Topic
Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (ตอนที่ 2)
Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (ตอนที่ 2)
การเกิดขึ้นของแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy: CE) มาจากความท้าทาย 3 ประการ ได้เเก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity loss) และปัญหาขยะและมลพิษ (Waste and pollution)
CE มีหลักการสำคัญ 3 ประการที่เรียกว่า Three base principles of CE model ดังต่อไปนี้
🔶 การขจัดขยะและมลพิษ (Eliminating waste and pollution)
🔶 การหมุนเวียนผลิตภัณฑ์และวัสดุกลับมาใช้ใหม่ (Circulating products and materials)
🔶 การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ (Regeneration of Nature)
CE ถูกคาดหวังว่าจะช่วยลดปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุทำให้โลกร้อน ช่วยลดการใช้วัตถุดิบซึ่งส่วนใหญ่เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกนำมาใช้มากจนเกินไป ในขณะที่อุปทานมีจำกัด การนำผลิตภัณฑ์มาหมุนเวียนใช้ถือว่าเป็นการยืดอายุให้วัสดุในผลิตภัณฑ์มีวงจรชีวิตที่นานขึ้น เป็นการบริโภคที่ยั่งยืน (Sustainability of consumption) และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร (Improve resource efficiency)
แนวคิดเรื่องการนำวัสดุต่างๆและพลังงานมาหมุนเวียน กลับมาใช้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในปี 1966 นักเขียนชื่อ Kenneth E. Boulding ได้พยายามอธิบายเรื่องระบบการผลิตที่หมุนเวียนได้ (A cyclical system of production) ส่วนคำว่า “Circular economy” ปรากฎขึ้นครั้งแรกในปี 1988 ในหนังสือ “The Economics of Natural Resources” และต่อมาถูกขยายความโดย Pearce and Turner ซึ่งอธิบายว่า CE เป็นระบบเศรษฐกิจที่มีการนำขยะที่ถูกคัดแยกแล้วกลับเข้าเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ได้อีกหลายๆครั้ง
ปัจจัยที่เร่งให้เกิด CE อย่างหนึ่งก็คือ การเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบต่างๆอย่างรุนแรงในช่วงปี 2000-2010 เมื่อรัฐบาลจีนมีการควบคุมวัตถุดิบหายากและสำคัญในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ และรวมกับผลกระทบจาก Hamburger crisis ในปี 2008
จนถึงปัจจุบันเมื่อผนวกกับแรงกดดันจากภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ทำให้องค์กรต่างๆรวมถึงประชาชนต้องกลับมาทบทวนวิธีคิดใหม่เกี่ยวกับรูปแบบการผลิตและการบริโภค CE เป็นวิธีหนึ่งที่คาดว่าจะช่วยแก้ปัญหาที่ท้าทายเหล่านี้ โดยยังช่วยให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic growth) แต่ไม่เป็นภาระการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากเกินไป (Burden on natural resource extraction) และยังช่วยตอบสนองให้มีทรัพยากรเพียงพอ ในขณะที่ประชากรมีการเติบโตสูงขึ้น สามารถช่วยลดการพึ่งพาวัตถุดิบสำคัญจากต่างประเทศ ลดปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดการเกิดขยะ และเกิดนวัตกรรมวิธีการผลิตใหม่ๆที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าเดิม เป็นต้น
CE ยังช่วยทำให้เกิดความมั่นคงด้านอุปทานของทรัพยากร ลดปัญหาความผันผวนของราคาวัตถุดิบช่วยให้ธุรกิจควบคุมต้นทุนวัตถุดิบได้ดีขึ้นในระยะยาว เกิดการขยายวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ เกิดกลุ่มลูกค้าใหม่ที่ชอบผลิตภัณฑ์แบบนี้ อาจกล่าวได้ว่า CE ช่วยให้เกิด “The circular business model” เกิดวิธีการใหม่ในการสร้างมูลค่าซึ่งที่ผ่านมาธุรกิจทั่วไปอาจมองไม่เห็น
แต่ CE ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าประโยชน์ที่ว่าจะได้นั้นอาจสูงเกินจริง เพราะเป้าหมายที่ต้องการมีหลายอย่างมากเกินไป การดำเนินการในแต่ละเรื่องมีความลึก จึงไม่ง่ายที่จะเข้าใจและทำการประเมิน และยังถูกวิจารณ์อีกด้วยว่า ในตัวองค์กรหนึ่งๆ หรือบุคคลแต่ละคน ต่างก็มีทั้งส่วนที่สร้างประโยชน์และทำลายในตัวของตัวเอง ดังนั้นการมองเห็นภาพว่าจะไม่มีขยะ หรือการนำวัสดุมาRecycle จนครบ Loop แบบสมบูรณ์นั้น คงเป็นไปไม่ได้
ที่มา : Wikipedia
บทความโดย
รศ.(พิเศษ)ดร.กฤษฎา เสกตระกูล
ที่ปรึกษา
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย