Topic

เกราะคุ้มกันสำหรับการดำเนินธุรกิจและการลงทุนจาก Greenwashing และ Greenhushing & Green-bleaching

ในตลาดทุนและภาคการลงทุนช่วงที่ผ่านมา มีการกล่าวถึง Greenwashing กันอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งปัญหาเรื่อง Greenwashing ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดหลักเกณฑ์ที่แน่นอนว่า กรณีใดจะถือเป็น Greenwashing ได้บ้าง เราจึงเห็นความพยายามของหน่วยงานกำกับดูแลต่าง ๆ ในการป้องกันและจัดการกับปัญหาเรื่องการฟอกเขียวหรือ Greenwashing เช่น กรณีของ EU ซึ่งเมื่อต้นปี 2566 เริ่มมีหลักเกณฑ์ Sustainable Finance Disclosure Regulation (SFDR) ซึ่งใช้กับธุรกิจการเงินต่าง ๆ รวมถึงบริษัทจัดการกองทุน รวมทั้งการออกหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลและการจัดทำมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (Taxonomy)

ในทางกลับกัน ความเสี่ยงและภาระที่เกิดจากการถูกกล่าวหาเรื่อง Greenwashing และหลักเกณฑ์ที่เข้มข้นขึ้น ทำให้เราเห็นแนวโน้มพฤติกรรมในทางตรงกันข้ามกันอย่าง Greenhushing กล่าวคือ บริษัทงดการแสดงเจตจำนงเพื่อบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนด้านต่าง ๆ หรือ ในภาคการลงทุนก็มีพฤติกรรมที่เรียกกันว่า Green-bleaching คือ การที่กองทุนรวมที่เกี่ยวกับความยั่งยืนได้ปรับลดระดับประเภทที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืน (Label) ของตนลง จากเดิมที่เคยเป็นการลงทุนโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมหรือสังคม (สีเข้ม) กลายเป็นการลงทุนโดยมีปัจจัยเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือสังคมเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น (สีอ่อนกว่า)

จากกระแสต่อต้านการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (Anti-ESG) และคดีฟ้องร้องเรื่อง Greenwashing ที่พบมากขึ้นในต่างประเทศ ถึงแม้ว่าหลายคดียังไม่มีคำพิพากษาหรือได้รับคำตัดสินว่ามีการกระทำผิดจริงหรือไม่ แต่กระแสเหล่านี้ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนแนวคิดการสื่อสารเรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับความยั่งยืนของภาคธุรกิจและภาคการลงทุนเป็นอย่างมาก ทั้งในเรื่องของการให้ข้อมูลกับผู้บริโภค ความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์ที่อาจจะเกี่ยวข้อง (เช่น คาร์บอนเครดิต) หรือการเปิดเผยข้อมูลต่อผู้ลงทุน

ตัวอย่างเช่น ภาคธุรกิจเริ่มเลือกที่จะไม่กล่าวถึงการดำเนินการเพื่อเป้าหมายความยั่งยืนเพื่อลดการถูกกล่าวหาว่าทำไม่ได้ตามที่กล่าวไว้ (Greenhushing) หรือในกรณีของ SFDR ซึ่งมีหลักเกณฑ์การจัดลำดับประเภทตามความเข้มข้นของสินทรัพย์ที่แต่ละกองทุนรวมมีการลงทุน ก็นำไปสู่การที่กองทุนรวมที่เกี่ยวกับความยั่งยืนจำนวนมากได้ปรับลดระดับประเภทของตนลง (Green-bleaching) ทั้งนี้ บริษัทจัดการของกองทุนรวมเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้ให้เหตุผลในการปรับลดระดับลงว่า เพื่อลดความเสี่ยงทางกฎหมายที่จะโดนกล่าวหาเรื่อง Greenwashing นั่นเอง  

ถึงแม้ Greenhushing และ Green-bleaching จะดูเป็นสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดผลร้ายแรงเมื่อเทียบกับ Greenwashing แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เหมือนกับเรากำลังละเลยโอกาสที่แต่ละหน่วยของภาคธุรกิจหรือการลงทุนจะนำพาซึ่งกันและกันหรือก่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะความกลัวว่าข้อมูลที่เปิดเผยไปนั้นอาจจะนำไปสู่ความรับผิดทางกฎหมายซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง

ถ้านำมาปรับใช้กับบริบทของประเทศไทย สิ่งเหล่านี้ก็อาจจะกระทบกับการเปิดเผยข้อมูลแก่ผู้ลงทุนทั้งโดยบริษัทจดทะเบียน กองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (SRI Fund) หรือล่าสุดกับกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG Fund) ดังนั้น ในช่วงที่ทุกภาคส่วนกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนนี้ เราควรสร้างเกราะคุ้มกันเพื่อให้ภาคธุรกิจและการลงทุนมีความมั่นใจในการดำเนินการและการสื่อสารด้านความยั่งยืนกับผู้มีส่วนได้เสีย อาทิเช่น

  • สร้างเกราะคุ้มกันเรื่อง Greenwashing โดยการตรวจสอบสถานะ (Due Diligence) ที่เหมาะสมก่อนการเปิดเผยหรือรับรองข้อมูล ซึ่งจะมีส่วนช่วยทำให้ข้อมูลที่สื่อสารถูกต้องและครบถ้วน
  • สร้างเกราะคุ้มกันเรื่อง Greenhushing และ Green-bleaching โดยการสร้างบรรทัดฐานที่คงเส้นคงวาในการบังคับใช้หลักเกณฑ์ต่าง ๆ (สอดคล้องกับข้อเสนอแนะเรื่องเดียวกันนี้ของ International Organization of Securities Commissions หรือ IOSCO)
  • สร้างการเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้อง (อย่างเช่น ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้พัฒนาศูนย์รวมข้อมูลผลิตภัณฑ์ทางการเงินกลุ่มความยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันมีข้อมูลเรื่องตราสารหนี้และกองทุนรวม)

 

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการดำเนินการด้านความยั่งยืนของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

 

 

แหล่งข้อมูล:

 

บทความโดย
โกวิท อดิเรกสมบัติ
ทนายความหุ้นส่วน
บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด
สมาชิก SET ESG Experts Pool