Topic

Social Return on Investment (SROI) ตอนที่ 6

การประเมินผลตอบแทนจากการลงทุนของโครงการเพื่อสังคมเป็นขั้นตอนสุดท้ายหลังจากที่ได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องของโครงการ เช่น ปัจจัยนำเข้า (Input), กิจกรรม (Activities), ผลผลิต (Output), ผู้ใช้ประโยชน์ (User), ผลลัพธ์ (Outcome) และ ผลกระทบ (Impact) และเพื่อประมวลว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับโครงการเพื่อสังคมนั้นคุ้มค่าเพียงใด SROI ถูกสร้างขึ้นมาเป็นเครื่องมือเชิงปริมาณเพื่อวัดความคุ้มค่าเหล่านั้นให้สามารถจับต้องได้

การกำหนดและแปลงข้อมูลให้เป็นข้อมูลทางการเงิน

1. ข้อมูลด้านต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายของโครงการ

ในทุกขั้นตอนของการขับเคลื่อนโครงการเพื่อสังคม อาจเกิดต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่ต้องบันทึกเอาไว้ เช่น การได้มาของ Input การจัดกิจกรรมหรือ Activities การได้มาซึ่ง Output และ Outcome รวมทั้งผลกระทบที่ถูกตีความว่าทำให้เกิดเป็นค่าใช้จ่ายขึ้น ผู้ดำเนินการต้องเก็บข้อมูลทั้งในส่วนที่สามารถระบุเป็นตัวเลขได้โดยตรง และโดยอ้อมซึ่งในกรณีหลังต้องมีการกำหนดสมมติฐานและวิธีการคำนวณที่สมเหตุผล

2. ข้อมูลด้านผลประโยชน์ของโครงการ

ผู้ดำเนินโครงการเพื่อสังคมต้องสังเกตและรวบรวมผลประโยชน์ทั้งที่เป็นตัวเงิน และไม่เป็นตัวเงินที่เกิดขึ้นตลอดโครงการ และเช่นกันคือต้องมีการแปลงค่าจากผลประโยชน์ที่ไม่เป็นตัวเงินให้เป็นตัวเงิน โดยมีสมมติฐานที่สมเหตุสมผล เพื่อรวมผลประโยชน์ทั้งหมดให้ออกมาในเชิงปริมาณ และนำไปคำนวณต่อได้

3. การกำหนดค่าแทนทางการเงิน (Financial proxy) โดยอ้างอิงจากงานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์

มักถูกนำมาใช้ในการกำหนดค่าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากทรัพยากรธรรมชาติ ที่ส่งผลต่อมนุษย์ในลักษณะบริการทางธรรมชาติ เช่น ป่าต้นน้ำ ป่าชายเลน ระบบนิเวศชายฝั่ง เป็นต้น ที่ให้ประโยชน์แก่มนุษย์ในทางอ้อม เช่น เป็นแหล่งกำเนิดแหล่งน้ำ แหล่งผสมพันธ์พืชและสัตว์ทางธรรมชาติ การดูดซับก๊าซพิษและสารเคมี เป็นต้น ซึ่งจะใช้วิธีวัดผ่านราคาตลาดหรือราคาเงาโดยทั่วไปไม่ได้ จึงต้องใช้มูลค่าที่มีการศึกษามาแล้วจากงานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ หลังจากนั้นจะนำมาผ่านกระบวนการปรับมูลค่าให้เหมาะสมกับบริบทเชิงพื้นที่ อัตราเงินเฟ้อ และค่าเงินของแต่ละประเทศ โดยวิธีการโอนย้ายมูลค่า (Benefit transfer) ซึ่งฐานข้อมูลการประเมินมูลค่าที่มักถูกนำมาใช้คือ จาก TEEB ซึ่งเป็นฐานข้อมูลงานวิจัยด้านการประเมินมูลค่าสิ่งแวดล้อมระดับสากล อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้จะมีความซับซ้อนค่อนข้างมาก หากผู้ประเมินไม่มีความเชี่ยวชาญหรือพื้นฐานความรู้ด้านมิติเศรษฐกิจ

4. การกำหนดค่าแทนทางการเงิน (Financial proxy) โดยวิเคราะห์ผ่านราคาตลาด

เป็นวิธีการกำหนดค่าแทนทางการเงินที่ง่าย เหมาะแก่ผู้ประเมินมือใหม่ ซึ่งต้องรู้ถึงความหมายของราคาตลาด ราคาตลาดคือ ราคาของสินค้าหรือบริการ ที่มีการตั้งขึ้นและมีการยอมรับในระดับราคาจนเกิดการซื้อขายขึ้น ซึ่งผู้ประเมินสามารถนำมาใช้ได้ อย่างไรก็ดี ราคาตลาดนี้จะต้องถูกนำไปหักลบต้นทุนของกิจกรรมก่อน กำไรที่เกิดขึ้นจึงจะเป็นผลประโยชน์ที่จะนำไปประกอบการคำนวณ SROI (ต้นทุนนี้เป็นต้นทุนสินค้าบริการ คนละส่วนกับต้นทุนโครงการเพื่อสังคม) ตัวอย่างเช่น การกำหนดค่าแทนทางการเงินจากการใช้ประโยชน์โดยตรงจากป่าชุมชนที่เกิดจากการเก็บของป่าขาย ชุมชนจะได้รับประโยชน์โดยตรงจากการนำของป่ามาขายในตลาด โดยชุมชนจะจำหน่ายในระดับราคาที่หักลบต้นทุนแล้วเกิดกำไร ดังนั้น ค่าแทนทางการเงินของกิจกรรมนี้คือ "กำไร" ที่เกิดจากการจำหน่ายของป่าโดยจัดเก็บเป็นมูลค่า บาท/ปี เป็นต้น

