Topic

CG Today 3

 
ตลาดหุ้นเอเชียยกระดับ บจ. ด้วยการเปิดเผยข้อมูล ESG ตามมาตรฐานสากล
 
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการพูดถึงข้อมูล ESG ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) กันมากขึ้น ทั้งในมุมของหน่วยงานกำกับดูแล ผู้ลงทุนสถาบันและรายย่อย รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ที่ต้องการนำข้อมูลด้าน ESG ไปใช้ประกอบกับข้อมูลทางการเงินในการวิเคราะห์ถึงความเสี่ยงและโอกาสความอยู่รอดอย่างยั่งยืนของกิจการก่อนเข้าไปมีส่วนร่วมทั้งการลงทุนหรือเป็นคู้ค้าทางธุรกิจกับ บจ. นั้น
 

ตลาดหุ้นหลายแห่งในเอเชีย อาทิ สิงค์โปร์ (SGX) มาเลเซีย (Bursa Malaysia) ฮ่องกง (HKEx) และไต้หวัน (TWSE) เร่งยกเครื่อง บจ. ของตนให้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ โดยมาตรการหนึ่ง คือการออกเกณฑ์ให้ บจ. เปิดเผยข้อมูล ESG ตามมาตรฐานสากล เช่น Global Reporting Initiative (GRI) หรือตามกรอบการรายงานสากล เช่น Task Force on Climate-related Financial Disclosures (TCFD) เป็นต้น

การเปิดเผยข้อมูล ESG ในยุคเริ่มต้นของตลาดหุ้นที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น จะเป็นลักษณะ Comply or Explain ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นกฎเกณฑ์ใน Listing rules ซึ่งการรายงานนั้นจะกำหนดให้เลือกใช้มาตรฐานที่อิงตามสากล เช่น GRI, SASB (Sustainability Accounting Standards Board), IIRC (International Integrated Reporting Council) รวมถึงกรอบการรายงานในเรื่องของ Climate เช่น TCFD โดยในรายงานต้องมีข้อมูลสำคัญ เช่น

  • “ประเด็นสำคัญทางธุรกิจ (Materiality) เป้าหมาย และการดำเนินงาน”  เป็นข้อมูลที่นักลงทุนสนใจและต้องการนำไปใช้วิเคราะห์การลงทุนเพื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงและโอกาสของธุรกิจในระยะยาว
  • “การดำเนินงานของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับประเด็น Climate  ซึ่งปัจจุบันถือเป็นกฎกติกาใหม่ของโลกเพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินธุรกิจไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อม
  • “บทบาทของคณะกรรมการในการกำกับดูแลด้านความยั่งยืน”  ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความรับผิดชอบของคณะกรรมการที่ต้องกำกับดูแลประเด็นความเสี่ยงและโอกาสของธุรกิจที่มีผลกระทบต่อกิจการในระยะยาว

อนึ่ง การรายงานในด้าน Climate ของแต่ละตลาดหุ้นก็จะมีเงื่อนไขและระยะเวลาที่แตกต่างกันออกไป เช่น SGX ให้ บจ. ในกลุ่ม Finance, Agricultural และ Resources ต้องรายงานตามกรอบ TCFD ในปี 2024 ส่วนกลุ่ม Construction และ Transportation ต้องรายงานในปี 2025 นอกเหนือจากนั้นให้เปิดเผยรายงานตามหลัก ‘Comply or Explain’

ทางด้านของ Bursa Malaysia จะให้ระยะเวลาการเตรียมตัวพอสมควร โดย บจ. ใน Main market (เทียบได้กับหุ้นใน SET) ให้เปิดเผยในปี 2025 และ ACE market (เทียบได้กับหุ้นใน mai) ให้เปิดเผยในปี 2026 ขณะที่ TWSE กำหนดให้ บจ. ที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วตั้งแต่สองพันล้านดอลล่าไต้หวัน (NT$) ขึ้นไปต้องรายงานตามกรอบ TCFD ตั้งแต่ปี 2023 ส่วน HKEx จะบังคับให้เปิดเผยตามกรอบ TCFD ในปี 2025 และในระหว่างนี้ ทาง HKEx ก็ได้ปรับปรุง ESG Reporting Guide โดยเพิ่มองค์ประกอบการรายงานตาม TCFD เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมให้กับ บจ.

อย่างไรก็ดี ในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ได้มีพัฒนาการที่ยิ่งยวดไม่หยุดนิ่งขึ้นไปอีก จะเห็นได้จาก ISSB (International Sustainability Standards Board) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การดูแลของ International Financial Reporting Standards (IFRS) Foundation โดยเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 ได้ออกมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับความยั่งยืนของบริษัท คือ IFRS S1 (ข้อมูลความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้าน (ESG) และ IFRS S2 (ข้อมูลการดำเนินงาน ความเสี่ยง และโอกาสเพื่อลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันในระดับสากลสอดคล้องกับ TCFD และ IASB (International Accounting Standards Board) ทั้งนี้ มาตรฐานดังกล่าวจะใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

กลับมาที่ประเทศไทยซึ่งมีเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลตามแบบ 56-1 One Report ตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดครอบคลุมทั้ง 3 มิติของ ESG และยังได้ส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูล ESG เพิ่มเติมผ่านการประเมิน Corporate Governance Reporting หรือ CGR ประเมินโดย IOD ซึ่งจากผลการประเมินปี 2566 ซึ่งเป็นปีแรกที่ใช้เกณฑ์ CGR ใหม่ พบว่า บจ. ไทยได้เริ่มปรับตัวและรายงานข้อมูล ESG สำคัญ เช่น นโยบายความยั่งยืนระดับองค์กร ความคาดหวังและการตอบสนองต่อผู้มีส่วนได้เสีย ประเด็นสำคัญทางธุรกิจ (Materiality) รวมถึงเป้าหมายและแผนงานเรื่องการจัดการก๊าซเรือนกระจก

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตหากกรอบการรายงานด้านความยั่งยืน IFRS-S1 และ IFRS-S2 มีการบังคับใช้กับ บจ. ไทย การเปิดเผยข้อมูล ESG ของ บจ. ไทยจะมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นทั้งในเชิงคุณภาพข้อมูลที่จะต้องสอดคล้องกับมาตรฐานสากล และความต่อเนื่องของข้อมูลที่จะสะท้อนการดำเนินงานของบริษัทและสามารถเปรียบเทียบกับคู่แข่งได้ บจ. ไทยจึงควรเร่งเตรียมความพร้อมการเปิดเผยข้อมูล ESG ไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