Topic

3 เหตุผลที่นักลงทุนควรอ่านแบบ 56-1 One Report

 

3 เหตุผลที่นักลงทุนควรอ่านแบบ 56-1 One Report

  • เทศกาลการประชุมผู้ถือหุ้นกำลังจะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง การศึกษาข้อมูลจากแบบ 56-1 One Report เปรียบเสมือน กุญแจสำคัญ ที่จะช่วยให้นักลงทุนเข้าใจธุรกิจของบริษัทที่เข้าไปลงทุนได้เป็นอย่างดี มีความมั่นใจในการลงทุนมากยิ่งขึ้น
  • แบบ 56-1 One Report เป็นข้อมูลสำคัญที่จะช่วยให้นักลงทุนเข้าใจกลยุทธ์ ทิศทางการดำเนินธุรกิจ แนวทางการบริหารความเสี่ยง เพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนและเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนในระยะยาว

 


 

แบบ 56-1 One Report คืออะไร

แบบ 56-1 One Report คือ รายงานประจำปีที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนต้องนำส่งต่อ ก.ล.ต. ภายใน 3 เดือนนับตั้งแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี โดยประกอบด้วยข้อมูลสำคัญที่จะช่วยให้นักลงทุนเข้าใจภาพรวมและทิศทางการดำเนินธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องลักษณะการดำเนินธุรกิจ การวิเคราะห์ความเสี่ยงและโอกาส ผลการดำเนินงานและฐานะทางการเงิน ซึ่งครอบคลุมถึงข้อมูลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Environmental, Social and Governance หรือ ESG) ของบริษัท สะท้อนถึงการทำธุรกิจบนพื้นฐานของการกำกับดูแลกิจการที่ดี คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ เพื่อความสามารถในการเติบโตในระยะยาว

 


 

3 เหตุผลที่นักลงทุนควรอ่านแบบ 56-1 One Report

  1. ช่วยให้นักลงทุนเข้าใจตัวธุรกิจ ทิศทางการดำเนินธุรกิจ และมุมมองของผู้บริหาร



    แบบ 56-1 One Report ประกอบด้วยข้อมูลสำคัญ 4 ส่วน คือ 1) การประกอบธุรกิจและผลการดำเนินงาน 2) การกำกับดูแลกิจการ 3) งบการเงิน 4) การรับรองความถูกต้องของข้อมูล เพื่ออธิบายให้นักลงทุนเข้าใจตั้งแต่ว่ายอดขายมาจากไหน ลูกค้าคือใคร บริษัทมีกลยุทธ์เพื่อสร้างรายได้อย่างไร มีการวิเคราะห์และคำอธิบายของฝ่ายจัดการ (Management Discussion & Analysis หรือ MD&A) ที่อธิบายถึงสาเหตุการเปลี่ยนแปลงของตัวเลขที่สำคัญในงบการเงิน

    นอกจากนี้แบบ 56-1 One Report ยังมีข้อมูล ESG ที่นักลงทุนทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ ซึ่งสะท้อนถึงความรับผิดชอบและความน่าเชื่อถือของคณะกรรมการบริษัท การดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสและมีความรับผิดชอบ ด้วยการกำหนดนโยบาย กลยุทธ์ เป้าหมายและตัวชี้วัดที่สะท้อนความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ความสามารถในการแข่งขัน และโอกาสในการขยายและเติบโตธุรกิจในระยะยาว ข้อมูลด้าน ESG จึงเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยของนักลงทุนในการตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูง ความเข้มแข็งในการทำธุรกิจ และความสามารถในการอยู่รอดและเติบโตในระยะยาว เพื่อประเมินความน่าเชื่อถือและความน่าสนใจในการลงทุน


  2. ช่วยนักลงทุนเตรียมความพร้อมก่อนประชุมผู้ถือหุ้น



    เมื่อถึงเทศกาลประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี (Annual General Meeting หรือ AGM) ในช่วงประมาณเดือนเมษายนของทุกปี นักลงทุนจำนวนไม่น้อยไปเข้าร่วมการประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อรักษาและปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง โดยการใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมเพื่อมีส่วนร่วมตัดสินใจในประเด็นสำคัญ ติดตามตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการและผู้บริหารด้วยการตั้งคำถามและข้อสังเกต เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเงินลงทุนของตนจะไม่สูญหายไป

    ก่อนการประชุมผู้ถือหุ้น นักลงทุนควรศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบ 56-1 One Report เพื่อติดตามผลการดำเนินงานในอดีตและทิศทางการบริหารจัดการธุรกิจในอนาคต รวมถึงไปใช้สิทธิในฐานะผู้ถือหุ้นด้วยการตั้งคำถามและให้ข้อสังเกตในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มั่นใจว่าธุรกิจที่ลงทุนมีความโปร่งใส ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ วิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงได้อย่างครอบคลุม และมีทิศทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับแนวคิดและระดับความเสี่ยงที่นักลงทุนยอมรับได้

