Topic
เช็ก CG ให้ชัวร์ ก่อนตัดสินใจลงทุน
เช็ก CG ให้ชัวร์ ก่อนตัดสินใจลงทุน
- บริษัทที่มี CG ดีสะท้อนได้จากการมีโครงสร้างและระบบการกำกับดูแลที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ รับฟังความเห็นและสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียสม่ำเสมอ และเปิดเผยข้อมูลอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และน่าเชื่อถือ
- CG จึงเป็นเรื่องสำคัญที่นักลงทุนใช้เป็นตัวชี้วัด ก่อนจะเลือกลงทุน ซึ่งสามารถดูได้คร่าว ๆ จากการทำธุรกิจผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างยาวนาน มีผลประกอบการดีต่อเนื่อง พร้อมปรับตัวเพื่อต่อยอดธุรกิจในอนาคต
CG (Corporate Governance) คืออะไรและสำคัญอย่างไร
CG (Corporate Governance หรือ บรรษัทภิบาล) คือ ระบบการกำกับดูแลที่จัดให้มีโครงสร้างและกลไกต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์และมีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างผู้ถือหุ้น คณะกรรมการ ฝ่ายจัดการ โดยมุ่งเน้นไปที่การบริหารจัดการธุรกิจอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ บริษัทที่มี CG ดีจะทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นว่า ธุรกิจมีรากฐานที่แข็งแรง ทำธุรกิจแบบมืออาชีพ มีกลไกตรวจสอบความผิดปกติและมีการจัดการความเสี่ยง สามารถที่จะแข่งขันและเติบโตได้ในระยะยาว
คณะกรรมการบริษัท ฝ่ายจัดการ และทุกหน่วยงานในองค์กรจึงต้องให้ความสำคัญกับการวางโครงสร้างและระบบ CG ที่ดีเพื่อให้ทุกคนมีแนวปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน ตั้งแต่การกำหนดนโยบาย กลยุทธ์ กลไกการกำกับดูแล ให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย (เช่น ผู้ถือหุ้น นักลงทุน พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า เป็นต้น) ที่สำคัญคือต้องมีการติดตามผลการดำเนินงานและสื่อสารให้ผู้มีส่วนได้เสียรับทราบอย่างต่อเนื่อง ตรงไปตรงมา
นอกจาก CG ที่บริษัทต้องให้ความสำคัญแล้ว เรื่องสังคม (Social) และสิ่งแวดล้อม (Environmental) ก็สำคัญไม่แพ้กัน ธุรกิจทุกวันนี้ต้องคำนึงถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) อย่างจริงจัง เช่น การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ลูกค้า ไม่เอาเปรียบพนักงาน และไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ชุมชน ทั้งหมดนี้จึงจะสามารถสร้าง “TRUST” หรือความไว้วางใจและทำให้บริษัท “น่าลงทุน” มากขึ้น
“ทั้ง ESG และ Governance เป็นเรื่องที่ทุกองค์กรต้องให้ความสำคัญ ซึ่งองค์กรที่สามารถจับทางได้ถูกต้องจะมีโอกาสทำให้ธุรกิจ Move forward ได้เร็วกว่าคู่แข่ง”
- คุณวิไลพร อิทธิวิรุฬห์ หุ้นส่วน EY ประเทศไทย -
ทำอย่างไรจึงได้ “ใจ” หรือ TRUST จากนักลงทุน
- นโยบายต้องชัดเจน => บอร์ดหรือคณะกรรมการบริษัทต้องรู้ก่อนว่า CG สำคัญ และกำหนดนโยบายและกลยุทธ์ให้ชัดเจน (Tone from the Top) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารความเสี่ยง การตรวจสอบภายใน การต่อต้านคอร์รัปชัน การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ การพัฒนานวัตกรรมและการขยายขีดความสามารถในการแข่งขัน
- รับฟังความเห็นและสื่อสารให้รอบด้าน => เพื่อตอบโจทย์ความคาดหวังและสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน บริษัทจำเป็นต้องรับฟังความเห็นและสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียอย่างสม่ำเสมอ เช่น การประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี (Annual General Meeting: AGM) การประชุมกับนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) และการพบปะนักลงทุน (Opportunity Day) เป็นต้น
- เปิดเผยข้อมูลโปร่งใส => ข้อมูลที่บริษัทเปิดเผยต้องมีความชัดเจน ถูกต้อง โปร่งใส น่าเชื่อถือ และสามารถแจกแจงรายละเอียดได้เข้าใจง่ายและทันต่อเหตุการณ์
“ในอนาคต ESG จะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จขององค์กร จะดูแค่กำไรอย่างเดียวคงไม่ได้แล้ว แต่ต้องดูว่าแต่ละองค์กรสามารถตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งนับวันสังคมจะคาดหวังให้ธุรกิจต้องคำนึงถึง ESG มีส่วนรับผิดชอบ รวมถึงสร้างประโยชน์ให้สังคม”
- คุณไพรัช ศรีวิไลฤทธิ์ บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป -
3 จุดสังเกตที่นักลงทุนต้องดู ก่อนตัดสินใจลงทุน
- ทำธุรกิจยาวนาน => บริษัทที่ทำธุรกิจมาได้ต่อเนื่องยาวนาน ไม่มีเรื่องเสีย ๆ หาย ๆ น่าจะสะท้อนได้ว่ามีรากฐานที่แข็งแกร่ง มีระบบบริหารจัดการที่ดี สร้างความเชื่อมั่นได้
- ผลประกอบการย้อนหลัง => แม้ว่าผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้การันตีอนาคต แต่ถ้าบริษัททำกำไรได้ดีมาอย่างต่อเนื่อง ก็แสดงว่าสามารถเอาตัวรอดผ่านร้อนผ่านหนาวจากวิกฤตต่าง ๆ ได้
- พร้อมต่อยอดธุรกิจในอนาคต => ต้องวิเคราะห์ว่าบริษัทนำเงินไปลงทุนในโครงการลักษณะไหน เกี่ยวเนื่องหรือสอดคล้องกับธุรกิจหลักของบริษัทหรือไม่ หากไม่เกี่ยวเนื่องกันและไม่ได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ นักลงทุนต้องวิเคราะห์และสังเกตก่อนตัดสินใจลงทุนในบริษัทนั้น
“เงินลงทุนในโลกนี้ส่วนใหญ่อยู่ที่กองทุน ซึ่งเริ่มให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้น ดังนั้นบริษัทที่ต้องการมองหาแหล่งเงินทุน คงหลีกเลี่ยงไม่ได้และต้องลงมือทำ ESG อย่างจริงจัง”
- คุณกวี ชูกิจเกษม บล. พาย -
จึงถือได้ว่า CG เป็นเรื่องสำคัญที่นักลงทุนต้องพิจารณาให้ดี ก่อนตัดสินใจเลือกลงทุน
อ้างอิงจากงานสัมมนา SET Sustainability Forum: Grounding Greater Governance for Good จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ณ อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ท่านสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ESG ได้ที่: SET ESG Academy (Website) (Line)
หมายเหตุ: บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลสำหรับการศึกษาในเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
ผู้เขียนบทความ
ฝ่ายพัฒนาการลงทุนอย่างยั่งยืน