Business and Human Rights
ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

สิทธิมนุษยชน หมายถึง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
สิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่มีมาแต่กำเนิดและความเสมอภาค
ที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ ศาสนา
เพศ สีผิว ภาษา เผ่าพันธุ์ หรือสถานะอื่นใด
(ที่มา: คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ)
ธุรกิจย่อมมีความเกี่ยวข้องกับ “มนุษย์” หรือ “คน” ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ลูกค้า คู่ค้า ผู้ส่งมอบ พนักงานและครอบครัวของพนักงาน ผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน ชุมชนรอบถิ่นที่ตั้งของธุรกิจหรือชุมชนไกล ฯลฯ ซึ่งในการดำเนินงานอาจจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มเหล่านี้ไม่มากก็น้อยอย่างเลี่ยงไม่ได้ และหนึ่งในประเด็นความขัดแย้งสำคัญที่เกิดขึ้นบ่อยคือ เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่หลายครั้งลุกลามจนเกิดเป็นคดีความฟ้องร้องกัน ดังนั้น การดูแลใส่ใจการเคารพสิทธิมนุษยชนของผู้เกี่ยวข้องจึงเป็นสิ่งที่ธุรกิจต้องให้ความสำคัญ โดยควรกําหนดแนวทางการดําเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างครอบคลุมตามกฎหมายของประเทศและหลักการสากล กำหนดกลยุทธ์และแผนในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีกลไกการคุ้มครองและเยียวยาเมื่อเกิดเหตุ รวมถึงเปิดโอกาสให้พนักงาน ชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมหารือในประเด็นดังกล่าวเพื่อสร้างความเข้าใจ ความร่วมมือและสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นพร้อมกัน
ประเด็นสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องค่อนข้างอ่อนไหวและสามารถเชื่อมโยงกับประเด็นอื่นๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อเนื่องมายังการทำธุรกิจได้อย่างคาดไม่ถึง จึงนับเป็นความเสี่ยงสำคัญที่อยู่กับการดำเนินธุรกิจตลอดเวลา นอกจากนี้ยังมีความต้องการ การเรียกร้อง และแรงผลักดันจากสังคมที่ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้อีกทางด้วย
กล่าวโดยสรุปธุรกิจต้อง ดำเนินงานโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง และ สร้างให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร รวมถึงพลิกวิกฤตเป็นโอกาสด้วยการนำหลักสิทธิมนุษยชนไปสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาศักยภาพพนักงานภายในองค์กร คู่ค้า ตลอดจนทั้งห่วงโซ่อุปทาน และแน่นอนว่าหากธุรกิจมีการดูแลพนักงานที่ดีและสร้างสังคมรอบด้านที่ดีแล้ว องค์กรก็จะดีตามไปด้วย
หลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
UN Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGP
ด้วยความคาดหวังต่อการแสดงความรับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชนของผู้ประกอบการ องค์การสหประชาชาติได้จัดทำ หลักการชี้แนะด้านสิทธิมนุษยชนกับธุรกิจ (United Nations Framework and Guiding Principles on Business and Human Rights) หรือ UNGP สำหรับธุรกิจใช้เป็นแนวปฏิบัติในการเคารพสิทธิมนุษยชน โดยสาระสำคัญของหลักการนี้อยู่บนเสาหลัก 3 ประการ ซึ่งส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับธุรกิจคือเสาหลักที่ 2 และ 3
เสาหลักที่ 1:
การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
(Protect)

หมายถึง รัฐมีหน้าที่คุ้มครองมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจากองค์กรของรัฐเองหรือองค์กรภาคธุรกิจ
เสาหลักที่ 2:
การเคารพสิทธิมนุษยชน
(Respect)

หมายถึง บุคคลและองค์กรที่ประกอบธุรกิจไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประเภทใดหรือขนาดใดก็ตาม ย่อมมีความรับผิดชอบที่จะเคารพสิทธิมนุษยชน
เสาหลักที่ 3:
การเยียวยา
(Remedy)