    ตัวอย่างประเด็นคำถาม

    ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง => นักลงทุนอาจตั้งคำถามเกี่ยวกับความเสี่ยงที่โครงการก่อสร้างอาจต้องหยุดชะงักหรือล่าช้าได้ หากได้รับการร้องเรียนว่าส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับผลการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment หรือ EIA)

    ธุรกิจการเงิน => นักลงทุนอาจสอบถามว่า ธุรกิจมีแผนปรับพอร์ตสินเชื่ออย่างไรเพื่อบริหารความเสี่ยงจากปัญหาหนี้ครัวเรือนหรือปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่าง Climate Change รวมถึงแนวทางการขยายพอร์ตสินเชื่อสำหรับธุรกิจใหม่ ๆ ที่เน้นสินค้า/บริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้สอดรับกับเทรนด์รักษ์โลกในปัจจุบัน เป็นต้น

    ธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร => นักลงทุนอาจพิจารณาว่า บริษัทสามารถบริหารจัดการประเด็นด้านแรงงานและสิทธิมนุษยชนได้อย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหน เพื่อบริหารความเสี่ยงด้านชื่อเสียงและโอกาสที่ลูกค้าในต่างประเทศอาจจะแบนหรือไม่ยอมรับมาตรฐานการทำธุรกิจในประเด็นนี้


  3. ช่วยบริหารความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาว



    แบบ 56-1 One Report ไม่เพียงแต่บอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต แต่ยังสะท้อนทิศทางและการมองไปข้างหน้าของบริษัท (forward looking) ไม่ว่าจะเป็นทิศทางของตลาด แนวโน้มการแข่งขัน ปัจจัยความเสี่ยงและโอกาสต่าง ๆ รวมถึงการประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นใหม่ (emerging risk) เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและจัดการกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การรับมือกับภาวะเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยขาขึ้น พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โรคระบาด การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าบริษัทมีวิธีคิดและแนวทางบริหารจัดการความเสี่ยงไปพร้อมกับแสวงหาโอกาสทางธุรกิจอย่างไร ทำให้นักลงทุนเข้าใจมุมมองของผู้บริหาร แนวคิด เป้าหมายและทิศทางการปรับตัวของธุรกิจ เพื่อนำข้อมูลไปใช้วิเคราะห์ความคุ้มค่าในการลงทุนและการออกแบบพอร์ตการลงทุน เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้อย่างเหมาะสม

    ตัวอย่างการวิเคราะห์ความเสี่ยงและแนวทางการบริหารความเสี่ยง

    ธุรกิจทรัพยากร => การปรับตัวตามเทรนด์ความสนใจของผู้บริโภคที่สนใจรถยนต์ EV โดยการสร้าง New S-Curve พัฒนาธุรกิจรูปแบบใหม่และการขยายตลาดจากไปสู่ธุรกิจ non-oil เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมันฟอสซิล เช่น การลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียน ธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงธุรกิจคาร์แคร์และร้านกาแฟ เป็นต้น

    ธุรกิจสินค้าอุตสาหกรรม => การรับมือกับความเสี่ยงด้านความพร้อมในการมุ่งสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (net zero) โดยปรับกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ด้วยกระบวนการ Upcycling แปรรูปขวดพลาสติกไปเป็นสินค้า เช่น เสื้อหรือกระเป๋า เป็นต้น

    ธุรกิจบริการ => การบริหารความเสี่ยงจากการขาดแคลนแรงงาน โดยเน้นจ้างงานคนในชุมชนท้องถิ่นและพัฒนาแรงงานฝีมือเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขยายการผลิตร่วมไปกับการพัฒนาชุมชน


จากเหตุผลข้างต้น นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลจากแบบ 56-1 One Report เพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจลงทุน โดยสามารถติดตามข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนได้ที่ https://www.settrade.com/th/home โดยค้นหารายชื่อหุ้นที่สนใจ เลือก “ข้อมูลบริษัท” และไปที่ “แบบ 56-1 One Report”

 
                                                     

 

ข้อมูลส่วนหนึ่งอ้างอิงมาจากงานสัมมนา Sustainability-related Financial Disclosures ซึ่งจัดโดย Asian Development Bank (ADB) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ณ อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ท่านสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ESG ได้ที่: SET ESG Academy (Website) (Line)

 

หมายเหตุ: บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลสำหรับการศึกษาในเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

 

 

ผู้เขียนบทความ

กัญญารัตน์ ทวีศิริธนากุล
ฝ่ายพัฒนาการลงทุนอย่างยั่งยืน