ได้พัฒนามาจากหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของ Organization for Economic Cooperation and Development (OECD) International Corporate Governance Network (ICGN) Asian Corporate Governance Association (ACGA) และ Code of Corporate Governance ของบางประเทศ เช่น ออสเตรเลีย อังกฤษ เป็นต้น โดยผู้ประเมินคือผู้เชี่ยวชาญด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีของแต่ละประเทศ ซึ่งผู้ประเมินของประเทศไทยคือสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) เกณฑ์การประเมินแบ่งเป็น 5 หมวด ได้แก่
- สิทธิของผู้ถือหุ้น
- การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน
- การคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย
- การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส
- ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ
เกณฑ์การประเมินแบ่งออกเป็น 2 ระดับคะแนน คือ
ระดับคะแนนปกติ
เป็นเกณฑ์การประเมินในระดับแรกจะอ้างอิงตามหลักการของ OECD รวมถึงกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบการต่างๆ ของแต่ละประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งแต่ละข้อมี 1 คะแนน โดยแต่ละหมวดจะมีจำนวนข้อคำถามไม่เท่ากันและมีน้ำหนักไม่เท่ากัน แต่เมื่อคำนวณแล้วแต่ละหมวดจะมีคะแนนรวมเท่ากันคือ 100 คะแนน
ระดับคะแนน Bonus และ Penalty
เป็นเกณฑ์ส่วนเพิ่มเพื่อให้เป็นคะแนนพิเศษหรือโบนัสสำหรับบริษัทที่ปฏิบัติได้สูงกว่ามาตรฐาน และเกณฑ์ในการลงโทษหรือตัดคะแนนสำหรับบริษัทที่ปฏิบัติได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งหากได้คะแนนเพิ่มหรือถูกหักคะแนนรวมกันเป็นได้เท่าไร ก็จะนำไปรวมกับคะแนนปกติ โดยคะแนน Bonus และ Penalty จะไม่เท่ากันในแต่ละข้อ และไม่มีการถ่วงน้ำหนักเหมือนคะแนนปกติ
การประกาศผลประเมิน
การประกาศผล ASEAN CG Scorecard แบ่งเป็น 3 ประเภท
ASEAN Asset Class PLCs
สำหรับบริษัทที่ได้คะแนน
ตั้งแต่ 97.50 คะแนนขึ้นไป
(ประกาศเรียงตามตัวอักษร)
ASEAN Top 20 PLCs
สำหรับบริษัทที่มีคะแนนติดอันดับสูงสุด 20 อันดับแรกของอาเซียน (ประกาศเรียงตามตัวอักษร)
Country Top 3 PLCs
สำหรับบริษัทจดทะเบียนที่มีคะแนนสูงสุด 3 อันดับแรกของแต่ละประเทศ (ประกาศเรียงตามตัวอักษร)
ตั้งแต่เริ่มโครงการนี้ครั้งแรกในปี 2555 บริษัทจดทะเบียนไทยมีผลการประเมินที่โดดเด่นในการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการตามมาตรฐานอาเซียนมาตลอด โดยเฉพาะหมวดสิทธิของผู้ถือหุ้นและการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน ถึงแม้จะมีการปรับเกณฑ์ประเมินให้เข้มงวดขึ้น แต่ทุกปีบริษัทจดทะเบียนไทยก็ยังสามารถพัฒนาได้ดีตามมาตรฐานอาเซียนอย่าง ต่อเนื่อง ทั้งนี้ สามารถดูผลการประเมินและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่