Topic

หาโอกาสการลงทุน ท่ามกลาง Climate Change

หาโอกาสการลงทุน ท่ามกลาง Climate Change

  • วิกฤตโลกร้อนทำให้ธุรกิจต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น กฎเกณฑ์และนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มเข้มข้นมากขึ้น เทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และการเลือกทำงานในองค์กรที่ได้รับการยอมรับในสายตาคนรุ่นใหม่ เป็นต้น
  • แม้ว่าทุกธุรกิจจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตโลกร้อน แต่ในวิกฤตมีโอกาสเสมอ บางธุรกิจสามารถปรับตัวและพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส สามารถลดต้นทุน เพิ่มรายได้หรือยอดขาย ไปจนถึงการมีต้นทุนทางการเงินที่ดีขึ้น

 


โลกร้อนธุรกิจเผชิญความเสี่ยง

จากปัญหาภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน ทั่วโลกจึงมุ่งตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือที่เรียกกันว่า “Net Zero” หลายภาคส่วนจึงเร่งปรับตัวเพื่อบรรลุเป้าหมายที่กำหนด ภาคธุรกิจเองก็ต้องเตรียมรับมือกับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเข้ามามีผลกระทบต่อการทำธุรกิจ เช่น

  • กฎเกณฑ์และนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มเข้มข้นมากขึ้น: กลไกหนึ่งที่ภาครัฐในหลายประเทศนิยมใช้เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คือ การออกภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) โดยมีเป้าหมายให้ผู้ประกอบการต้องบริหารจัดการกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่ลดลง

    ในต่างประเทศ เริ่มมีการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าบางประเภทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น การเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ที่เริ่มเก็บภาษีคาร์บอนตั้งแต่ ต.ค. 2566 และจะขยายวงกว้างให้ครอบคลุมสินค้าทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ภายในปี 2573 สำหรับในประเทศไทย กรมสรรพสามิตกำลังเร่งศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีคาร์บอนในเร็ว ๆ นี้

  • เทรนด์ผู้บริโภคเปลี่ยน: ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม พร้อมสนับสนุนสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่และคนวัยทำงานตอนต้น (อายุ 20-35 ปี) สนใจเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์แบบนำกลับมาใช้ซ้ำได้ หรือสินค้าที่ผลิตจากวัสดุย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ โดยเต็มใจที่จะจ่ายแพงขึ้นถึง 20% ดังนั้น หากธุรกิจไม่ปรับตัว อาจได้รับการยอมรับและความนิยมที่ลดลง ทำให้สูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดได้

    ที่น่าสนใจคือ ผู้บริโภคทุกวันนี้ไม่เพียงแต่เลือกใช้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังให้ความสำคัญตลอดกระบวนการ (ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ) คือ ตั้งแต่แหล่งที่มาของวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การขนส่ง ไปจนถึงการจัดการขยะหลังจากบริโภคแล้ว

  • คนรุ่นใหม่เลือกบริษัทที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม: ผลสำรวจของ Deloitte พบว่า คนรุ่น Gen Z (อายุ 19-28 ปี) และกลุ่ม Millennial (อายุ 29-40 ปี) สนใจที่จะร่วมงานกับองค์กรที่คำนึงถึงเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 50% ศึกษานโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของแบรนด์หรือองค์กร ก่อนที่จะตอบรับเข้าทำงาน

ความเสี่ยงข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของความเสี่ยงที่ธุรกิจในวันนี้ต้องเผชิญ ซึ่งหากปรับตัวได้ไม่ทันท่วงที ก็อาจเกิดต้นทุนและความเสียหาย หรือสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัท ในขณะเดียวกันก็กลายเป็นความเสี่ยงของนักลงทุนที่เข้าไปลงทุนในบริษัทดังกล่าวด้วย

ธุรกิจที่พลิกวิกฤตโลกร้อนให้เป็นโอกาส

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางวิกฤตย่อมมีโอกาส มีหลายธุรกิจที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้อย่างน่าสนใจ ตัวอย่างเช่น

  • ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ใช้แนวคิด “Green Building” โดยออกแบบอาคารให้มีอากาศถ่ายเทได้ดีและใช้เทคโนโลยีที่ลดการใช้พลังงาน จนสามารถลดการใช้พลังงานภายในอาคารได้ถึง 10-48% เมื่อเทียบกับอาคารแบบทั่วไป

    ที่สำคัญคือ อาคารที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารสีเขียวมักตอบโจทย์ความต้องการของผู้เช่าที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในระยะยาว จึงสามารถเพิ่มอัตราค่าเช่าได้สูงกว่าอาคารทั่วไปถึง 5-10%

    นอกจากนี้ บริษัทผู้พัฒนาอาคารเขียวยังมีโอกาสได้รับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่ดีกว่าจากการสนับสนุนของสถาบันการเงินที่มีนโยบายปล่อยกู้ Green Loan หรือสินเชื่อที่มุ่งเน้นความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

  • ธุรกิจผลิตวัสดุก่อสร้าง ซึ่งอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ก็ปรับตัวให้สอดรับกับเทรนด์รักษ์โลกด้วยเช่นกัน โดยพัฒนาปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำด้วยการใช้ส่วนผสมอื่นแทนการใช้ปูนเม็ด ทำให้สามารถหลอมได้ในอุณหภูมิต่ำ ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงในการผลิตปูนซีเมนต์ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตได้อย่างน้อย 50 กิโลกรัมต่อตันปูนซีเมนต์ อีกทั้งยังมีคุณสมบัติทนต่อการขัดสี ลดการหลุดล่อนได้ดีกว่าปูนทั่วไป

  • ธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องดื่ม มีนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์เทรนด์การบริโภคเพื่อสุขภาพและเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม เช่น เนื้อสัตว์ที่ผลิตจากพืช (Plant-based) ที่นอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังมีโอกาสทำกำไรได้สูงถึง 10-35% คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% และอาจมีมูลค่าตลาดสูงถึง 5 หมื่นล้านบาท (อ้างอิงข้อมูลจากศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย)

    นอกจากนี้ ธุรกิจผลิตอาหารและเครื่องดื่มยังเน้นเรื่องการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยลดต้นทุน เช่น การลดความหนาของขวดพลาสติกบรรจุน้ำมันพืช ซึ่งลดปริมาณการใช้เม็ดพลาสติกแต่ยังคงความแข็งแรงเท่าเดิม การใช้กล่องลูกฟูกที่ผลิตจากกระดาษรีไซเคิลในการขนส่งสินค้า สามารถรองรับแรงกระแทกได้ดีและนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ช่วยลดต้นทุนด้านบรรจุภัณฑ์ได้ในระยะยาว


จะเห็นว่าทุกวิกฤตมีโอกาสเสมอ อยู่ที่ว่าธุรกิจจะสามารถปรับตัวให้รับมือและจัดการกับความเสี่ยง เพื่อคว้าโอกาสในการแข่งขันและความสามารถในการเติบโตในระยะยาว ซึ่งก็จะกลายเป็นธุรกิจที่น่าสนใจในการลงทุนสำหรับนักลงทุนด้วยเช่นกัน

 

ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: SETInvestnow

 


หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

 

Source:

https://www.bangkokbiznews.com/business/biz-bizweek/1069290

https://www.bangkokbiznews.com/health/well-being/1024367\

https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Green-FB-12-10-21.aspx

https://www.marketingoops.com/news/biz-news/green-building/

 

ผู้เขียนบทความ

ฝ่ายพัฒนาการลงทุนอย่างยั่งยืน 
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย