Topic

SSCM Showcase แนวทางการจัดการห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจสู่ความยั่งยืน


สถานการณ์และแรงขับเคลื่อน

ความรุนแรงของภัยธรรมชาติและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อทุกภาคส่วน ซึ่งล้วนเป็นไปตามการคาดการณ์ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม

ปัจจุบัน อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสและเข้าสู่ “ภาวะโลกเดือด (Global Boiling)” แล้ว อย่างที่เห็นได้ชัดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกิดวิกฤตการณ์มากมาย ที่มีความรุนแรงและสร้างความเสียหายมหาศาลทั่วโลก อันเป็นผลพวงจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ที่ได้สร้างผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและการดำเนินชีวิต การดำเนินธุรกิจ ตลอดจนความมั่นคงของประเทศ

จากสถานการณ์ดังกล่าว ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา องค์กรต่าง ๆ ในภาคธุรกิจ ให้ความสำคัญกับการรับมือกับปัญหาโลกรวน (Climate Change) และดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Decarbonization) อย่างจริงจังมากขึ้น โดยปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจ เพื่อหาแนวทางในการลดปริมาณ GHGs ที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ครอบคลุมการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจอย่างจริงจัง

นอกจากการรับมือกับปัญหาโลกรวน (Climate Change) ข้างต้นแล้ว หลายองค์กรให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนความยั่งยืนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ซึ่งการขับเคลื่อนดังกล่าวมีแรงผลักดันจากทั้งภายนอกและภายในองค์กร โดยแรงผลักดันภายนอกที่กระทบต่อธุรกิจ (Outside-In Impact) ได้แก่ การรับมือกับปัญหาโลกรวน (Climate Change) การปฏิบัติตามข้อกำหนด/กฎหมาย หรือมาตรฐานทั้งในและต่างประเทศ การพัฒนาของเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงความตระหนักของคู่ค้าและผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น ส่วนแรงผลักดันภายในองค์กร (Inside-Out Impact) มาจากความต้องการให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Growth) ความต้องการเป็นองค์กรที่ดำเนินการอย่างเป็นเลิศ (Operational Excellence) ในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านบริหารจัดการพลังงานและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ด้านการพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้า รวมไปถึงด้านการรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน และการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวของธุรกิจแต่ละแห่งอาจไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องจับมือกับพันธมิตรและสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กร และภาคส่วนต่าง ๆ (Partnerships and Collaboration) เพื่อจำกัดความเสียหายและผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงเตรียมพร้อมรับมือกับสภาวการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจต่อไป

 

Sustainable Supply Chain Management (SSCM) คืออะไร

เมื่อพูดถึงความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ แนวคิดเรื่องการจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน (Sustainable Supply Chain Management: SSCM) มักจะถูกกล่าวถึงไปด้วยกัน โดย การจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน คือ การคำนึงถึงปัจจัยด้านความยั่งยืน ในมิติของเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและบรรษัทภิบาล ในทุก ๆ กิจกรรมขององค์กรในการได้มาซึ่งสินค้าและบริการ ครอบคลุมตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบ การพัฒนาสินค้า การผลิต การจัดการคลังสินค้า การขนส่ง การกระจายสินค้า การใช้สินค้า รวมถึงบรรจุภัณฑ์ และขั้นตอนอื่น ๆ ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ดังนั้นจะเห็นว่า SSCM หมายรวมถึงกระบวนการดำเนินงาน/การจัดการทั้งภายในองค์กร  ภายนอกองค์กร คู่ค้า รวมถึงผู้บริโภคด้วย

SSCM คือ การคำนึงถึงปัจจัยด้านความยั่งยืน ในมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมให้มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ตลอดวัฏจักรชีวิตของสินค้าและบริการ

 

SSCM มีประโยชน์อย่างไร และควรเริ่มต้นอย่างไร

ข้อมูลจากการศึกษาของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จำนวน 16 บริษัท ทั้งบริษัทขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก พบว่าการขับเคลื่อนให้เกิดการทำ SSCM ต้องใช้ระยะเวลา แต่ผลลัพธ์และการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่ธุรกิจจะได้รับ ถือเป็นผลลัพธ์ที่มีความยั่งยืนในทุกมิติ ตลอดห่วงโซ่อุปทานในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น ประโยชน์ในการทำ SSCM จึงเกิดขึ้นกับหน่วยงานตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน เช่น

  • ลดความเสี่ยงที่ธุรกิจจะหยุดชะงักเนื่องจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
  • ปกป้องชื่อเสียงบริษัทและสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจ (Business Value) และแบรนด์ (Brand Value)
  • ลดต้นทุนในกระบวนการดำเนินธุรกิจ
  • พัฒนาผลิตภาพแรงงาน
  • สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สอดรับกับตลาด ที่เปลี่ยนแปลงไป[1] เป็นต้น

บทเรียนจากทั้ง 16 บริษัท ในการเริ่มต้นบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน (SSCM) สามารถสรุปกระบวนการได้ ดังนี้

  1. รู้และเข้าใจห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของบริษัทว่ามีลักษณะอย่างไร มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใดเกี่ยวข้องบ้าง
  2. กำหนดการทำ SSCM ให้ชัดเจน และสอดคล้องกับเป้าหมายองค์กร รวมถึงสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ และกลยุทธ์ด้วย
  3. พิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ Supply Chain ของบริษัท เพื่อหาแนวทางการปรับปรุงไปสู่ SSCM โดยนำ Supply Chain ของบริษัทมาพิจารณาว่า มีประเด็น ESG ใดที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนหรือกระบวนดำเนินงานบ้าง และบริษัทสามารถปรับปรุงขั้นตอนหรือกระบวนการนั้น ๆ ให้ตอบโจทย์ตัวชี้วัดด้าน ESG ได้อย่างไร
  4. ลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนในการปรับปรุงขั้นตอนหรือกระบวนการต่าง ๆ โดยคำนึงถึงศักยภาพของบริษัทเป็นหลัก เช่น บริบทของธุรกิจ ทรัพยากรของบริษัท รวมทั้งนโยบาย แนวทางของบริษัทเป็นสำคัญ
  5. สื่อสารการทำ SSCM ให้พนักงานเข้าใจ และเห็นประโยชน์ร่วมกัน
  6. จัดตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนการทำ SSCM เพื่อประสานงาน และให้ความรู้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ในบริษัท
  7. ติดตามและประเมินผลตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง

 

บทสรุป

จากข้อมูลที่กล่าวมาการทำ SSCM เป็นสิ่งจำเป็นเพราะเป็นกลไกสำคัญที่จะนำองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน การเริ่มต้นทำ SSCM ของแต่ละองค์กรไม่จำเป็นต้องเริ่มเหมือนกันหรือทำรูปแบบเดียวกัน เพราะจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด คือ การเข้าใจบริบท ความเสี่ยง กลยุทธ์ และโอกาสทางธุรกิจขององค์กร อย่างไรก็ดี แม้จุดเริ่มต้นในการทำ SSCM จะแตกต่างกัน แต่มีปัจจัยความสำเร็จร่วมที่ 16 บริษัทกรณีศึกษา ทำแล้วประสบความสำเร็จเหมือนกัน คือ

  1. โครงสร้างพื้นฐานในองค์กร (Infrastructure) คือ การเตรียมความพร้อมเชิงองค์กร ตั้งแต่ นโยบายองค์กร ความเข้าใจเรื่องมาตรฐาน กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ การประเมินความเสี่ยงเรื่องความยั่งยืน และการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  2. ทรัพยากรบุคคล (Human Resource) คือ การให้ความสำคัญกับคน เช่น คุณภาพชีวิตพนักงานทุกระดับ การจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อน ESG/ SSCM
  3. การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) คือ การส่งเสริมให้เกิดองค์กรแห่งการเรียนรู้มีการแลกเปลี่ยน แบ่งปันองค์ความรู้ภายในองค์กร นำไปสู่การยกระดับสินค้า/บริการ และนวัตกรรมในองค์กร
  4. พันธมิตรและความร่วมมือ (Partnership and Collaboration) คือ มีพันธมิตรที่หลากหลาย ร่วมมือและส่งเสริมกันและกัน เช่น สนับสนุนคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ร่วมพัฒนาคู่ค้าเพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน

    ทั้งนี้การทำ SSCM คล้ายกับการลงทุน เพราะสิ่งสำคัญในการลงทุนอย่างยั่งยืน คือ การทำและขยายขอบเขตอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายความยั่งยืนที่ลงทุนไปจะให้ผลตอบแทนกลับมา ดีต่อทั้งองค์กร เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

 

การเริ่มต้นทำ SSCM ของแต่ละองค์กรไม่จำเป็นต้องทำเหมือนกัน
แต่สิ่งสำคัญที่ขับเคลื่อนให้องค์กรทำ SSCM สำเร็จเหมือนกัน คือ  การทำและขยายขอบเขตอย่างต่อเนื่อง



แนวทางการอ่านตัวอย่างเคสของบริษัทฯ (SSCM Case Reading Guidelines)

เมื่อผู้นำองค์กรแสดงความมุ่งมั่น/ตั้งใจในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน และต้องการเริ่มต้น (ESG in Action)

1) ธุรกิจเดิม (Business-as-usual)

  • การตั้งเป้าหมายและพันธกิจ
  • การวิเคราะห์แรงขับเคลื่อนจากทั้งภายใน และภายนอก
  • การจัดลำดับประเด็นความยั่งยืนที่สำคัญของธุรกิจ
  • การวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจ (Supply Chain Analysis) โดย
    • กางภาพรวมกระบวนการดำเนินธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน
    • ระบุกิจกรรมหลักและกิจกรรมย่อย ในแต่ละกระบวนการ ที่เกิดขึ้นเดิม
  • การระบุปัจจัยความสำเร็จของธุรกิจที่เด่นชัด (Key Success Highlight) ของธุรกิจ

2) ธุรกิจที่บริหารจัดการผ่านมุมมองความยั่งยืน 

  • การตั้งเป้าหมายและพันธกิจ ที่ครอบคลุมถึงมิติ ESG
  • การวิเคราะห์แรงขับเคลื่อนจากทั้งภายใน และภายนอก
  • การวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ (Value Chain Analysis) โดย
    • ระบุแนวทางใหม่ที่ครอบคลุมมิติความยั่งยืน 
  • ระบุเป้าหมายความยั่งยืนที่ตั้งไว้ในแต่ละมิติ ทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล

3) ผลลัพธ์จากการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการห่วงโซ่ของธุรกิจอย่างยั่งยืน เช่น โอกาสทางธุรกิจ การลดและป้องกันความเสี่ยง หรือการบรรลุเป้าหมาย และสร้างผลกระทบเชิงบวก เป็นต้น

  • การระบุผลลัพธ์จากการดำเนินการตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในมิติต่าง ๆ 
  • การสื่อสารการดำเนินการของธุรกิจผ่านการเปิดเผยข้อมูลและการทำรายงานความยั่งยืน
  • Awards & Recognitions : ESG Index, ESG Assessment

📌📌 Supply Chain 16 Case 📌📌


AAI: บมจ. เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล
AAV: บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น
ADVANC: บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส
BJC: บมจ. เบอร์ลี่ ยุคเกอร์
COLOR: บมจ. สาลี่ คัลเล่อร์
HMPRO: บมจ. โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์
OR: บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก
PTTGC: บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล
SCGP: บมจ. เอสซีจี แพคเกจจิ้ง
SELIC: บมจ. ซีลิค คอร์พ
SSSC: บมจ. ศูนย์บริการเหล็กสยาม
TEGH: บมจ. ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์
TISCO: บมจ. ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป
TWPC: บมจ. ไทยวา
WICE: บมจ. ไวส์ โลจิสติกส์
ZEN: บมจ. เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป

Click เพื่อดูรายละเอียด Supply Chain ทั้ง 16 Case