สำหรับกรณีการใช้ประโยชน์ทางอ้อม แนวทางการคำนวณค่าแทนทางการเงินจะซับซ้อนกว่า โดยต้องมีการตีความและกำหนดสมมติฐานเพิ่มเติม เช่นการปลูกต้นไม้ในป่าชุมชน ซึ่งเมื่อต้นไม้โตขึ้นก็จะเกิดประโยชน์ทางอ้อม การกำหนดค่าแทนทางการเงินของมูลค่าต้นไม้ อาจเริ่มจากแนวคิดว่าการที่ต้นไม้คงอยู่ในป่าจะเหมือนกับการที่ชุมชนนำเงินไปฝากธนาคาร (เริ่มปลูกต้นกล้า) หลังจากนั้นต้นไม้จะเริ่มโตขึ้นทุก ๆ ปี ซึ่งเนื้อไม้และความสูงที่เพิ่มขึ้นเปรียบเสมือนดอกเบี้ยที่ชุมชนจะได้รับ  ดังนั้นในแต่ละปีชุมชนจะได้เงินเพิ่มขึ้นตามปริมาตรต้นไม้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการคิดเป็นมูลค่าเนื้อไม้ ต้องอาศัยราคาตลาดของเนื้อไม้แต่ละชนิด แต่ละปี เป็นต้น

สำหรับค่าแทนทางการเงินอีก 1 ประเภทที่อาจพบ คือ ผลประโยชน์ที่เกิดจากการป้องกัน เช่น ในโครงการส่งเสริมให้เกษตรกรเลิกใช้สารเคมีในแปลงเกษตรของตนเอง ซึ่งส่งผลให้เกิดผลกระทบดังต่อไปนี้ "ผลกระทบจากการที่เกษตรกรใช้สารเคมีในการเกษตร ทำให้เกษตรกรเกิดโรคหนังแข็งที่บริเวณเท้าและขาซึ่งเป็นผลจากสารเคมี และจากข้อมูลทางการแพทย์เปรียบเทียบระยะเวลารักษาแผลปกติกับแผลเรื้อรังที่เกิดจากยาฆ่าแมลง พบว่าแผลที่เกิดจากการสัมผัสยาฆ่าแมลงจะใช้เวลารักษา 1 เดือน ซึ่งแผลปกติใช้เวลา 7 วัน (ส่วนต่าง 23 วัน) และค่ารักษาพยาบาลเพื่อหัตถการทำแผลสดต่อครั้ง เท่ากับ 250 บาท/ครั้ง"
ดังนั้น หากเกษตรกรหายเร็วขึ้นจากโครงการลดการใช้ยาฆ่าแมลง จะทำให้สังคมสามารถลดต้นทุนการรักษาพยาบาลได้เท่ากับ 250*23 = 5,750 บาท/คน/ปี เป็นต้น

5. การคำนวณ SROI

เมื่อรวบรวมข้อมูลผลประโยชน์และต้นทุนทั้งหมดและประเมินเป็นมูลค่าเงินแล้ว ต้องพิจารณาเรื่องมูลค่าเงินตามเวลาด้วยเนื่องจาก ผลประโยชน์และต้นทุนทั้งหลายอาจเกิดขึ้นในหลายช่วงเวลา จึงต้องคำนวณให้เป็นมูลค่าปัจจุบัน ได้แก่

PV (Benefits)
PV (Costs)

ซึ่งประเด็นในการคำนวณมูลค่าปัจจุบันก็คือการกำหนดอัตราคิดลด (Discount rate) ซึ่งต้องกำหนดให้เหมาะสมกับค่าเสียโอกาสและความเสี่ยงของโครงการเพื่อสังคมนั้น ๆ

เมื่อได้มูลค่าปัจจุบันของผลประโยชน์และต้นทุนของโครงการแล้ว ก็นำมาคำนวณ SROI ได้ดังนี้

SROI = (PV of Benefits)/(PV of Costs)

หาก SROI มีค่ามากกว่า 1 เท่าใด ยิ่งแสดงให้เห็นว่าโครงการเพื่อสังคมนั้นได้สร้างผลประโยชน์เกิดขึ้นสูงกว่าต้นทุนที่เกิดขึ้นในโครงการ ยิ่งแสดงถึงความคุ้มค่าของโครงการ

 

ที่มา : คู่มือการประเมินผลกระทบทางสังคมและผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุนโครงการเพื่อสังคม, วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2564

บทความโดย
รศ.(พิเศษ)ดร.กฤษฎา เสกตระกูล
ที่ปรึกษา
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย