Topic

การมุ่งเน้นการพัฒนาเชิงพื้นที่ กับความยั่งยืนองค์กร

 

การมุ่งเน้นการพัฒนาเชิงพื้นที่ กับความยั่งยืนองค์กร

การพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area-Based Development) เป็นแนวทางหนึ่งที่หลายธุรกิจในประเทศไทยนำมาใช้เพื่อบูรณาการประเด็นด้านความยั่งยืนเข้ากับการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างศัยภาพเศรษฐกิจฐานรากและช่วยแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ไปพร้อมๆ กับการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจ

การพัฒนาเชิงพื้นที่นั้นมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ เพราะนอกจากภาคเอกชนต้องพึ่งพาทรัพยากรในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติหรือทรัพยากรมนุษย์แล้ว ภาคเอกชนเองยังเป็นภาคส่วนที่มีทุนทรัพย์ ทรัพยากร และศักยภาพในการช่วยพัฒนาพื้นที่นั้นๆ ด้วย การพัฒนาเชิงพื้นที่จึงต้องเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม (Public-Private-People Partnership)

ความร่วมมือที่เป็นกุญแจสำคัญนั้น ต้องประกอบกับการเข้าใจต้นตอของปัญหาเชิงพื้นที่อย่างแท้จริง โดยภาคเอกชนต้องคำนึงถึงการได้รับประโยชน์ของคนในพื้นที่และการรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรในพื้นที่ ไปพร้อมกับการขับเคลื่อนธุรกิจ

 

ประสบการณ์จากการศึกษาดูงานของ SET ESG Experts Pool

เมื่อวันที่ 28-29 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา คณะ SET ESG Experts Pool โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ศึกษาดูงานการดำเนินงานด้านความยั่งยืนองค์กรที่เน้นการพัฒนาเชิงพื้นที่ 3 แห่งด้วยกัน โดยการพัฒนาทั้ง 3 แห่ง มีองค์กรภาคเอกชนที่มีแนวคิดการมุ่งเน้นการพัฒนาเชิงพื้นที่ คณะฯ ได้เห็นตัวอย่างการพัฒนาสังคม และการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการสร้างนวัตกรรม และความร่วมมือกับชุมชน 

การพัฒนา Khon Kaen Innovation Center จังหวัดขอนแก่น โดยกลุ่มมิตรผล



Khon Kaen Innovation Center ถูกพัฒนาขึ้นโดยแนวคิดเพื่อการพัฒนาพื้นที่ในภาคอีสาน ให้เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาองค์ความรู้ และต่อยอดนวัตกรรมในเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม อีกทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษรฐกิจฐานราก และอุตสาหกรรมน้ำตาล ภายใต้แนวคิด “ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ” 

การดำเนินการด้านความยั่งยืนของ กลุ่มมิตรผล ผนวกเข้าไปในการดำเนินธุรกิจ โดยมีการประเมินผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงประเมินความเสี่ยงที่จะมากระทบการดำเนินงานของธุรกิจ เพื่อมองปัญหาและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดภัยแล้งที่รุนแรงขึ้นและกระทบต่อผลิตภาพของผลผลิตทางการเกษตร หรือการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน รวมถึงผลกระทบจากห่วงโซ่อุปทาน เช่น มลภาวะที่เกิดขึ้นจากการเผาพืชผลทางการเกษตร 

กลุ่มมิตรผลวิเคราะห์ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากต้นตอของปัญหาและนำมาปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจ ทั้งการให้ความรู้ชุมชนเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรจากการนำความรู้ของบริษัทในเครือที่อยู่ต่างประเทศมาพัฒนาการทำการเกษตรภายในประเทศ รวมถึงการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังมีการทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อส่งเสริมการตัดอ้อยสดและรับซื้อใบอ้อยเพื่อลดปัญหามลภาวะจากกิจกรรมในห่วงโซ่อุปทาน หรือการสนับสนุนกิจการชุมชนในการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นต้น

ที่สำคัญยังเน้นการศึกษาวิจัยเพื่อสร้างมูลค่าจากผลผลิตให้ได้มูลค่าเพิ่มสูงสุด ซึ่งการสร้าง Ecosystem ให้เกิดนวัตกรรมทั้งในกลุ่มบริษัทเอง หรือในพื้นที่นี้ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มดังกล่าว

 

การสนับสนุนการทำเกษตรแบบยั่งยืน ณ อำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี โดยบริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน)



บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกับชุมชนนาแปลงใหญ่ ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรมันสำปะหลัง ที่อำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี เพื่อพัฒนา “Sustainable Agriculture Initiative” โดยให้ความรู้ในการเพิ่มผลผลิตแก่เกษตรกร ผู้นำชุมชนกล่าวว่า ก่อนที่จะได้ทำความร่วมมือนี้ เกษตรกรได้ผลผลิตอยู่ที่ประมาณ 3 ตันต่อไร่ แต่ตอนนี้สามารถเพิ่มผลผลิตได้มากที่สุดถึง 7-8 ตันต่อไร่ (โดยเฉลี่ยได้ 5 ตันต่อไร่) นอกจากนี้ ยังมีการนำเทคโนโลยีมาต่อยอดเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาวให้เกษตรกร และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำการเกษตรด้วย อีกทั้งยังได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการปรับปรุงดิน การพัฒนาพันธุ์พืช ซึ่งเป็นการพัฒนาการปลูกมันสำปะหลังในระยะยาวที่จะส่งผลเชิงบวกต่อชุมชนและธุรกิจขององค์กร โดยการให้ความรู้และความช่วยเหลือดังกล่าวนี้ ไม่ได้ถือเป็นภาระผูกพันแก่เกษตรกรที่จะต้องขายผลผลิตให้กับบริษัทเท่านั้น แต่เกษตรกรยังคงมีทางเลือกและสามารถต่อรองในด้านราคาผลผลิตได้เช่นเดิม
นอกจากการการสนับสนุนในเชิงความรู้ทางการเกษตรแล้ว ยังมองประเด็นการแก้ปัญหาสังคมในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร และคนในชุมชนเพื่อจัดการปัญหาหนี้ครัวเรือน รวมถึงการสนับสนุนการเข้าถึงการศึกษาของคนในชุมชนด้วย