หมายถึง การแก้ไข ฟื้นฟู ชดเชยเมื่อเกิดผลกระทบหรือมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เนื่องมาจากการประกอบธุรกิจ ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจต้องมีกลไกในการเยียวยาที่มีประสิทธิผล
กรอบการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนตามหลักการ UNGP

ตัวอย่างประโยชน์ของการจัดทํานโยบายเคารพสิทธิมนุษยชน

- เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการสร้างผลตอบแทนทางการเงินและสังคม
- สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้มีส่วนได้เสีย
- สร้างภาพลักษณ์และชื่อเสียงที่ดี รวมทั้งได้รับความไว้วางใจจากสาธารณชน
- ปรับปรุงการบริหารความเสี่ยงเพื่อสร้างความน่าสนใจในการลงทุนมากขึ้น
- สร้างการมีส่วนร่วมและขวัญกําลังใจ รวมถึงความปลอดภัยและสุขอนามัยที่ดีให้กับพนักงานและผู้มีส่วนได้เสีย
- ส่งผลในทางบวกต่อการสรรหา จูงใจและรักษาพนักงาน ซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถด้านทรัพยากรบุคคล
ประเด็นความเสี่ยง
ด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นบ่อย

สิทธิแรงงาน
- การละเมิดสิทธิแรงงาน เช่น ไม่มีสัญญาจ้าง การจ้างงานไม่เป็นไปตามมาตรฐานกฎหมายแรงงาน การขัดขวางจัดตั้งสหภาพแรงงาน ผู้หญิงได้รับค่าจ้างต่ำกว่าผู้ชายหรือเลิกจ้างเมื่อผู้หญิงตั้งครรภ์
- ความปลอดภัยในการทำงาน เช่น การทำงานติดต่อเป็นเวลานานเกินไปจนเจ็บป่วย
- การเลือกปฏิบัติต่อลูกจ้างจากอคติทางเชื้อชาติ เพศ ศาสนา อายุ

สิทธิในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- การดำเนินธุรกิจที่ใช้ทรัพยากรและละเมิดสิทธิชุมชนในการเข้าถึงทรัพยากรซึ่งส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่เดิม เช่น การใช้เครื่องสูบน้ำกำลังสูงจนทำให้ชุมชนขาดแคลนน้ำสะอาด
- การจัดการของเสียที่ไม่เหมาะสม ปล่อยน้ำเสียสู่แหล่งสาธารณะทำให้ชุมชนได้รับความเดือดร้อนและเจ็บป่วย
- การก่อสร้างที่ปิดทางไหลของน้ำจนก่อให้เกิดน้ำท่วม

สิทธิในที่อยู่อาศัยและการประกอบอาชีพ
- การรุกล้ำละเมิดสิทธิที่ดินและที่ทำกิน พื้นที่ประกอบพิธีกรรมและเป็นสุสานของชุมชนท้องถิ่น
- ความขัดแย้งประเด็นวัฒนธรรม เช่น ธุรกิจโรงแรมเห็นว่าเสียงละหมาดจากลำโพงวิทยุท้องถิ่นดังรบกวนลูกค้า

สิทธิของผู้ใช้บริการ
- การเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากอคติทางเพศ เชื้อชาติ และศาสนา เช่น เลือกปฏิบัติต่อลูกค้าผิวสี ปฏิเสธการให้บริการแก่ผู้ติดเชื้อเอชไอวี
- การละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของลูกค้า เช่น ข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล
เครื่องมือประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน
เพื่อให้ธุรกิจสามารถระบุประเด็นที่น่าจะเป็นความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนได้สะดวกขึ้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอแนะนำ คู่มือประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence Handbook) และรายการตรวจสอบ (Checklist) ของภาคธุรกิจ ที่จัดทำโดย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คู่มือเล่มนี้จะช่วยให้วิธีปฏิบัติและการดูแลประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนของธุรกิจเป็นระบบยิ่งขึ้นบนพื้นฐานของหลักการสากล UNGP รวมถึงบริบทของการประกอบการในประเทศไทย