Topic
อนาคต ESG Investment ไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่เป็นเรื่องปกติที่ต้องคำนึงก่อนการลงทุน
ตลาดทุนไทยให้ความสำคัญกับเรื่องการกำกับดูแลกิจการหรือการเป็นบรรษัทภิบาลที่ดี (Corporate Governance: CG) มากว่า 10 ปี แต่เมื่อพัฒนาการของมาตรฐานสากลมุ่งสู่เรื่องความยั่งยืนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) ทำให้ทุกภาคส่วนกำหนดเรื่องนี้เป็นแผนยุทธศาสตร์ประเทศ ดังนั้นพัฒนาการภาคการลงทุนก็ต้องมีความเข้มข้นตามไปด้วย
พัฒนาการบรรษัทภิบาลที่ดีสู่ความยั่งยืนที่คำนึง ESG
ธิดาศิริ ศรีสมิต รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุนตราสารทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย เปิดเผยว่า ความจริงตลาดทุนไทยมีการตื่นตัวเรื่องนี้มาต่อเนื่องหลายปี แต่เริ่มต้นจากการกำกับกิจการที่ดีที่เน้นให้ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) เป็นบรรษัทภิบาลที่ดีและคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน หรือที่เรียกกันว่า Corporate Governance (CG) มีการให้ระดับคะแนน บจ. ที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี สู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์กองทุนรวม โดยตอนแรกเป็นกองทุนลงทุนหุ้นไทย แต่มีกลยุทธ์ที่ให้น้ำหนักเรื่องการมี CG ที่ดี จนเข้าสู่ 5 ปีที่ผ่านมา ขยายผลเป็นกองทุน ESG และค่อยๆ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบัน 1 ใน 3 กองทุนที่ลงทุนในไทย และ 2 ใน 3 เป็นกองทุนที่ลงทุนต่างประเทศ
คอนเซปต์ลงทุนกองทุน ESG
เป็นที่เข้าใจกันว่าหากลงทุนในกองทุน ESG ผู้จัดการกองทุนจะนำทั้ง 3 ปัจจัยนี้มาเป็นขั้นตอนการเลือกหุ้นหรือการสร้างพอร์ตโฟลิโอ โดยในด้านหนึ่งการที่ บจ. นำเรื่องเหล่านี้มาปรับในการดำเนินธุรกิจก็ถือว่าเป็นการช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงให้กับบริษัทนั้นๆ ได้ในลำดับหนึ่ง เนื่องจากมีการวางแผนและเตรียมแผนงานรับมือกับปัจจัยที่คาดไม่ถึง ทำให้มูลค่าความเสียหายไม่สูงหรือมีกรอบจำกัดกว่าการไม่ได้มีการนำ ESG มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ
ขณะเดียวกันต้องเข้าใจว่าผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยเวลาระยะยาวมากกว่าระยะสั้น และอัตราผลตอบแทนแต่ละกองทุนก็จะขึ้นอยู่กับกลยุทธ์และการบริหารจัดการการลงทุนของแต่ละกองทุนประกอบด้วย เช่น ปี 2565 กองทุน ESG ที่ลงทุนหุ้นไทยให้ผลตอบแทนดีกว่าหุ้นต่างประเทศค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกองต่างประเทศที่ไปลงทุนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี แต่ปี 2566 กลับกัน เพราะกองทุนหุ้นไทยให้ผลตอบแทนน้อยกว่ากองต่างประเทศ เพราะฉะนั้นผู้ลงทุนอาจต้องทำความเข้าใจแง่กลยุทธ์และการลงทุนนั้นๆ ด้วย
