Sustainability Disclosure & Reporting

Disclosure & Reporting

การเปิดเผยข้อมูลและรายงานด้านความยั่งยืน Sustainability Disclosure and Reporting

เกี่ยวกับข้อมูลด้านความยั่งยืน

ข้อมูลด้านความยั่งยืน (Sustainability information) เป็นข้อมูลที่แสดงถึงนโยบาย ผลกระทบ และผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของธุรกิจ ภายใต้ระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือที่เรียกว่าข้อมูล ESG (Environmental, Social and Governance) ซึ่งจะช่วยให้ผู้ลงทุนและผู้ใช้ข้อมูลได้เห็นถึงมุมมอง การดำเนินธุรกิจในมิติที่กว้างกว่าข้อมูลทางการเงิน ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อองค์กรทั้งในด้านความสามารถในการจัดการธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส มีศักยภาพในการแข่งขัน และการสร้างผลตอบแทนในระยะยาว

แนวทางการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน

Disclosure & Reporting

บริษัทควรมีการเผยแพร่ข้อมูลด้านความยั่งยืนให้ผู้มีส่วนได้เสียรับทราบเกี่ยวกับผลการดำเนินงานด้าน ESG อย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางต่างๆ เช่น รายงานประจำปี รายงานความยั่งยืน หรือเว็บไซต์ ซึ่งมีประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุนเช่นเดียวกับข้อมูลทางการเงิน รวมถึงประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่น

ทำให้บริษัทสามารถนำข้อมูลผลการดำเนินงานด้าน ESG ไปพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงาน รวมถึงลดความเสี่ยงและสร้างโอกาสในการหารายได้ หรือลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ

ทำให้ธุรกิจเข้าใจประเด็นสำคัญด้าน ESG ที่สอดคล้องกับกลยุทธ์องค์กรและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งจะนำไปสู่การบริหารจัดการอย่างเหมาะสม เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ

การเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG สะท้อนถึงศักยภาพของธุรกิจและ ดึงดูดความสนใจของผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนในธุรกิจที่มีคุณภาพและมีโอกาสสร้างผลตอบแทนในระยะยาว

การเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG สะท้อนถึงบทบาทความรับผิดชอบของธุรกิจที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียและผลการดำเนินงานในการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

การเปิดเผยข้อมูลด้านยั่งยืนหรือข้อมูล ESG ควรมีความเชื่อมโยงกับกลยุทธ์และทิศทางการบริหารธุรกิจ เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้ข้อมูลหรือผู้ลงทุนในการพิจารณาตัดสินใจมีส่วนร่วมกับธุรกิจ อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อบริษัทในฐานะผู้จัดทำข้อมูล โดยมีหลักการที่สำคัญ ดังนี้

สำคัญ (Material)

บริษัทควรเปิดเผยข้อมูลที่เป็นประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ให้กระชับ ตรงประเด็น เพื่อประโยชน์ในการนำข้อมูลไปใช้ หลีกเลี่ยงการเปิดเผยข้อมูลในปริมาณมากแต่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ข้อมูล

ทันการณ์ (Timely)

บริษัทควรเปิดเผยข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและทันเหตุการณ์ โดยเปิดเผยความคืบหน้าของผลการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ
1 ครั้ง

เชื่อถือได้ (Reliable)

บริษัทควรเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน นำเสนอทั้งในเชิงบวก และลบโดยปราศจากอคติ ทำให้ผู้ใช้ข้อมูลเกิดความเชื่อมั่นและไว้ใจต่อข้อมูลที่บริษัทเปิดเผย

เปรียบเทียบได้ (Comparable)

บริษัทควรเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงานโดยกำหนดเป็นตัวชี้วัดเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ผู้ใช้ข้อมูลสามารถมองเห็นพัฒนาการของผลการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนสามารถประเมินผลการดำเนินงานขององค์กรและเปรียบเทียบกับคู่แข่งหรือธุรกิจอื่นได้

องค์ประกอบของการเปิดเผยข้อมูล
ด้านความยั่งยืน

ข้อมูลของบริษัท

ข้อมูลทั่วไปที่ทำให้ผู้ใช้ข้อมูลเข้าใจลักษณะการประกอบธุรกิจของบริษัท ซึ่งอาจประกอบด้วย วิสัยทัศน์ กลยุทธ์ ห่วงโซ่คุณค่า และผู้มีส่วนได้เสียของธุรกิจ เป็นต้น

นโยบายและเป้าหมายด้านความยั่งยืน

ข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงทิศทางการพัฒนาธุรกิจโดยคำนึงถึงประเด็นด้าน ESG เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้าใจถึงความมุ่งมั่นและเป้าหมายของการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม

ประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน

ข้อมูลที่แสดงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ ที่บริษัทได้พิจารณาแล้วว่าสอดคล้องกับกลยุทธ์องค์กรและความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย โดยประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนที่บริษัทกำหนดจะเป็นแนวทางในการกำหนดเค้าโครงรายงานความยั่งยืนของบริษัทด้วย

ผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน

ข้อมูลที่ทำให้ผู้ใช้ข้อมูลสามารถติดตามและความคืบหน้าของผลการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัทได้อย่างเป็นรูปธรรมครอบคลุมประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนที่บริษัทกำหนด

ตารางสรุปผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน

ตารางข้อมูลที่ทำให้ผู้ใช้ข้อมูลสามารถเปรียบเทียบผลการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัทได้โดยสะดวก เข้าใจง่าย เป็นระบบ และสามารถนำข้อมูลไปใช้เพื่อตัดสินใจในการจัดการ หรือลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนในตลาดทุนไทย

ปัจจุบันมีการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนใน 3 แนวทางสำคัญ ดังนี้

1. แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี/รายงานประจำปี (แบบ 56-1 One Report)1

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานที่ครอบคลุมประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการตลอดห่วงโซ่คุณค่าให้ครบถ้วน ท่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก ข้อมูลเกี่ยวกับการรายงานความยั่งยืนตาม One Report

2. แนวปฏิบัติการรายงานความยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยแพร่ “แนวทางการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน” ฉบับแรกในปี 2555 ตามกรอบการรายงาน Global Reporting Initiative (GRI)2 โดยต่อมาในปี 2560 ได้เผยแพร่เอกสารเรื่อง “คำแนะนำในการจัดทำรายงานความยั่งยืนของธุรกิจ” เพื่อเป็นแนวทางให้บริษัทจดทะเบียนเข้าใจถึงกระบวนการจัดทำรายงานความยั่งยืนโดยละเอียดมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจเริ่มเป็นที่สนใจของผู้ลงทุนมากยิ่งขึ้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงจัดทำคู่มือการรายงานความยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน (SET Sustainability Reporting Guide) เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนใช้เป็นเครื่องมือในการรายงานความยั่งยืนให้มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ตามบริบทของประเทศไทย

3. แนวทางการรายงานความยั่งยืนตามมาตรฐานสากล

ปัจจุบันการรายงานความยั่งยืนระดับสากลมีหลากหลายมาตรฐาน ซึ่งบริษัทจดทะเบียนสามารถเลือกอ้างอิงได้ตามความสมัครใจ เช่น GRI Standards, Integrated Report Framework, Recommendations of the Task Force on Climate-related Financial Disclosures (TCFD), Carbon Disclosure Project (CDP) เป็นต้น สำหรับมาตรฐานการรายงานความยั่งยืนสากลที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย คือ GRI Standards เนื่องจากสามารถประยุกต์ใช้ได้กับธุรกิจทุกขนาดในทุกอุตสาหกรรม เน้นกระบวนการเปิดเผยข้อมูลเฉพาะประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนผ่านมุมมองของธุรกิจและกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่หลากหลาย

การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนกับการลงทุนอย่างยั่งยืน

การเปิดเผยข้อมูลของธุรกิจเป็นกลไกสำคัญที่ใช้ตัดสินใจเพื่อการลงทุน โดยธุรกิจที่มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ถูกต้อง และครบถ้วนก็จะยิ่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียและดึงดูดให้ผู้ลงทุนเกิดความสนใจ อย่างไรก็ตาม การเปิดเผยข้อมูลของธุรกิจควรแสดงให้เห็นถึงการดำเนินธุรกิจและบริหารความเสี่ยงที่ครอบคลุมประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental Social Governance หรือ “ESG”) เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการพิจารณาลงทุน สอดคล้องกับรายงานของ KPMG เรื่อง Impact of ESG Disclosure ที่อธิบายว่าผู้ลงทุนชั้นนำระดับโลกอย่าง BlackRock และ Vanguard นิยมใช้ข้อมูล ESG มาวิเคราะห์สุขภาพของบริษัทในระยะยาว เช่น ข้อมูลการใช้พลังงานที่สะท้อนต้นทุน และความเสี่ยงในการพึ่งพาพลังงานของธุรกิจ อีกทั้งมีการนำปัจจัยด้าน ESG มาเป็นส่วนหนึ่งในเงื่อนไขการออกผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุน เช่น กองทุน และ ETFs โดยเชื่อว่าธุรกิจที่คำนึงถึงหลักการ ESG จะช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนและสามารถสร้างผลตอบแทนได้สม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการสร้างผลลัพธ์ที่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในภาพรวม

1 ดูรายละเอียดเพิ่มที่ คู่มือจัดทำแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี/รายงานประจำปี (แบบ 56-1 One Report)
2 Global Reporting Initiative (GRI) เป็นองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร ซึ่งก่อตั้งโดยสำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) และเครือข่าย Ceres GRI เผยแพร่แนวทางการรายงานความยั่งยืน G1 ในปี 2543 เป็นครั้งแรก จากนั้นได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องจนมาเป็น GRI Standards ในปัจจุบัน