การร่วมขับเคลื่อนเมืองคาร์บอนต่ำ สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์ โดยบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)



สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์ นั้นเป็นโครงการที่มุ่งขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดสระบุรีโดยความร่วมมือของกลุ่มบริษัทเอกชน และภาครัฐบาล เพื่อแก้ปัญหามลภาวะ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ โดยมีจุดหมายในการสร้าง “เมืองคาร์บอนต่ำ” ที่ร่วมขับเคลื่อนโดย สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) ซึ่งมีบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เป็นสมาชิก

 แม้โครงการนี้จะเพิ่งเริ่มดำเนินการ ทางคณะฯ ได้เห็นสัญญาณความร่วมมือของหลายภาคส่วน ได้แก่ ภาคเอกชน หน่วยราชการในพื้นที่ องค์กรปกครองท้องถิ่น และภาคประชาสังคมเพื่อแก้ปัญหาเชิงพื้นที่

 

ถอดแนวคิดจากการพัฒนาเชิงพื้นที่ทั้ง 3 แห่ง

แนวทางของธุรกิจทั้ง 3 แห่งในการมุ่งเน้นการพัฒนาเชิงพื้นที่มาจากการ “มองความเชื่อมโยงของกิจกรรมทางธุรกิจกับพื้นที่” เพราะแหล่งที่ตั้งสถานประกอบการ หรือแหล่งทรัพยากรที่จำเป็นของธุรกิจเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับความอยู่รอดองค์กร ดังนั้นการสร้างความยั่งยืนองค์กรจึงต้องเชื่อมโยงกับการลดผลกระทบและความเสี่ยง พร้อมสร้างการพัฒนาที่ชุมชน สิ่งแวดล้อม และองค์กรได้ประโยชน์ร่วมกัน ประเด็นนี้สะท้อนได้จากการพัฒนาเชิงพื้นที่ทั้ง 3 กรณีข้างต้น  ทั้งการตระหนักถึงปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปัญหาการขาดแคลนแรงงานจากการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย หรือแม้ประทั่งปัญหามลภาวะทางอากาศ และความเสี่ยงจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเข้มข้นของธุรกิจในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งปัญหาเหล่านี้ถูกนำมาวิเคราะห์เชื่อมโยงกับความเสี่ยงและโอกาสของธุรกิจ พร้อมนำมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ทั้งในด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ต้อง “มองชุมชน และหน่วยงานท้องถิ่นเป็นพันธมิตร” เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาให้ตอบสนองปัญหาเชิงพื้นที่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาไปกันด้วยทั้งสังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะสะท้อนกลับมาที่การพัฒนาขององค์กร ประเด็นนี้จะค่อนข้างเด่นชัดจากกรณีของบริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) ที่ผู้นำชุมชนมาเล่าถึงการทำงานร่วมกับบริษัท โดยมีหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นให้การสนับสนุน และต้อง “มองนวัตกรรมเป็นเครื่องเร่งการพัฒนา” ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมทางผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมทางกระบวนการ อีกทั้งต้องสร้างระบบนิเวศให้เกิดนวัตกรรมด้วย ดังจะเห็นได้จากการพัฒนาเชิงพื้นที่ทั้ง 3 กรณีข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมโดยมี Khon Kaen Innovation Center เป็นศูนย์กลาง การผนวกภูมิปัญญาท้องถิ่นและนวัตกรรมการเกษตรโดยชุมชนนาแปลงใหญ่ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อนสระบุรีแซนด์บ๊อกซ์

ความท้าทายที่ต้องร่วมกันเผชิญ

แนวคิดการพัฒนาเชิงพื้นดังกล่าวนั้น เป็นการพัฒนาเพื่อต่อยอดและถอดบทเรียนเพื่อนำโมเดล และบทเรียนที่ได้ไปขยายผลในอนาคต อย่างไรก็ดี ความท้าทายในการพัฒนาเชิงพื้นที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนองค์กรยังต้องคำนึงถึงประเด็นความท้าทายต่างๆ ได้แก่ การพัฒนาเชิงพื้นที่ต้องเป็นการพัฒนาที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์อย่างเป็นธรรม ต้องมีการสร้างสมดุลของอำนาจต่อรองของหน่วยงานภาคีจากบทบาทของแต่ละภาคส่วน นอกจากนี้การดำเนินงานพัฒนาในเชิงพื้นที่ที่มีความร่วมมือจากหลายภาคส่วนต้องมีการดำเนินงานแบบบูรณาการมากกว่าการทำงานแบบแยกส่วนกัน อีกทั้งการขยายผลไปยังพื้นที่ใหม่ ก็ต้องอาศัยการทำความเข้าใจปัญหา และบริบทของพื้นที่ใหม่เช่นกัน

สุดท้ายโจทย์ที่สำคัญ คือ การพัฒนาเชิงพื้นที่ และการดำเนินการด้านความยั่งยืนองค์กรจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศ และสร้างความยั่งยืนให้สังคม และสิ่งแวดล้อมในภาพรวมได้อย่างไร

 

บทความโดย
ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

สมาชิก SET ESG Experts Pool