Topic

ESG Risk กับธุรกิจจัดการกองทุนที่ยั่งยืน

 

ESG Risk กับธุรกิจจัดการกองทุนที่ยั่งยืน

จากกระแสโลกและ Mega trends รวมถึงภัยภิบัติและโรคระบาดต่างๆ ทำให้นักลงทุนและผู้จัดการกองทุนให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม (Environment : E) สังคม (Social : S) และธรรมาภิบาล (Governance : G) หรือการลงทุนอย่างยั่งยืน (ESG investing) เพิ่มมากขึ้น ธุรกิจจัดการกองทุนจึงพัฒนาและขยายขอบเขตทางเลือกการลงทุนโดยนำปัจจัย ESG เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการด้วย เพื่อให้เงินลงทุนของผู้ลงทุน มีโอกาสที่จะมีมูลค่าสูงขึ้น ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องในระบบนิเวศน์การลงทุน (Investment Ecology) ในธุรกิจจัดการกองทุน จึงนำหลักการบริหารความเสี่ยงด้าน ESG มาประยุกต์ใช้ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ของบริษัทจัดการกองทุนในการบริหารพอร์ตการลงทุนให้มีโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดี โดยมีความเสี่ยงโดยรวมอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ รวมถึงการสนับสนุนการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG เพื่อให้นักลงทุนใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน

ความเสี่ยงด้าน ESG สามารถแยกออกเป็นความเสี่ยงที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละด้านได้ โดยความเสี่ยงจากด้าน E ยังแบ่งออกได้เป็นความเสี่ยงเชิงกายภาพ (Physical Risk) เช่น ภัยพิบัติจากสภาวะโลกร้อน และ ความเสี่ยงช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition Risk) ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีในปัจจุบันไปสู่เทคโนโลยีที่มีความสะอาดมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนวิธีผลิตพลังงานจากถ่านหิน เป็นแสงอาทิตย์ (Solar Cell) สำหรับความเสี่ยงด้าน S ในบริษัทต่างๆ อาจเกิดจากการออกผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย การใช้แรงงานที่ผิดกฎหมาย หรือ การมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น และสุดท้ายความเสี่ยงด้าน G มักจะพิจารณาจากความโปร่งใสในองค์ประกอบของคณะกรรมการ (Board of Director) และความเหมาะสมของโครงสร้างผลตอบแทนของผู้บริหาร โดยการบริหารความเสี่ยงด้าน ESG ที่ดี จะทำให้บริษัทลดความเสี่ยงจากการสูญเสียรายได้ ทรัพย์สิน หรือชื่อเสียงได้ และมีโอกาสนำไปสู่ผลตอบแทนที่ยั่งยืนในระยะยาว

ปัจจุบันนักลงทุนมีความสนใจในการนำความเสี่ยงด้าน ESG เข้ามาประกอบการลงทุนมากขึ้น สะท้อนจากการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนการลงทุนในกองทุนที่เป็นการลงทุนเพื่อความยั่งยืน และกองทุน Thematic เช่น กองทุน ThaiESG และ Green Energy ตามลำดับ และยังรวมถึงธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ ที่ทางนักลงทุนได้ขอให้ผู้จัดการกองทุนมีการคำนึงถึงปัจจัยความเสี่ยงด้าน ESG ด้วย

ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องในตลาดทุนจึงมีความต้องการเข้าถึงข้อมูล ESG มากขึ้น ซึ่งมีหน่วยงานหลายแห่งที่จัดทำและเผยแพร่ข้อมูล โดยรวมประกอบด้วย

  1. ข้อมูล ESG Rating เช่น Morningstar Sustainability Rating, MSCI ESG Fund Rating, SET ESG Rating
  2. ข้อมูลแสดง ESG Indices เช่น Morningstar และ SETESG Index


อย่างไรก็ดี ข้อมูล ESG ที่บริษัทต่างๆ เปิดเผย ยังมีความถี่ไม่สูงมาก
ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเปิดเผยปีละ 1 ครั้ง หากในอนาคตบริษัทต่างๆ มีความพร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูล ESG ในความถี่ที่มากขึ้น ก็จะทำให้การประเมินความเสี่ยงด้าน ESG มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

ธุรกิจจัดการกองทุนรวม สามารถนำปัจจัย ESG มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารความเสี่ยงในรูปแบบ 3 ปัจจัยที่มีความสมดุลระหว่าง 'ผลตอบแทน' 'ความเสี่ยง' และ 'ความยั่งยืน'

โดยทาง บลจ. สามารถติดตามบริษัทที่ไปลงทุนในเรื่อง

  1. การเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG
  2. เป้าหมายในการพัฒนาและปรับปรุงความเสี่ยงด้าน ESG และ
  3. ผลสำเร็จของเป้าหมายที่ตั้งไว้ แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาประเมินร่วมกับบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน โดยอาจมีการรายงานความเสี่ยง ESG ในรูปแบบ Dashboard หรือ แบบจำลองอื่นๆ เพื่อช่วยตัดสินว่าบริษัทที่ไปลงทุนนั้นจัดเป็นกลุ่มผู้นำหรือผู้ตามในด้าน ESG


นอกจากนั้น ธุรกิจจัดการกองทุนรวมยังสามารถส่งเสริมความรู้และสร้างความตระหนักรู้ต่อการลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคม โดยเพิ่มทางเลือกในการลงทุนประเภทใหม่ อาทิเช่น การลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคม (Socially Responsible Investment: SRI) และการลงทุนกองทุนสีเขียว (Green Fund Investment)

 

บทความโดย
ดร. ธีรนุช ธรรมภิมุขวัฒนา
ผู้จัดการกองทุน บลจ. Eastspring
สมาชิก SET ESG Experts Pool

"ทำความเข้าใจลักษณะ เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงของ กองทุนรวม ก่อนตัดสินใจลงทุน"