Topic
SSCM Showcase แนวทางการจัดการห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจสู่ความยั่งยืน
สถานการณ์และแรงขับเคลื่อน
ความรุนแรงของภัยธรรมชาติและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อทุกภาคส่วน ซึ่งล้วนเป็นไปตามการคาดการณ์ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม
ปัจจุบัน อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสและเข้าสู่ “ภาวะโลกเดือด (Global Boiling)” แล้ว อย่างที่เห็นได้ชัดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกิดวิกฤตการณ์มากมาย ที่มีความรุนแรงและสร้างความเสียหายมหาศาลทั่วโลก อันเป็นผลพวงจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ที่ได้สร้างผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและการดำเนินชีวิต การดำเนินธุรกิจ ตลอดจนความมั่นคงของประเทศ
จากสถานการณ์ดังกล่าว ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา องค์กรต่าง ๆ ในภาคธุรกิจ ให้ความสำคัญกับการรับมือกับปัญหาโลกรวน (Climate Change) และดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Decarbonization) อย่างจริงจังมากขึ้น โดยปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจ เพื่อหาแนวทางในการลดปริมาณ GHGs ที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ครอบคลุมการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจอย่างจริงจัง
นอกจากการรับมือกับปัญหาโลกรวน (Climate Change) ข้างต้นแล้ว หลายองค์กรให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนความยั่งยืนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ซึ่งการขับเคลื่อนดังกล่าวมีแรงผลักดันจากทั้งภายนอกและภายในองค์กร โดยแรงผลักดันภายนอกที่กระทบต่อธุรกิจ (Outside-In Impact) ได้แก่ การรับมือกับปัญหาโลกรวน (Climate Change) การปฏิบัติตามข้อกำหนด/กฎหมาย หรือมาตรฐานทั้งในและต่างประเทศ การพัฒนาของเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงความตระหนักของคู่ค้าและผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น ส่วนแรงผลักดันภายในองค์กร (Inside-Out Impact) มาจากความต้องการให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Growth) ความต้องการเป็นองค์กรที่ดำเนินการอย่างเป็นเลิศ (Operational Excellence) ในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านบริหารจัดการพลังงานและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ด้านการพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้า รวมไปถึงด้านการรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน และการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวของธุรกิจแต่ละแห่งอาจไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องจับมือกับพันธมิตรและสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กร และภาคส่วนต่าง ๆ (Partnerships and Collaboration) เพื่อจำกัดความเสียหายและผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงเตรียมพร้อมรับมือกับสภาวการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจต่อไป
Sustainable Supply Chain Management (SSCM) คืออะไร
เมื่อพูดถึงความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ แนวคิดเรื่องการจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน (Sustainable Supply Chain Management: SSCM) มักจะถูกกล่าวถึงไปด้วยกัน โดย การจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน คือ การคำนึงถึงปัจจัยด้านความยั่งยืน ในมิติของเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและบรรษัทภิบาล ในทุก ๆ กิจกรรมขององค์กรในการได้มาซึ่งสินค้าและบริการ ครอบคลุมตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบ การพัฒนาสินค้า การผลิต การจัดการคลังสินค้า การขนส่ง การกระจายสินค้า การใช้สินค้า รวมถึงบรรจุภัณฑ์ และขั้นตอนอื่น ๆ ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ดังนั้นจะเห็นว่า SSCM หมายรวมถึงกระบวนการดำเนินงาน/การจัดการทั้งภายในองค์กร ภายนอกองค์กร คู่ค้า รวมถึงผู้บริโภคด้วย