เจิดพันธุ์ นิธยายน กรรมการผู้จัดการ สายการลงทุน บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) มองว่า การลงทุนกองทุน ESG เรื่องผลตอบแทนจากการลงทุนไม่ใช่เป็นมิติหลัก เพราะความจริงเป็นมิติในเรื่องการบ่งบอกถึงการเป็นบริษัทที่มีคุณภาพมากกว่า เห็นได้จากตั้งแต่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ตั้งดัชนี THSI ขึ้นมาถือว่า Outperform ดัชนีหุ้นไทยประมาณ 1-2% สำหรับกลุ่มยูโอบีทั่วโลกมีการกรองและคัดเลือกหุ้นด้วยกระบวนการสกรีนในรูปแบบเดียวกัน ที่กำหนดใช้ของ MSCI แล้วทำ Scoring ออกมาแบ่งเป็นกลุ่มที่ลงทุนเป็นเกรด A, B, C แต่ D จะเป็นระดับที่คอยติดตามดูมีพัฒนาด้าน ESG อย่างไร และอาจมีการปรับเกรดไปอยู่ในระดับ A, B หรือ C ได้ ส่วนอัตราผลตอบแทนที่ผ่านมาพบว่าหุ้นที่อยู่ในระดับ A และ B จะให้ผลตอบแทนที่อยู่ในระดับ C และ D เสมอ
หลายภาคส่วนตื่นตัวและตอบรับกองทุน ESG
นิพจน์ ไกรลาศโอฬาร ผู้จัดการกองทุนอาวุโส บลจ.ทิสโก้ ให้มุมมองว่า 1-2 ปีนี้เห็นความตื่นตัวในระบบนิเวศภายในกรอบแนวคิดการลงทุนอย่างยั่งยืนมากขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะผู้ดูแลและกำกับตลาดทุนอย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่เริ่มออกกฎที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เช่น การออกกฎภาคสมัครใจให้มีเครื่องหมาย SRI Fund ซึ่งเป็นการการันตีจาก ก.ล.ต. ว่า SRI Fund เป็นกองทุนที่เน้นความยั่งยืนจริง เพื่อหลีกเลี่ยงการฟอกเขียว (Greenwashing) ว่าดูแลและใส่ใจเรื่อง ESG แต่ข้อเท็จจริงกลับไม่ได้เป็นอย่างนั้น
นอกจากนั้น ตลท. ได้ระดมผู้รู้ด้านทาง ESG และออกแบบการประเมิน THSI ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นข้อมูลตั้งต้นที่ทำให้ผู้ลงทุนและผู้จัดการกองทุนสามารถไปต่อยอดต่อ โดยปี 2566 เป็นปีแรกที่ บจ. มีการเปิดเผยข้อมูล One Report ซึ่งภายในจะมีการเปิดเผยรายละเอียดแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในหัวข้อมิติต่างๆ อีกทั้งยังมีกลไกของข้อมูลและโซเชียลมีเดียทำให้เข้าถึงข้อมูลมากขึ้น
“1-2 ปีที่ผ่านมา การลงทุนกองทุน ESG มีแนวโน้มที่น่าสนใจจากกลุ่มผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากนักลงทุนประเภทสถาบันคือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของหลายบริษัทที่ต้องการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับกองทุน ESG คือลงทุนในสินทรัพย์ที่เป็นพื้นฐานเหมือนเดิม เพียงแต่นโยบายการลงทุนจะเน้นเรื่องการสกรีนหุ้นที่มีเรื่องความยั่งยืนหรือ ESG มาเกี่ยวข้องมากขึ้น”
หุ้นผันผวนลงทุน ESG ช่วยได้ แต่ต้องใจเย็น
การที่ บจ. นำเรื่อง ESG เข้าไปใช้ในกระบวนการดำเนินงานหรือกระบวนการผลิต แม้จะต้องใช้ระยะเวลานานในการปรับหรือเปลี่ยนแปลงที่ช่วยลดความผันผวนต่อการดำเนินธุรกิจลงได้ เพราะทำให้บริษัทสามารถปรับตัวต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายนอกและสามารถรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดได้ดีขึ้น หรือในช่วงเวลาที่ทุกบริษัทอาจจะต้องเจอปัญหาหรือปัจจัยที่ยากต่อการควบคุม แต่บริษัทเหล่านี้จะมีการฟื้นตัวได้ดีกว่าบริษัททั่วไปที่มีการคำนึงเรื่อง ESG ในการดำเนินธุรกิจ และทั้งหมดก็จะสะท้อนกลับมาที่ผลของตัวหุ้นนั้นๆ เอง
