โครงการพัฒนาคุณภาพข้อมูลความยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน

รายละเอียดหลักสูตร

INVITATION ONLY 

📌ข้อกำหนดของโครงการพัฒนาคุณภาพข้อมูลความยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน

1. วัตถุประสงค์ของโครงการฯ

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“ตลาดหลักทรัพย์”) ร่วมกับกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (“CMDF”) จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพข้อมูลความยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน (“โครงการฯ”) เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการและข้อมูลด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน โดยเน้นส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกลยุทธ์และการจัดการข้อมูลด้านความยั่งยืนที่สองคล้องกับมาตรฐานการรายงานความยั่งยืน รวมถึงความต้องการของผู้ใช้ข้อมูลด้านความยั่งยืนทั้งในและต่างประเทศผ่านกระบวนการให้คำปรึกษาเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนสามารถนำข้อมูลด้านความยั่งยืนไปพัฒนาองค์กร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจด้านธุรกิจและการลงทุน

2. ระยะเวลาดำเนินโครงการฯ

ตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 ถึงเดือนเมษายน 2567

3. ประโยชน์ที่บริษัทจดทะเบียนจะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการฯ

3.1 ได้รับคำปรึกษาเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญแบบ One-on-One เกี่ยวกับการจัดการและวิเคราะห์ประเด็นด้านความยั่งยืนสำหรับกลยุทธ์ธุรกิจตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ตามที่ระบุในข้อ 2
3.2 ได้รับคำปรึกษาเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญแบบ One-on-One และได้รับเครื่องมือสำหรับการจัดการและจัดเก็บข้อมูลด้านความยั่งยืนอย่างเป็นระบบตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ตามที่ระบุในข้อ 2 ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเปิดเผยข้อมูลตามมาตรฐานและกรอบการรายงานทั้งในและต่างประเทศต่อไป
3.3 ได้รับรายงานผลการวิเคราะห์และแนวทางการพัฒนาด้านความยั่งยืนขององค์กร รวมถึงแนวทางการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ เพื่อให้มีกรอบการรายงานที่ชัดเจนและเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในอนาคต

4. ขอบเขตการดำเนินงานของโครงการฯ

บริษัทจะได้รับคำปรึกษาและข้อเสนอแนะเชิงลึกจากที่ปรึกษาที่ตลาดหลักทรัพย์จัดสรรให้เป็นรายบริษัท (One-on-One) ในเรื่องดังต่อไปนี้

4.1 คำปรึกษาและข้อเสนอแนะเชิงลึกเกี่ยวกับการจัดการและการวิเคราะห์ประเด็นด้านความยั่งยืนสำหรับกลยุทธ์ธุรกิจ โดยประกอบด้วย

4.1.1 การวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ
4.1.2 การระบุและกำหนดแนวทางการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียบนห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ
4.1.3 การกำหนดนโยบายและเป้าหมายด้านความยั่งยืนระดับองค์กร
4.1.4 การวิเคราะห์และประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนที่สอดคล้องกับบริบทขององค์กร
4.1.5 การกำหนดแนวทางบริหารจัดการประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน
4.1.6 การกำหนดตัวชี้วัดด้านความยั่งยืนที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมและบริบทขององค์กร

4.2 คำปรึกษาและข้อเสนอแนะเชิงลึกเกี่ยวกับแนวทางการเปิดเผยและรายงานข้อมูลด้านความยั่งยืน
4.3 การใช้เครื่องมือเพื่อจัดเก็บและจัดการข้อมูลด้านความยั่งยืนที่สอดคล้องกับตัวชี้วัดด้านความยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์ (SET ESG Metrics)
4.4 การตรวจสอบความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลด้านความยั่งยืนของบริษัทตามขอบเขตที่ระบุในข้อ 4.1 ก่อนการรายงานและเผยแพร่ข้อมูล (Technical Review)

5. เกณฑ์คุณสมบัติของบริษัทจดทะเบียนที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ

5.1 เป็นบริษัทจดทะเบียนใน SET หรือ mai
5.2 ไม่เป็นบริษัทที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนหลักทรัพย์ หรือไม่เป็นบริษัทที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ
5.3 ไม่เป็นบริษัทที่อยู่ในดัชนีชี้วัดความยั่งยืนระดับสากล ณ ปีล่าสุด ได้แก่ DJSI, MSCI ESG, FTSE4Good
5.4 ไม่เคยจัดทำรายงานความยั่งยืนตามมาตรฐานสากล เช่น GRI Standards หรือมาตรฐานอื่นใดที่ทำให้เชื่อว่าบริษัทสามารถจัดทำและรายงานข้อมูลด้านความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว
5.5 ไม่เคยเข้าร่วมโครงการส่งเสริมคุณภาพการรายงานความยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่ปี 2561 ถึงปี 2565 หรือโครงการอื่นใดของตลาดหลักทรัพย์ที่มีลักษณะเดียวกันกับโครงการฯ นี้ (คลิกเพื่อตรวจสอบรายชื่อบริษัทจดทะเบียนที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมคุณภาพการรายงานความยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียนตั้งแต่ปี 2561 ถึงปี 2565)

6. เงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการฯ

6.1 บริษัทต้องจัดตั้งคณะทำงานที่เป็นพนักงานประจำของบริษัท เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการฯ ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ ไม่น้อยกว่า 5 คน ประกอบด้วย

6.1.1 หัวหน้าโครงการฯ (Project Leader) ต้องเป็นผู้บริหารระดับสูงที่ได้รับการมอบหมายจากผู้บริหารสูงสุดของบริษัท มีหน้าที่กำกับดูแลและบริหารจัดการให้โครงการฯ สำเร็จตามวัตถุประสงค์
6.1.2 ทีมงาน (Working Team) จากฝ่ายงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ฝ่ายกลยุทธ์องค์กร ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ฝ่ายผลิต ฝ่ายขาย ฝ่ายการตลาด ฝ่ายจัดหา ฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ ฝ่ายความยั่งยืน เป็นต้น โดยมีหน้าที่สนับสนุนข้อมูลและดำเนินการตามข้อเสนอแนะของที่ปรึกษา
6.1.3 ผู้ประสานงานโครงการฯ มีหน้าที่ติดตาม ประสานงาน รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนการดำเนินงานของที่ปรึกษาและตลาดหลักทรัพย์

6.2 คณะทำงานทุกคนตามข้อ 6.1 ต้องดำเนินการ ดังนี้

6.2.1 ร่วมกันทำแบบประเมินบริษัทในการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน (ESG Health Check) ผ่านระบบออนไลน์ที่  https://esghealthcheck.setgroup.or.th/home  ภายใน 7 วันทำการ หลังการประกาศผลการคัดเลือกเข้าโครงการฯ
6.2.2 เข้าเรียนหลักสูตร e-Learning RE02 การรายงานความยั่งยืน (Sustainability Reporting) (คลิกเพื่อดูรายละเอียดหลักสูตร) ที่ระบบ e-Learning ของ SETLink เท่านั้น โดยต้องเรียนให้ครบ 100% และมีผลการสอบผ่านไม่น้อยกว่า 80% 
6.2.3 ศึกษาคู่มือการรายงานความยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน และเอกสารแนะนำตัวชี้วัดด้านความยั่งยืน (ESG Metrics) ตามกลุ่มอุตสาหกรรม (คลิกเพื่อดาวน์โหลดคู่มือ)

6.3 บริษัทต้องให้ความร่วมมือในการจัดทำและนำส่งข้อมูลให้แก่ที่ปรึกษาและตลาดหลักทรัพย์อย่างครบถ้วน

6.3.1 ข้อมูลผลการวิเคราะห์และรายละเอียดห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ ภายในไตรมาส 3 ปี 2566
6.3.2 ข้อมูลการระบุผู้มีส่วนได้เสียบนห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ การวิเคราะห์ความคาดหวัง และแนวทางการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียบนห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ ภายในไตรมาส 3 ปี 2566
6.3.3 ข้อมูลผลการวิเคราะห์และรายละเอียดประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนของบริษัทที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการและ/หรือผู้บริหารสูงสุดของบริษัท ภายในไตรมาส 3 ปี 2566
6.3.4 แนวทางการเปิดเผยข้อมูลผลบริหารจัดการประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน ภายในไตรมาส 3 ปี 2566
6.3.5 เครื่องมือที่ระบุผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดด้านความยั่งยืนทั้งในระดับพื้นฐานและรายอุตสาหกรรม ภายในไตรมาส 3 ปี 2566
6.3.6 ข้อมูลอื่น ๆ (ถ้ามี)