SSCM คือ การคำนึงถึงปัจจัยด้านความยั่งยืน ในมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมให้มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ตลอดวัฏจักรชีวิตของสินค้าและบริการ
SSCM มีประโยชน์อย่างไร และควรเริ่มต้นอย่างไร
ข้อมูลจากการศึกษาของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จำนวน 16 บริษัท ทั้งบริษัทขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก พบว่าการขับเคลื่อนให้เกิดการทำ SSCM ต้องใช้ระยะเวลา แต่ผลลัพธ์และการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่ธุรกิจจะได้รับ ถือเป็นผลลัพธ์ที่มีความยั่งยืนในทุกมิติ ตลอดห่วงโซ่อุปทานในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น ประโยชน์ในการทำ SSCM จึงเกิดขึ้นกับหน่วยงานตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน เช่น
- ลดความเสี่ยงที่ธุรกิจจะหยุดชะงักเนื่องจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
- ปกป้องชื่อเสียงบริษัทและสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจ (Business Value) และแบรนด์ (Brand Value)
- ลดต้นทุนในกระบวนการดำเนินธุรกิจ
- พัฒนาผลิตภาพแรงงาน
- สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สอดรับกับตลาด ที่เปลี่ยนแปลงไป[1] เป็นต้น
บทเรียนจากทั้ง 16 บริษัท ในการเริ่มต้นบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน (SSCM) สามารถสรุปกระบวนการได้ ดังนี้
- รู้และเข้าใจห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของบริษัทว่ามีลักษณะอย่างไร มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใดเกี่ยวข้องบ้าง
- กำหนดการทำ SSCM ให้ชัดเจน และสอดคล้องกับเป้าหมายองค์กร รวมถึงสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ และกลยุทธ์ด้วย
- พิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ Supply Chain ของบริษัท เพื่อหาแนวทางการปรับปรุงไปสู่ SSCM โดยนำ Supply Chain ของบริษัทมาพิจารณาว่า มีประเด็น ESG ใดที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนหรือกระบวนดำเนินงานบ้าง และบริษัทสามารถปรับปรุงขั้นตอนหรือกระบวนการนั้น ๆ ให้ตอบโจทย์ตัวชี้วัดด้าน ESG ได้อย่างไร
- ลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนในการปรับปรุงขั้นตอนหรือกระบวนการต่าง ๆ โดยคำนึงถึงศักยภาพของบริษัทเป็นหลัก เช่น บริบทของธุรกิจ ทรัพยากรของบริษัท รวมทั้งนโยบาย แนวทางของบริษัทเป็นสำคัญ
- สื่อสารการทำ SSCM ให้พนักงานเข้าใจ และเห็นประโยชน์ร่วมกัน
- จัดตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนการทำ SSCM เพื่อประสานงาน และให้ความรู้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ในบริษัท
- ติดตามและประเมินผลตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง
บทสรุป
จากข้อมูลที่กล่าวมาการทำ SSCM เป็นสิ่งจำเป็นเพราะเป็นกลไกสำคัญที่จะนำองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน การเริ่มต้นทำ SSCM ของแต่ละองค์กรไม่จำเป็นต้องเริ่มเหมือนกันหรือทำรูปแบบเดียวกัน เพราะจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด คือ การเข้าใจบริบท ความเสี่ยง กลยุทธ์ และโอกาสทางธุรกิจขององค์กร อย่างไรก็ดี แม้จุดเริ่มต้นในการทำ SSCM จะแตกต่างกัน แต่มีปัจจัยความสำเร็จร่วมที่ 16 บริษัทกรณีศึกษา ทำแล้วประสบความสำเร็จเหมือนกัน คือ
- โครงสร้างพื้นฐานในองค์กร (Infrastructure) คือ การเตรียมความพร้อมเชิงองค์กร ตั้งแต่ นโยบายองค์กร ความเข้าใจเรื่องมาตรฐาน กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ การประเมินความเสี่ยงเรื่องความยั่งยืน และการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- ทรัพยากรบุคคล (Human Resource) คือ การให้ความสำคัญกับคน เช่น คุณภาพชีวิตพนักงานทุกระดับ การจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อน ESG/ SSCM
- การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) คือ การส่งเสริมให้เกิดองค์กรแห่งการเรียนรู้มีการแลกเปลี่ยน แบ่งปันองค์ความรู้ภายในองค์กร นำไปสู่การยกระดับสินค้า/บริการ และนวัตกรรมในองค์กร
- พันธมิตรและความร่วมมือ (Partnership and Collaboration) คือ มีพันธมิตรที่หลากหลาย ร่วมมือและส่งเสริมกันและกัน เช่น สนับสนุนคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ร่วมพัฒนาคู่ค้าเพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน
ทั้งนี้การทำ SSCM คล้ายกับการลงทุน เพราะสิ่งสำคัญในการลงทุนอย่างยั่งยืน คือ การทำและขยายขอบเขตอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายความยั่งยืนที่ลงทุนไปจะให้ผลตอบแทนกลับมา ดีต่อทั้งองค์กร เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
การเริ่มต้นทำ SSCM ของแต่ละองค์กรไม่จำเป็นต้องทำเหมือนกัน
แต่สิ่งสำคัญที่ขับเคลื่อนให้องค์กรทำ SSCM สำเร็จเหมือนกัน คือ การทำและขยายขอบเขตอย่างต่อเนื่อง
แนวทางการอ่านตัวอย่างเคสของบริษัทฯ (SSCM Case Reading Guidelines)
เมื่อผู้นำองค์กรแสดงความมุ่งมั่น/ตั้งใจในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน และต้องการเริ่มต้น (ESG in Action)
1) ธุรกิจเดิม (Business-as-usual)
- การตั้งเป้าหมายและพันธกิจ
- การวิเคราะห์แรงขับเคลื่อนจากทั้งภายใน และภายนอก
- การจัดลำดับประเด็นความยั่งยืนที่สำคัญของธุรกิจ
- การวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจ (Supply Chain Analysis) โดย
- กางภาพรวมกระบวนการดำเนินธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน
- ระบุกิจกรรมหลักและกิจกรรมย่อย ในแต่ละกระบวนการ ที่เกิดขึ้นเดิม
- การระบุปัจจัยความสำเร็จของธุรกิจที่เด่นชัด (Key Success Highlight) ของธุรกิจ
2) ธุรกิจที่บริหารจัดการผ่านมุมมองความยั่งยืน
- การตั้งเป้าหมายและพันธกิจ ที่ครอบคลุมถึงมิติ ESG
- การวิเคราะห์แรงขับเคลื่อนจากทั้งภายใน และภายนอก
- การวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ (Value Chain Analysis) โดย
- ระบุแนวทางใหม่ที่ครอบคลุมมิติความยั่งยืน
- ระบุเป้าหมายความยั่งยืนที่ตั้งไว้ในแต่ละมิติ ทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล
3) ผลลัพธ์จากการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการห่วงโซ่ของธุรกิจอย่างยั่งยืน เช่น โอกาสทางธุรกิจ การลดและป้องกันความเสี่ยง หรือการบรรลุเป้าหมาย และสร้างผลกระทบเชิงบวก เป็นต้น
- การระบุผลลัพธ์จากการดำเนินการตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในมิติต่าง ๆ
- การสื่อสารการดำเนินการของธุรกิจผ่านการเปิดเผยข้อมูลและการทำรายงานความยั่งยืน
- Awards & Recognitions : ESG Index, ESG Assessment
📌📌 Supply Chain 16 Case 📌📌
AAI: บมจ. เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล
AAV: บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น
ADVANC: บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส
BJC: บมจ. เบอร์ลี่ ยุคเกอร์
COLOR: บมจ. สาลี่ คัลเล่อร์
HMPRO: บมจ. โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์
OR: บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก
PTTGC: บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล
SCGP: บมจ. เอสซีจี แพคเกจจิ้ง
SELIC: บมจ. ซีลิค คอร์พ
SSSC: บมจ. ศูนย์บริการเหล็กสยาม
TEGH: บมจ. ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์
TISCO: บมจ. ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป
TWPC: บมจ. ไทยวา
WICE: บมจ. ไวส์ โลจิสติกส์
ZEN: บมจ. เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป
Click เพื่อดูรายละเอียด Supply Chain ทั้ง 16 Case