Investor Relations

IR คืออะไร?

นักลงทุนสัมพันธ์ (Investor Relations หรือ IR) คือ งาน (Function) ของ
บริษัทจดทะเบียนในการเชื่อมต่อระหว่างบุคคลภายนอกและบริษัท โดยเป็น
การสื่อสารสองทาง (Two-way Communication) กับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย
ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท เช่น ผู้ถือหุ้น นักวิเคราะห์ นักลงทุน คู่ค้าทางธุรกิจ
หน่วยงานกำกับดูแล และสื่อมวลชน หากบริษัทมีความเข้าใจและใช้ประโยชน์
จากงานนักลงทุนสัมพันธ์ได้อย่างถูกต้อง จะสามารถช่วยให้การสื่อสาร
ข้อมูลออกไปเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และในขณะเดียวกันก็สามารถรับ
ฟังความเห็นและมุมมองจากภายนอกมาใช้ประโยชน์ต่อได้

ประโยชน์ของงานนักลงทุนสัมพันธ์

  1. ช่วยให้ราคาหุ้นสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของบริษัท
    การที่บริษัทมีการดำเนินงานนักลงทุนสัมพันธ์จะช่วยให้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับบริษัทมีความเข้าใจข้อมูลของบริษัทอย่างถูกต้อง ซึ่งเมื่อทุกฝ่ายมีความเข้าใจบริษัทแล้ว สิ่งที่ตามมา คือ ราคาหุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสะท้อนมูลค่าที่แท้จริง (Fair value) ของบริษัทได้ดีขึ้น
  1. ช่วยให้ต้นทุนการเงินต่ำลง
    การดำเนินงานนักลงทุนสัมพันธ์จะช่วยให้นักลงทุนรู้จักและเข้าใจบริษัท ซึ่งในอนาคตหากบริษัทต้องการระดมทุนเพิ่มขึ้น นักลงทุนก็จะใช้เวลาในการทำความเข้าใจไม่นานนักและมีโอกาสที่จะซื้อหุ้นเพิ่มทุน ในราคาที่ใกล้เคียงกับ Fair value เพราะนักลงทุนมีความเข้าใจธุรกิจและแนวโน้มของบริษัทมาในระดับหนึ่งแล้ว
  1. ทำให้บริษัทได้รับรู้มุมมองจากคนภายนอก
    งานนักลงทุนสัมพันธ์นอกจากจะทำให้นักลงทุนรู้จักและเข้าใจบริษัทแล้ว ยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้บริหารบริษัทรับรู้และเข้าใจความคิดเห็นของคนภายนอก ได้แก่ นักวิเคราะห์ และนักลงทุนสถาบัน ที่จะเป็นมุมมองต่อทิศทางเศรษฐกิจ แนวโน้มอุตสาหกรรม และข้อบกพร่องของบริษัท ซึ่งจะช่วยให้บริษัทนำไปใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงการดำเนินงานให้ดีขึ้น

จรรยาบรรณนักลงทุนสัมพันธ์

เพื่อให้การปฏิบัติงานของนักลงทุนสัมพันธ์เป็นไปอย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้จัดทำจรรยาบรรณนักลงทุนสัมพันธ์
(ไม่ใช่กฎระเบียบหรือข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ฯ) เพื่อให้นักลงทุนสัมพันธ์ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานต่อไป โดยจรรยาบรรณนักลงทุนสัมพันธ์มีหลักการพื้นฐาน ดังนี้

  1. นักลงทุนสัมพันธ์ต้องเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นต่อการตัดสินใจลงทุน อย่างถูกต้อง เพียงพอ และทันเวลา
  2. นักลงทุนสัมพันธ์ต้อง ไม่ใช้ข้อมูลภายใน เพื่อประโยชน์ส่วนตนและผู้อื่น
  3. นักลงทุนสัมพันธ์ต้อง เปิดเผยข้อมูลอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยเปิดโอกาสให้บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงและสอบถามข้อมูลได้
  4. นักลงทุนสัมพันธ์ต้อง ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ในวิชาชีพ บนพื้นฐานของหลักการของความเท่าเทียมกันไม่มีการเลือกปฏิบัติบนอามิสสินจ้างใดๆ ที่เป็นเหตุจูงใจส่วนบุคคลและเอื้อประโยชน์ส่วนตนมากกว่าผลประโยชน์ของบริษัทและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง

บทบาทและความรับผิดชอบของนักลงทุนสัมพันธ์

IR นักลงทุนสัมพันธ์

1. สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย

นักลงทุนสัมพันธ์เป็นตัวแทนบริษัทในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่มของบริษัท โดยในการสื่อสารกับบุคคลแต่ละกลุ่ม แม้ว่าสาระสำคัญของข้อมูลจะเหมือนกันแต่นักลงทุนสัมพันธ์ต้องรู้จักวิธีการ รูปแบบ และปริมาณข้อมูลที่นำเสนอ ดังนั้น นักลงทุนสัมพันธ์จะต้องมีความรู้ความเข้าใจอย่างดีในข้อมูลที่จะเปิดเผย และต้องรู้ว่าข้อมูลอะไรบ้างที่สามารถเปิดเผยไปยังบุคคลภายนอกได้ ตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ

2. สะท้อนความเห็นจากคนนอกสู่ผู้บริหาร

นอกจากการให้ข้อเท็จจริงแล้ว นักลงทุนสัมพันธ์ยังต้องทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการรับ
ฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัท และนำเสนอให้แก่ผู้บริหารและคณะกรรมการบริษัทรับทราบ เพื่อที่จะนำข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์มาใช้ประกอบการตัดสินใจและกำหนดกลยุทธ์ของบริษัทต่อไป

3. มีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดกลยุทธ์

นักลงทุนสัมพันธ์ควรได้มีโอกาสเข้าร่วมในการประชุมที่มีการพิจารณาเกี่ยวกับการกำหนดนโยบาย วิสัยทัศน์ทางธุรกิจ และผลการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งจะช่วยให้ความเห็นที่ได้รับจากภายนอกและยังสามารถตอบข้อซักถามของนักลงทุนและนักวิเคราะห์ได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

4. รายงานข้อมูลที่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชนและข้อมูลที่สำคัญของตลาดทุนให้ผู้บริหารระดับสูง

นักลงทุนสัมพันธ์ควรเป็นผู้ที่จัดเตรียมข้อมูล ให้คำแนะนำ รวบรวมและเก็บรักษาข้อมูลข่าวสารต่างๆ ทั้งหมดของบริษัทที่ได้เผยแพร่สู่สาธารณชน รวมถึงข้อมูลในการประชุมกับนักวิเคราะห์ให้แก่ผู้ทำหน้าที่เป็น “โฆษก” ประจำบริษัท (Spokesperson) เพื่อป้องกันการเปิดเผยข้อมูลที่ผิดพลาด

5. ดูแลนักลงทุน

เนื่องจากนักลงทุนแต่ละกลุ่มมีความต้องการที่แตกต่างกัน นักลงทุนสัมพันธ์จึงควรวิเคราะห์ข้อมูลด้านนักลงทุนว่ามีพฤติกรรมการลงทุนเป็นอย่างไร เพราะเหตุใดจึงให้ความสนใจบริษัท เพื่อกำหนดกลยุทธ์การบริหารจัดการดูแลและสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

6. สร้างความน่าเชื่อถือให้แก่บริษัท

ความน่าเชื่อถือเป็นหัวใจของงานนักลงทุนสัมพันธ์ และเป็นรากฐานสำคัญของความสำเร็จในองค์กร นักลงทุนสัมพันธ์สามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่บริษัทของตนได้ โดยการรายงานข้อมูลที่เป็นจริง ถูกต้อง ครบถ้วน และมีการเปิดเผยข้อมูลที่ต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ

ทั้งนี้ หากสนใจหลักสูตรความรู้พื้นฐานสำหรับวิชาชีพนักลงทุนสัมพันธ์ (IR Fundamental Course) สามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ www.set.or.th/ir