6.4 บริษัทต้องจัดทำและเผยแพร่รายงานความยั่งยืน พร้อมทั้งนำส่งข้อมูลด้านความยั่งยืนของบริษัทสำหรับรอบการรายงานปี 2566 และ/หรือย้อนหลัง 2 ปี ได้แก่ ปี 2564 - 2565 ในระบบ ESG Data Platform ของตลาดหลักทรัพย์ กรณีวันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีของบริษัท ไม่ใช่วันที่ 31 ธันวาคม 2566 บริษัทต้องนำส่งร่างรายงานความยั่งยืนทั้งฉบับ พร้อมกับงานที่ได้รับมอบหมายตั้งแต่วันเริ่มโครงการฯ จนสิ้นสุดโครงการฯ
6.5 บริษัทต้องให้ความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์และที่ปรึกษาตลอดระยะเวลาในการดำเนินโครงการฯ เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ
6.6 บริษัทต้องเป็นผู้ดำเนินการผลิต การจัดทำ และการเขียนรายงานความยั่งยืนด้วยตนเองเท่านั้น

7. ข้อสงวนสิทธิ์

7.1 บริษัทรับทราบว่าตลาดหลักทรัพย์จะเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกบริษัทจดทะเบียนตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด และบริษัทยอมรับว่าผลการคัดเลือกของตลาดหลักทรัพย์ถือเป็นที่สิ้นสุด
7.2 บริษัทรับทราบว่าตลาดหลักทรัพย์จะเป็นผู้จัดสรรที่ปรึกษาให้แก่บริษัทตามหลักเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดอย่างเหมาะสม โดยบริษัทยอมรับว่าผลการพิจารณาของตลาดหลักทรัพย์ถือเป็นที่สิ้นสุด
7.3 กรณีที่บริษัทมีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อคณะทำงานตามข้อ 6.1 บริษัทต้องแจ้งให้ที่ปรึกษาและตลาดหลักทรัพย์รับทราบ เพื่อให้คำแนะนำในกรณีความเหมาะสมและความเพียงพอของจำนวนคณะทำงาน
7.4 บริษัทจะได้รับคำปรึกษาและข้อเสนอแนะเชิงลึกจากที่ปรึกษาซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืนตามที่ระบุในขอบเขตการดำเนินโครงการฯ ที่ปรากฏอยู่ในข้อ 4 เท่านั้น สำหรับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการผลิต การจัดทำ และการเขียนรายงานความยั่งยืน รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่รวมอยู่ในทุนสนับสนุนของโครงการฯ นี้
7.5 บริษัทที่ละเมิดเงื่อนไขหรือฝ่าฝืนข้อกำหนดของโครงการฯ จะถูกตัดสิทธิ์การเข้าร่วมโครงการด้านความยั่งยืนอื่น ๆ ของตลาดหลักทรัพย์เป็นเวลา 1 ปีนับตั้งแต่วันที่ตลาดหลักทรัพย์แจ้งการตัดสิทธิ์ดังกล่าว
7.6 ตลาดหลักทรัพย์ขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดของโครงการฯ ตามที่ตลาดหลักทรัพย์เห็นสมควร โดยจะแจ้งให้บริษัททราบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษร
7.7 บริษัทรับทราบและตกลงว่า บรรดาคำแนะนำ ข้อเสนอแนะของที่ปรึกษาที่จัดสรรให้ เป็นความเห็นเฉพาะบุคคลเท่านั้น ตลาดหลักทรัพย์ และ CMDF มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคำแนะนำและข้อเสนอแนะ รวมถึงไม่ได้รับรองความถูกต้องเหมาะสมและครบถ้วนของคำแนะนำและข้อเสนอแนะดังกล่าว และไม่มีความรับผิดในความสูญเสียหรือเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นไม่ว่าในกรณีใดจากคำแนะนำและข้อเสนอแนะดังกล่าวนั้น ทั้งนี้ ในการเลือกปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำและข้อเสนอแนะดังกล่าวหรือไม่นั้น เป็นไปตามการใช้วิจารณญาณของบริษัทเอง

8. การฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของโครงการฯ และค่าปรับ

8.1 ในกรณีที่บริษัทปฏิบัติฝ่าฝืนข้อกำหนดของโครงการฯ ข้อใดข้อหนึ่ง หรือดำเนินการตามข้อกำหนดของโครงการฯ ล่าช้าหรือไม่ครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในข้อกำหนดของโครงการฯ หรือกรณีที่มีเหตุอื่นให้ตลาดหลักทรัพย์เชื่อได้ว่าบริษัทไม่สามารถดำเนินการได้ตามข้อกำหนดของโครงการฯ ได้ หรือจะสำเร็จไม่ทันตามกำหนดระยะเวลาตามข้อกำหนดของโครงการฯ โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ตลาดหลักทรัพย์มีสิทธิบอกเลิกข้อกำหนดของโครงการฯ ได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และตลาดหลักทรัพย์ไม่ต้องรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายและความเสียหายใด ๆ อันเกิดแก่บริษัทเนื่องจากการบอกเลิกข้อกำหนดของโครงการฯ ตามข้อนี้
8.2 ในกรณีที่บริษัทถูกบอกเลิกข้อกำหนดของโครงการฯ ตามข้อ 8.1 บริษัทตกลงและยินยอมชำระค่าปรับให้แก่ตลาดหลักทรัพย์เป็นจำนวนเงิน 1,000,000 (หนึ่งล้าน) บาท

9. ขั้นตอนการสมัครเข้าร่วมโครงการฯ

9.1 กำหนดการรับสมัคร
บริษัทจะต้องส่งแบบแสดงความประสงค์สมัครเข้าร่วมโครงการฯ (คลิกเพื่อดาวน์โหลดแบบแสดงความประสงค์ฯ) โดยระบุข้อมูลครบถ้วน และลงนามโดยผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท พร้อมประทับตราบริษัททุกหน้า (ถ้ามี) ในรูปแบบไฟล์ PDF (โปรดพิมพ์ งดกรอกข้อความด้วยลายมือ) และส่งมาที่ SETsustainability@set.or.th ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2566

9.2 ประกาศผลการคัดเลือก
ตลาดหลักทรัพย์จะแจ้งผลการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ ให้บริษัทรับทราบทางอีเมลของผู้บริหารระดับสูงที่เป็นหัวหน้าโครงการฯ และผู้ประสานงานโครงการฯ ที่ระบุไว้ในแบบแสดงความประสงค์ฯ ภายในเดือนเมษายน 2566

9.3 ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ
คณะทำงานทุกคนตามรายชื่อซึ่งระบุไว้ในแบบแสดงความประสงค์ฯ ต้องลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ผ่านระบบ SETLink หลังจากทราบผลการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ แล้วภายใน 7 วันทำการ 

ระยะเวลา : ตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 ถึงเดือนเมษายน 2567

* ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยขอสงวนสิทธิในการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาหลักสูตร
หรือรายละเอียดการอบรม ตามความเหมาะสม

หลักสูตรนี้เหมาะสำหรับ

โครงการฯ นี้เหมาะสำหรับผู้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาความยั่งยืนขององค์กร การจัดเก็บและจัดการข้อมูลด้านความยั่งยืน รวมถึงการทำรายงานความยั่งยืน ทั้งผู้ปฏิบัติ ผู้ให้ข้อมูล ผู้รวบรวมข้อมูล และผู้เรียบเรียงข้อมูล

ระดับเนื้อหา

เชิงปฏิบัติการ โดยเน้นผลลัพธ์ที่บริษัทสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดด้านความยั่งยืน รวมถึงการมีข้อมูลด้านความยั่งยืนที่มีคุณภาพ พร้อมสำหรับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนและการรายงานความยั่งยืนที่เป็นมาตรฐาน/กรอบการรายงานในทิศทางเดียวกันทั้งอุตสาหกรรม

ค่าใช้จ่าย

ไม่มี

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

SETsustainability
โทรศัพท์ 0-2009-9891, 0-2009-9887
หรืออีเมล SETsustainability@set.or.th