บลจ.ทิสโก้ ยกตัวอย่างให้เห็นช่วงเหตุการณ์โควิด บจ. ที่มีการนำ ESG มาใช้อย่างจริงจัง และพอสถานการณ์กลับสู่ปกติ ทำให้เห็นว่า บจ. นั้นมีการฟื้นตัวดี เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว มีหลายบริษัทหรือหลายโรงแรมเลือกที่จะไม่ให้พนักงานออกจากงาน ด้วยเหตุผลการลาออกจะส่งผลกระทบไปยังครอบครัว บริษัทนั้นเลือกที่จะแบกรับต้นทุนทางสังคมนั้นไว้เองให้ผ่านโควิด-19 ไปได้ ซึ่งพอโควิดจบโรงแรมนี้สามารถฟื้นตัวและปรับตัวได้ดี ไม่ต้องมีการจ้างงานใหม่ กำไรก็ฟื้นตัวได้เร็วกว่า ขณะที่ราคาหุ้นก็กลับมาทำนิวไฮใหม่ได้ เพราะนักลงทุนบางส่วนเริ่มให้ความสนใจสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องผลประกอบการของ บจ. นั้นเพียงอย่างเดียว
“เมื่อก่อนการเคลื่อนไหวดัชนีหุ้นไทยต่อวันจะเหวี่ยง 1-2% แต่ปัจจุบัน 10-20% จึงเห็นชัดเจนว่าการเคลื่อนไหวของหุ้นแต่ละวันได้รับผลกระทบกับข่าวที่เข้ามา แม้หุ้นบางตัวไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลประกอบการเลย แต่ข่าวที่เข้ามากระทบ โดยเฉพาะด้าน ESG ทำให้หุ้นปรับตัวค่อนข้างแรง ดังนั้นการเลือกหุ้นที่คำนึง ESG เหมือนการเลือกหุ้นที่มีคุณภาพ ที่ปกติช่วงเวลาที่คนกำลังสับสนมักจะเลือกหาหุ้นที่มีคุณภาพมากที่สุด ดังนั้น บจ. ที่มีการนำเรื่อง ESG เข้ามาเกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจ อย่างน้อยถือเป็นการบริหารความเสี่ยงทั้งทางบริษัทและทางผู้ลงทุนเอง ซึ่งตอนนี้ภาพเหล่านี้เริ่มชัดเจนขึ้น”
ปี 2566 กองทุน ESG ยังออกน้อย แต่แนวโน้มเข้มข้นขึ้น
ธิดาศิริ บลจ.กสิกรไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันกองทุนรวมที่มีการลงทุนทางด้าน ESG ในตลาดทุนไทยมีทั้งหมด 97 กองทุน มูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมดภายใต้การบริหาร (AUM) ทั้งหมด 72,236 ล้านบาท แบ่งเป็นกองทุนที่เกี่ยวข้องกับ ESG 80 กองทุน มี AUM 51,585 ล้านบาท และเป็นกองทุนที่เน้นเกี่ยวกับการเป็นบรรษัทภิบาลที่ดี 17 กองทุน มี AUM 20,651 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นกองทุนที่เกี่ยวข้องกับ Global Equity และเพิ่งออกมาใหม่ปี 2566 เพียง 2 กองทุน
“ปัจจุบัน บลจ.กสิกรไทยมีกองทุน ESG ทั้งหมด 4 กองทุน และคาดว่าภายในครึ่งปีหลัง 2566 มีแผนจะออกกองทุน ESG เพิ่ม 1-2 กองทุน แต่ทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับภาวะตลาดด้วย และพยายามออกกองทุนที่จะไม่ให้มีการทับซ้อนต่อผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้ว โดยน่าจะเป็นกองทุนหุ้นต่างประเทศเป็นหลัก”
ด้าน เจิดพันธุ์ บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) ให้มุมมองว่า 2-3 ปีที่ผ่านมาเหมือนในอุตสาหกรรมกองทุนรอดูเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ผลตอบรับกองทุน ESG จะเป็นอย่างไร และเชื่อว่าอีก 2-3 ปีข้างหน้านี้จะเริ่มเห็นขั้นตอนและมีกระบวนการที่ชัดเจนมากขึ้น เพราะหลายภาคส่วนเริ่มประมวลและกลั่นกรองเพื่อดำเนินไปยังเป้าหมายเดียวกัน ที่สำคัญบริษัทต่างๆ เริ่มมีการปฏิบัติจริงการนำเรื่อง ESG มาใช้ในการดำเนินธุรกิจอย่างจริงจัง ซึ่งเมื่อปฏิบัติจริง การรายงานข้อมูลก็จะมีความชัดเจนมากขึ้น ทาง บลจ. ก็จะมีความมั่นใจที่จะนำข้อมูลไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“บลจ. เป็นปลายน้ำที่ใช้ข้อมูลของทางภาคธุรกิจเพื่อประกอบการพิจารณาการลงทุน 2-3 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานดูแลอย่าง ก.