Topic

Social Return on Investment (SROI) ตอนที่ 4

ในตอนนี้จะพูดถึงศัพท์ 4 คำที่อาจจะถูกกล่าวถึงเมื่อต้องประเมินผลกระทบทางสังคมสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น เพราะผลกระทบอาจเกิดจากกรณีอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโครงการเป้าหมายที่จะประเมิน ซึ่งจะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการประเมินผลลัพธ์เกินจริง (Overclaim) ศัพท์เหล่านี้ ได้แก่ ผลลัพธ์ส่วนเกิน (Deadweight), ผลจากปัจจัยอื่น (Attribution), ผลลัพธ์ทดแทน (Displacement) และอัตราการลดลงของผลประโยชน์ (Drop off)

1.  ผลลัพธ์ส่วนเกิน (Deadweight)
     หมายถึง ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นอยู่ดีต่อให้ไม่มีองค์กรไหนเข้ามาดูแล โดยพิจารณาจากตัวอย่างเช่น

  • ถึงไม่ทำก็เกิดผลกระทบ
  • ผู้รับประโยชน์บางคนอาจพบวิธีบรรเทาปัญหาด้วยตนเอง
  • สภาพสังคม และเศรษฐกิจโดยรวมอาจดีขึ้นตามบริบทโลก

    ตัวอย่างของข้อความที่ระบุผลกระทบส่วนเกิน เช่น

  • ภาวะเศรษฐกิจรุ่งเรือง ทำให้คนหางานทำง่ายขึ้น
  • ชาวนามีรายได้จากการขายข้าวอินทรีย์ สินค้าเกษตรอินทรีย์มีราคาสูงอยู่แล้ว ปีนั้นราคาตลาดสูงเอง
  • องค์ความรู้เดิมของชาวบ้านในการปลูกผัก
  • ชุมชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ชุมชนมีการขุดบ่อในหน้าแล้ง แต่ปีนั้นมีฝนตกใหญ่จึงไม่ได้ใช้น้ำจากบ่อ
  • อาชญากรรมลดลง ทำให้คนมีความสุขมากขึ้น พึงพอใจในชีวิตเพิ่มขึ้น



2.  ผลจากปัจจัยอื่น (Attribution)

     คือ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากปัจจัยอื่นร่วมด้วย ไม่ได้มาจากโครงการที่ถูกประเมินเท่านั้น เช่น

  • ชาวบ้านมีบทบาทในการดำเนินงานและออกแรงในการขับเคลื่อนกิจกรรม
  • กิจกรรมการจัดการแหล่งน้ำในชุมชน
  • โครงการที่ทำมาก่อนหน้านี้ มีโครงการของหน่วยงานอื่นมาทำในชุมชนเดียวกัน
  • โครงการอื่นมาร่วมส่งเสริมปลูกพืชอินทรีย์ กิจกรรมปลูกป่า (ต้นไม้ก่อนปีที่โครงการดำเนินการ)
  • ระบบป่านิเวศชายเลนดีขึ้น มีหลายองค์กรที่มาฟื้นฟูป่าในบริเวณนี้
  • ชาวบ้านมีบทบาทในการดำเนินกิจกรรมและขับเคลื่อนกิจกรรม
  • ชุมชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีองค์กรหลายหน่วยงานมาทำงานพัฒนาในชุมชนเดียวกัน
  • อบต.ประสานงานในการดำเนินกิจกรรม อำนวยความสะดวก มีบทบาทเป็นฝ่ายสวัสดิการ



3.  ผลลัพธ์ทดแทน (Displacement)
     คือ กรณีผลลัพธ์เชิงบวก หักลบด้วยผลลัพธ์เชิงลบ โดยผลลัพธ์เชิงบวกของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มหนึ่ง ถูกชดเชยด้วยผลลัพธ์เชิงลบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มอื่น

     ตัวอย่างเช่น
     โครงการส่งเสริมการปลูกผักอินทรีย์ในชุมชนโดยสมาชิกในชุมชนขายเอง แต่ส่งผลกระทบทางลบต่อแม่ค้าขายผักในชุมชนเดิม ทำให้ขายผักได้น้อยลงแสดงถึง คนกลุ่มหนึ่งมีงานทำแต่ส่งผลทางลบให้อีกกลุ่มหนึ่งไม่มีงานทำ เป็นต้น

     หรืออาจสรุปให้ง่ายขึ้นได้ดังนี้

     Deadweight: ไม่มีเรา ก็เกิดอยู่ดี
     Attribution: เกิดจากผู้อื่นด้วย ต้องแบ่งกัน
     Displacement: เกิดผลบวกกับกลุ่มเรา แต่สร้างผลลบให้กลุ่มอื่น



4.  อัตราการลดลงของผลประโยชน์ (Drop off)
     แนวโน้มที่กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะได้รับประโยชน์จากโครงการใด ๆ โดยปกติแล้วจะมีแนวโน้มลดลงเมื่อระยะเวลาผ่านไป เพราะอาจเกิดจากอิทธิพลอื่น ๆ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะดำรงอยู่ได้นานเพียงใด หรือช่วงเวลาใด การเกิดประโยชน์นั้นจะมีอัตราส่วนที่ลดลงหรือเหือดหายเป็นอัตราส่วนต่อปี

     ตัวอย่างเช่น
     "โครงการส่งเสริมอาชีพเสริมชุมชน A เพื่อสร้างอาชีพเสริมให้แก่สมาชิกของชุมชน สามารถสร้างอาชีพเสริมให้แก่ชุมชนจนสร้างกำไร ให้แก่สมาชิกในชุมชนได้ 20,000 บาท/ครัวเรือน/ปี ซึ่งผลประโยชน์นั้นเกิดขึ้นในปี 2564 ซึ่งผลกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นก่อนมีโครงการเป็นอาชีพเดิมของสมาชิกชุมชนสร้างกำไรสุทธิได้เพียง 9,000 บาท/ครัวเรือน/ปี ดังนั้นผลประโยชน์สุทธิที่เกิดขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนเกิดโครงการเท่ากับ 11,000 บาท/ครัวเรือน/ปี มีครัวเรือนที่ได้รับผลประโยชน์ 45 ครัวเรือน ทั้งนี้กำหนดให้ผลประโยชน์ดำเนินต่อไปตั้งแต่ปี 2564-2572 อย่างไรก็ตาม สมมติให้ผลประโยชน์เกิดการลดลงในปี 2569-2572 ปีละ 2% เนื่องจากการปรับเปลี่ยนสินค้าที่จำหน่ายของชุมชน"



ที่มา : คู่มือการประเมินผลกระทบทางสังคมและผลตอบแทนทางสังคม จากการลงทุนโครงการเพื่อสังคม, วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2564

บทความโดย
รศ.(พิเศษ)ดร.กฤษฎา เสกตระกูล
ที่ปรึกษา
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย