Topic
ESG Risk กับธุรกิจจัดการกองทุนที่ยั่งยืน
ESG Risk กับธุรกิจจัดการกองทุนที่ยั่งยืน
จากกระแสโลกและ Mega trends รวมถึงภัยภิบัติและโรคระบาดต่างๆ ทำให้นักลงทุนและผู้จัดการกองทุนให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม (Environment : E) สังคม (Social : S) และธรรมาภิบาล (Governance : G) หรือการลงทุนอย่างยั่งยืน (ESG investing) เพิ่มมากขึ้น ธุรกิจจัดการกองทุนจึงพัฒนาและขยายขอบเขตทางเลือกการลงทุนโดยนำปัจจัย ESG เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการด้วย เพื่อให้เงินลงทุนของผู้ลงทุน มีโอกาสที่จะมีมูลค่าสูงขึ้น ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องในระบบนิเวศน์การลงทุน (Investment Ecology) ในธุรกิจจัดการกองทุน จึงนำหลักการบริหารความเสี่ยงด้าน ESG มาประยุกต์ใช้ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ของบริษัทจัดการกองทุนในการบริหารพอร์ตการลงทุนให้มีโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดี โดยมีความเสี่ยงโดยรวมอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ รวมถึงการสนับสนุนการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG เพื่อให้นักลงทุนใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน
ความเสี่ยงด้าน ESG สามารถแยกออกเป็นความเสี่ยงที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละด้านได้ โดยความเสี่ยงจากด้าน E ยังแบ่งออกได้เป็นความเสี่ยงเชิงกายภาพ (Physical Risk) เช่น ภัยพิบัติจากสภาวะโลกร้อน และ ความเสี่ยงช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition Risk) ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีในปัจจุบันไปสู่เทคโนโลยีที่มีความสะอาดมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนวิธีผลิตพลังงานจากถ่านหิน เป็นแสงอาทิตย์ (Solar Cell) สำหรับความเสี่ยงด้าน S ในบริษัทต่างๆ อาจเกิดจากการออกผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย การใช้แรงงานที่ผิดกฎหมาย หรือ การมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น และสุดท้ายความเสี่ยงด้าน G มักจะพิจารณาจากความโปร่งใสในองค์ประกอบของคณะกรรมการ (Board of Director) และความเหมาะสมของโครงสร้างผลตอบแทนของผู้บริหาร โดยการบริหารความเสี่ยงด้าน ESG ที่ดี จะทำให้บริษัทลดความเสี่ยงจากการสูญเสียรายได้ ทรัพย์สิน หรือชื่อเสียงได้ และมีโอกาสนำไปสู่ผลตอบแทนที่ยั่งยืนในระยะยาว
ปัจจุบันนักลงทุนมีความสนใจในการนำความเสี่ยงด้าน ESG เข้ามาประกอบการลงทุนมากขึ้น สะท้อนจากการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนการลงทุนในกองทุนที่เป็นการลงทุนเพื่อความยั่งยืน และกองทุน Thematic เช่น กองทุน ThaiESG และ Green Energy ตามลำดับ และยังรวมถึงธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ ที่ทางนักลงทุนได้ขอให้ผู้จัดการกองทุนมีการคำนึงถึงปัจจัยความเสี่ยงด้าน ESG ด้วย
ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องในตลาดทุนจึงมีความต้องการเข้าถึงข้อมูล ESG มากขึ้น ซึ่งมีหน่วยงานหลายแห่งที่จัดทำและเผยแพร่ข้อมูล โดยรวมประกอบด้วย
- ข้อมูล ESG Rating เช่น Morningstar Sustainability Rating, MSCI ESG Fund Rating, SET ESG Rating
- ข้อมูลแสดง ESG Indices เช่น Morningstar และ SETESG Index
อย่างไรก็ดี ข้อมูล ESG ที่บริษัทต่างๆ เปิดเผย ยังมีความถี่ไม่สูงมาก ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเปิดเผยปีละ 1 ครั้ง หากในอนาคตบริษัทต่างๆ มีความพร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูล ESG ในความถี่ที่มากขึ้น ก็จะทำให้การประเมินความเสี่ยงด้าน ESG มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
ธุรกิจจัดการกองทุนรวม สามารถนำปัจจัย ESG มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารความเสี่ยงในรูปแบบ 3 ปัจจัยที่มีความสมดุลระหว่าง 'ผลตอบแทน' 'ความเสี่ยง' และ 'ความยั่งยืน'
โดยทาง บลจ. สามารถติดตามบริษัทที่ไปลงทุนในเรื่อง
- การเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG
- เป้าหมายในการพัฒนาและปรับปรุงความเสี่ยงด้าน ESG และ
- ผลสำเร็จของเป้าหมายที่ตั้งไว้ แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาประเมินร่วมกับบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน โดยอาจมีการรายงานความเสี่ยง ESG ในรูปแบบ Dashboard หรือ แบบจำลองอื่นๆ เพื่อช่วยตัดสินว่าบริษัทที่ไปลงทุนนั้นจัดเป็นกลุ่มผู้นำหรือผู้ตามในด้าน ESG
นอกจากนั้น ธุรกิจจัดการกองทุนรวมยังสามารถส่งเสริมความรู้และสร้างความตระหนักรู้ต่อการลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคม โดยเพิ่มทางเลือกในการลงทุนประเภทใหม่ อาทิเช่น การลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคม (Socially Responsible Investment: SRI) และการลงทุนกองทุนสีเขียว (Green Fund Investment)
บทความโดย
ดร. ธีรนุช ธรรมภิมุขวัฒนา
ผู้จัดการกองทุน บลจ. Eastspring
สมาชิก SET ESG Experts Pool
"ทำความเข้าใจลักษณะ เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงของ กองทุนรวม ก่อนตัดสินใจลงทุน"