ล.ต. และ ตลท. มีการกระตุ้นและส่งเสริมเรื่องนี้ต่อเนื่อง ทั้งออกแบบรูปแบบของการรายงานเรื่อง ESG ให้มีความชัดเจนเป็นระบบมากขึ้น และสามารถนำไปใช้ได้ทันที โดยภายในระยะเวลาอีก 1 ปีครึ่งนี้ บลจ. ต้องมีการนำเรื่อง Climate Risk Guidelines เข้ามาเป็นกระบวนการหนึ่งของการเลือกเข้าไปลงทุน และจะส่งผลให้ผู้ปฏิบัติอย่าง บจ. หรือผู้ที่ต้องใช้ข้อมูลต้องเริ่มให้การตื่นตัวที่ดีขึ้น”
นอกจากนั้นเชื่อว่าอนาคต ESG Theme จะหายไป ไม่ใช่เพราะตกกระแสหรือไม่เพอร์ฟอร์ม แต่เป็นเพราะเรื่อง ESG จะกลายไปอยู่ในทุกๆ การตัดสินใจของ บลจ. ที่จะมีการคัดเลือกหุ้นเหล่านั้นเข้าอยู่ในกระบวนการลงทุนของทุก บลจ. ที่ทุก บลจ. ต้องนำเรื่องนี้ไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจลงทุนเสมือนเป็นเรื่องปกติ จากในอดีตที่มอง CG มาก่อน ปัจจุบันนำเรื่อง ESG เข้าไปมีส่วนตัดสินใจเลือกลงทุนมากขึ้น จนวันนี้กำลังโฟกัสนำประเด็นเรื่อง Climate Risk เข้าไปพิจารณามากขึ้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่าอนาคตการลงทุน ESG Fund จะยังอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่จะมีความเข้มข้นมากขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา
กรณี STARK ตอกย้ำให้ผู้จัดการกองทุนเข้มเรื่องบรรษัทภิบาลที่ดี
ธิดาศิริยอมรับว่าหลังเกิดเหตุการณ์ STARK ทำให้ผู้จัดการกองทุนต้องเพิ่มความเข้มข้นในการจับตาดูในแง่ปัจจัยการเป็นบรรษัทภิบาลที่ดี (G) ของ บจ. อย่างเข้มข้นขึ้น ซึ่งกองทุน ESG ที่ออกมาก่อนหน้านี้เป็นตัวที่เกี่ยวข้องกับตัว G เป็นหลักอยู่แล้ว แต่ก็ยังต้องดูและมีการเช็กรายละเอียดประวัติของกรรมการผู้บริหารให้รอบคอบมากขึ้น รวมทั้งดูธุรกิจให้ครอบคลุมในหลายๆ ด้าน แต่ก็ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์นี้เป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมาย เพราะมีการเตรียมการตั้งแต่ต้นทางมายาวนานมาก
เจิดพันธุ์กล่าวว่า วิธีการจัดการข่าวเชิงลบคือต้องพิสูจน์หาความจริงว่าจะมีการแก้ไขอย่างไร ต้องแตะเบรกเรื่องของบรรษัทภิบาลโดยหยุดการลงทุนก่อนเพื่อรอดูข้อมูลที่ชัดเจนหรือตัดสินใจรวดเร็ว อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเป็นเรื่องของโซเชียลมีเดียก็ต้องไปหาความจริงไปพูดคุยกับบริษัท หรือไปในนามสมาคม บลจ. ที่มีนโยบายในการหาข้อมูลอย่างถี่ถ้วนเมื่อเวลามีกรณีใหญ่แบบรายกรณีไป
“เป็นเรื่องยากและดูไม่ทัน หุ้นมีเป็นมากกว่า 100 ตัว แต่เบื้องต้นสิ่งที่ทำได้คือใช้เครื่องดักจับเป็นตัวตัดสกอร์ลบก่อนในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย แต่สุดท้ายก็จะใช้วิธีการพิจารณารายละเอียดเพื่อสกรีนข่าวเชิงลบ โดยผู้จัดการกองทุนต้องเข้ามาดู ESG สกอร์เป็นอย่างไร มีการพัฒนาอย่างไร หรือต้องดำเนินการอย่างไรในกรณีที่เข้าไปถามผู้บริหารไม่ได้”
แนวทางเลือกหุ้น ESG ของกองทุน
นิพจน์ให้คำแนะนำว่า การเลือกหุ้นที่คำนึง ESG แบบรายตัว มีมิติปลีกย่อยหรือรายละเอียดที่แตกต่างกันไปตามรายอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มค้าปลีกดูเหมือนไม่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมหรือสังคมเท่าไร แต่ในเชิงการปฏิบัติมีเรื่องเกี่ยวกับการคำนึงถึงพนักงานหรือการใช้โปรแกรมต่างๆ ให้กระบวนการทำงานได้
นอกจากนั้นเข็มทิศหลัก บจ. ในอนาคตคือเป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืน 17 ประการ (SDGs) ที่อย่างน้อย บจ. จะต้องกำหนดเป้าหมาย 1-2 หัวข้อเข้ามาเป็นโรดแมปในการดำเนินธุรกิจ เช่น บริษัทก่อตั้งมาด้วยเหตุผลอะไร และต้องการบรรลุเป้าหมายใน 17 หัวข้อมากน้อยแค่ไหน ซึ่งอันนี้จะทำให้ภาพการดำเนินธุรกิจเชิงโครงสร้างระยะยาวมีความชัดเจนมากขึ้น และเป็นประโยชน์กับนักลงทุนด้วย รวมทั้งเป็นสิ่งที่ผู้จัดการกองทุนจะนำมาวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานมากขึ้น
กองทุนแนะนำรายย่อยเลือกหุ้น ESG
นิพจน์แนะนำว่า หัวใจของการวิเคราะห์ด้าน ESG นั่นคือการเปิดเผยข้อมูล ซึ่ง 5-10 ปีก่อนหน้านี้ บลจ. ต้องมาเปิดรายงานความยั่งยืนแล้วมาสกรีน หรือเมื่อได้เข้าไปพบผู้บริหาร บจ. จะถามถึงแนวคิดหรือการบริหารด้าน ESG แต่ปัจจุบันการเข้าถึงข้อมูลสะดวกสบายขึ้น เพราะ ตลท. ได้จัดรูปแบบและกระตุ้นให้ บจ. มีการเปิดเผยข้อมูลในด้านต่างๆ ทำให้นำข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์ได้ง่ายขึ้น
เมื่อสกรีนหุ้นได้มาทำให้เห็นสโคปในการลงทุน แต่สโคปที่แคบลงไม่ได้หมายถึงข้อจำกัดในเรื่องของการรีเทิร์น โดย บจ. ที่เลือกมาค่อนข้างเชื่อว่ามีการบริหารจัดการที่ดี และเมื่อเวลาเกิดวิกฤตหรือเกิดความไม่แน่นอนในอุตสาหกรรม บริษัทเหล่านั้นจะอยู่รอดได้ และ บลจ. ก็มักจะมีเงื่อนไขพื้นฐานที่เลือกจะไม่ลงทุนตั้งแต่แรกเลย เช่น ธุรกิจแอลกอฮอล์ ยาสูบ หรืออะไรที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ไม่ดี และในอนาคต บลจ. จะให้ความสำคัญเกี่ยวกับประเด็น Climate Risk มากขึ้น เช่นจะไม่ลงทุนเลยหาก บจ. ไม่มีเป้าหมายที่จะพัฒนาในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
เจิดพันธุ์แนะนำว่า การลงทุนหุ้น ESG บางอันก็ต้องรอจังหวะเวลา อย่างรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยรวมสามารถลงทุนได้เลย แต่หากจะลงทุนธีมต้องพิจารณาและศึกษารายละเอียดข้อมูลเป็นเรื่องๆ ไป โดยเฉพาะเทรนด์สิ่งแวดล้อมที่เริ่มเห็นในปัจจุบันที่เกิดธีมการทำธุรกิจมากขึ้น ก็สามารถลงทุนได้เลย
เมื่อแนวโน้มมาแน่ชัดแล้วว่าการลงทุน ESG จากเคยเป็นเทรนด์จะกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องคำนึงก่อนการลงทุน ไม่ว่าจะหุ้นหรือกองทุน จึงเป็นเหตุผลเพียงพอที่ควรค่าที่จะบอกกับตัวเองได้แล้วว่าถึงเวลาแล้วหรือยัง? ที่ต้องเริ่มสตาร์ทเก็บ ESG Investment เข้าพอร์ตได้แล้ว
#การลงทุน #การเงิน #บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) #ESG
ที่มา : https://thestandard.co/esg-investment-future-not-trend/