Topic

Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (ตอนที่ 5)

Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (ตอนที่ 5)

ข้อมูลจาก OECD ในปี 2019 ระบุว่าในปี 2017 วัตถุดิบและทรัพยากรธรรมชาติกว่า 100 พันล้านตันถูกใช้ในการผลิตสินค้าและบริการในโลก ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องนุ่งห่ม โทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า และบ้านเรือน เป็นต้น และตัวเลขนี้จะเพิ่มเป็นอีกเท่าตัว ภายในปี 2060 ในขณะที่กระบวนการแปรรูปจะทำให้ 1 ใน 3 ของทรัพยากรเหล่านี้กลายเป็นขยะ โดยมีเพียง 8.6% ของขยะเท่านั้นที่ถูกนำมา Recycle

สิ่งเหล่านี้ขัดแย้งกับการสร้างความยั่งยืนของโลกเพราะโลกของเรามีทรัพยากรเหล่านี้จำกัด หน่วยงานชื่อ Global Footprint Network ประมาณการว่ามนุษย์ใช้ทรัพยากรมากกว่ากำลังการผลิตของโลกไป 1.6 เท่า

โลกเศรษฐกิจในปัจจุบันที่เรียกว่า Linear economy ถูกวิจารณ์ว่าขับเคลื่อนด้วยลักษณะ Make-take-use-dispose ตัวอย่างเช่น โทรศัพท์มือถือ ที่ทุก 2 ปี มีการ Upgrade ใหม่ โทรศัพท์รุ่นเก่าจำนวนมากถูกทิ้งให้เป็นขยะ หากวัสดุที่เป็นขยะถูกนำมา Recycle และ Reuse ใหม่อย่างคุ้มค่า น่าจะเป็นแนวทางที่ดีในการสร้างความยั่งยืนได้

“A circular economy is an economic system that aims to reduce waste and encourage the continual reuse and recycling of resources.” หรือสรุปได้ว่า CE เป็นระบบเศรษฐกิจที่ออกแบบให้การผลิตสินค้าและบริการลดขยะให้ได้มากที่สุด โดยวัสดุที่ใช้ในการผลิตนั้นถูกออกแบบให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นการกำหนดคุณภาพแบบใหม่ที่ช่วยยืดอายุผลิตภัณฑ์ออกไปให้นานกว่าเดิม แทนที่จะอยู่ในรูปแบบขยะเเบบเดิม

3 หลักการของ CE สรุปได้ดังนี้

  • ออกแบบเพื่อการแก้ไขปัญหาขยะและมลพิษ
  • วัสดุที่นำมาทำผลิตภัณฑ์ ต้องมีคุณสมบัติที่ Reusing, repairing, recycling ได้
  • ฟื้นฟูระบบสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติ


ประโยชน์ของ CE

  • ช่วยลดแรงกดดันในเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่กำลังเสื่อมโทรม การใส่ใจกระบวนการผลิตที่สามารถนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ ลดขยะ และลดการดึงทรัพยากรใหม่ออกมาจากแหล่งอุปทาน
  • ลดปัญหามลพิษ จากการที่ต้องดึงทรัพยากรออกจากแหล่งใหม่มาแปรรูปซึ่งก่อให้เกิดมลพิษ
  • ช่วยทำให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวและสร้างงาน เพราะ CE ทำให้เกิดนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ๆ เกิดการจ้างงานตามมา


รูปด้านล่างนี้ แสดงให้เห็นกิจกรรมใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นภายใต้ CE เช่น

  • ความตื่นตัวในการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ไปกับ CE 
  • การให้ความรู้เรื่อง การ Recycle ขยะ
  • การแยกและขนขยะแบบที่มีประสิทธิภาพ
  • การจัดการขยะแบบ Minimize waste to landfill 
  • การใช้วัตถุดิบและวัสดุแบบคุ้มค่าและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

 

ใครกันที่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบใน CE? คำตอบคือ ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นประชาชน ธุรกิจ ภาครัฐ ต้องมีแนวคิดคล้ายกัน เช่น บริโภคให้น้อยลง และหันมาใช้เรื่อง Reusing, repairing, recycling อย่างจริงจังในยุคต่อไป การค้นหา ผลิต และใช้ Renewable and recyclable production materials จะเป็นที่ต้องการมากๆ 

ในมิติของผู้ขาย จะได้ยินความต้องการของลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่มากขึ้นว่าต้องการสินค้าที่เป็นแบบ Sustainable products ซึ่งมีความประณีตในทุกขั้นตอนตั้งแต่หาวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การบรรจุ ต้องส่งผลกระทบทางลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

ราแต่ละคนจะมีส่วนช่วยให้เกิด CE ได้อย่างไร

  • Avoid and Reduce ซื้อให้น้อยลง ทุกครั้งของการซื้อ จะเกิดขยะขึ้น การพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการบริโภคช่วยชะลอการเกิดขยะขึ้นในวงจร
  • Reuse and repair อะไรที่พอใช้ได้หากใช้ต่อ หรือซ่อมแซมแล้วนำกลับมาใช้ได้ ถือเป็นการยืดอายุผลิตภัณฑ์ให้ยาวนานขึ้น
  • Recycle อันนี้เป็นกรณีที่ผลิตภัณฑ์ถูกทิ้งไปเป็นขยะแล้ว แต่วัสดุบางอย่าง เช่น ขวด พลาสติก เป็นต้น สามารถนำไปผ่านกระบวนการแล้วนำกลับมาใช้ได้อีก ทำให้ทรัพยากรถูกใช้อย่างคุ้มค่ากว่าเดิม

 

ที่มา : Circular economy : Rethink, redesign, reduce, reuse, recycle, cleanaway.com.au, June 23,2021

บทความโดย
รศ.(พิเศษ)ดร.กฤษฎา เสกตระกูล
ที่ปรึกษา
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย