Topic

CG Today : เส้นทางแห่งความโลภ บทเรียนจากห้องประชุมสู่ห้องขัง


จุดเริ่มต้นของความโลภ

ย้อนกลับไปหกเดือนก่อน บมจ.วิวัฒน์พลัส บริษัทจดทะเบียนที่ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานทดแทน กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด ราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้นกว่า 300% ในรอบปี โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หลายโครงการกำลังจะเริ่มดำเนินการ นักวิเคราะห์หลายสำนักแนะนำ "ซื้อ" ด้วยราคาเป้าหมายที่สูงขึ้นอีก 50% “แต่เบื้องหลังความสำเร็จ กลับซ่อนแผนการทุจริตที่แยบยล”


 

เส้นทางแห่งความโลภ: บทเรียนจากห้องประชุมสู่ห้องขัง
 

แสงไฟสลัวในห้องอาหาร ชั้น 5 ของโรงแรมสุดหรู ใจกลางกรุงเทพฯ สาดส่องลงบนใบหน้าของชายวัยกลางคนสองคนที่นั่งอยู่มุมห้อง พวกเขากำลังจิบไวน์แดงราคาแพงพลางพูดคุยกันเบา ๆ เสียงดนตรีคลาสสิกบรรเลงคลอเบา ๆ ในขณะที่วิวแม่น้ำเจ้าพระยายามค่ำคืนทอดยาวอยู่เบื้องหน้า

“คุณมั่นใจนะว่าแผนนี้จะไม่มีใครรู้” วิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการของ บมจ.วิวัฒน์พลัส กระซิบถามเพื่อนร่วมงาน

“ผมวางแผนมาหมดแล้ว” โชติศักดิ์ รองกรรมการผู้จัดการ ตอบพลางยิ้มมุมปาก “เราแค่ต้องทำทุกอย่างผ่านบริษัทลูกสองบริษัท แล้วใช้การนำเข้าอุปกรณ์โซลาร์จากต่างประเทศเป็นตัวบังหน้า”

 

 

กลไกการทุจริต

แผนการทุจริตเริ่มจากการจัดซื้ออุปกรณ์จากผู้ผลิตในต่างประเทศ แต่มีการบวกราคาเพิ่มผ่านบริษัทคนกลางและบริษัทย่อย จากราคาต้นทุนที่ 0.45 ดอลลาร์ต่อวัตต์ ถูกบวกเพิ่มเป็น 0.62 ดอลลาร์ต่อวัตต์ ส่วนต่างกว่า 30% ถูกนำไปแบ่งปันระหว่างผู้เกี่ยวข้อง สร้างความเสียหายรวมกว่า 500 ล้านบาท

พวกเขาใช้บริษัทย่อยสองแห่งเป็นตัวกลาง แห่งแรกรับผิดชอบการนำเข้าอุปกรณ์ ส่วนอีกแห่งดูแลด้านซอฟต์แวร์ ทั้งคู่ถูกควบคุมโดยคนใกล้ชิดของวิวัฒน์และโชติศักดิ์ ทำให้การปกปิดการทุจริตทำได้ง่าย

 

จุดเริ่มต้นของการเปิดโปง

แสงไฟในห้องทำงานชั้น 15 ของสำนักงาน ก.ล.ต. ยังคงสว่างจ้า แม้นาฬิกาจะบ่งบอกเวลาเกือบเที่ยงคืน สุภา เจ้าหน้าที่ตรวจสอบอาวุโสนั่งจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์อย่างเคร่งเครียด เธอกำลังตรวจสอบรายการธุรกรรมของ บมจ.วิวัฒน์พลัส เป็นครั้งที่สิบในรอบสัปดาห์

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อพนักงานบัญชีอาวุโสของบริษัทย่อยตัดสินใจเป็นผู้แจ้งเบาะแส นำหลักฐานสำคัญมาให้ ก.ล.ต. ทั้งบันทึกการประชุมลับ เอกสารการสั่งซื้อที่มีการแก้ไข และอีเมลที่แสดงถึงการสมรู้ร่วมคิด

“ดิฉันทนไม่ไหวแล้ว” เธอกล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ “ทุกครั้งที่ต้องลงบัญชีรายการเหล่านั้น มันทรมานใจมาก บริษัทที่มีธุรกิจดี ๆ ที่หมายฝากความมั่นคงในชีวิตจะทำแบบนี้ และดิฉันก็ไม่อยากต้องรับโทษด้วยกับการกระทำของผู้บริหารค่ะ”

 

 

การจับกุมและบทลงโทษ

หลังจากรวบรวมหลักฐานเป็นเวลา 6 เดือน สำนักงาน ก.ล.ต. ร่วมกับ DSI และ ปปง. เข้าจับกุมผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด “ไม่มีใครคิดว่าชีวิตจะพลิกผันขนาดนี้” เสียงสั่นเครือภรรยาของวิวัฒน์กล่าวในวันที่สามีถูกคุมตัวเข้าเรือนจำ การกระทำผิดนำมาซึ่งบทลงโทษที่รุนแรงทั้งทางกฎหมายและสังคม

  • การถูกขึ้นบัญชีดำจากสำนักงาน ก.ล.ต. ตลอดชีวิต ปิดโอกาสการเป็นผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียนทุกแห่ง
  • ชื่อเสียงและเกียรติยศที่สั่งสมมานาน พังทลายในชั่วข้ามคืน
  • บุตรสาวของโชติศักดิ์ ต้องลาออกจากโรงเรียน เพราะทนแรงกดดันจากเพื่อนและผู้ปกครองไม่ไหว
  • ภรรยาของวิวัฒน์ต้องย้ายออกจากหมู่บ้านหรูที่อยู่มานาน หลังถูกสังคมรังเกียจ
  • ทรัพย์สินทั้งหมดถูกอายัด รวมถึงบ้าน รถยนต์ และเงินในบัญชี เพื่อชดใช้ความเสียหายกว่า 500 ล้านบาท
  • ลูกชายของวิวัฒน์ ถูกปฏิเสธการเข้าทำงานในบริษัทชั้นนำหลายแห่ง แม้จะมีวุฒิการศึกษาดีเยี่ยม


กรณีนี้กลายเป็นบทเรียนราคาแพงที่เตือนใจผู้บริหารทุกคนว่า ความโลภชั่ววูบอาจทำลายทุกสิ่งที่สร้างมาทั้งชีวิต และผลกระทบไม่ได้จำกัดอยู่แค่ตัวผู้กระทำผิด แต่ลุกลามไปถึงครอบครัวและคนที่รักอย่างไม่อาจเยียวยา

 


 
บทส่งท้าย
 

ในห้องอาหารหรูคืนนั้น ไม่มีใครรู้ว่าการสนทนาของชายทั้งสองจะนำไปสู่หายนะ ทั้งต่อตัวเอง ครอบครัว และผู้ถือหุ้นนับหมื่นราย วันนี้ วิวัฒน์และโชติศักดิ์ใช้ชีวิตอยู่หลังกำแพงเรือนจำ สูญเสียทุกสิ่งที่สร้างมาตลอดชีวิตเพียงเพราะความโลภชั่ววูบ

สำหรับนักลงทุน เรื่องราวนี้เป็นเครื่องเตือนใจว่า การลงทุนที่ดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ตัวเลขเพียงอย่างเดียว แต่ต้องพิจารณาถึงธรรมาภิบาลและความซื่อสัตย์ของผู้บริหารด้วย

 


 

สัญญาณเตือนที่ถูกมองข้าม

  • ราคาหุ้นผันผวนผิดปกติก่อนประกาศงบการเงิน
  • อัตรากำไรสูงผิดปกติเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรม
  • การเปลี่ยนผู้สอบบัญชีกะทันหัน
  • รายการระหว่างกันที่มีมูลค่าสูงผิดปกติ

 

“เมื่อมองย้อนกลับไป สัญญาณเตือนเหล่านี้ชัดเจนมาก” นักวิเคราะห์ กล่าว “แต่เมื่อทุกคนมัวแต่หลงระเริงกับผลกำไรที่เพิ่มขึ้น สัญญาณเหล่านี้กลับถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย”

กรณีของ บมจ.วิวัฒน์พลัส จึงเป็นบทเรียนสำคัญที่เตือนให้นักลงทุนต้องตื่นตัวและระมัดระวังสัญญาณผิดปกติเหล่านี้ตลอดเวลา เพราะบางครั้ง “กำไรที่มากเกินไป อาจเป็นสัญญาณของความเสี่ยงที่ซ่อนอยู่” ก็เป็นได้

 

 

แหล่งข้อมูลสำหรับนักลงทุน

 

นอกจากนักลงทุนจะต้องติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่องก่อนตัดสินใจลงทุนแล้ว ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ให้ข้อมูลเกี่ยวกับหุ้นที่ผิดปกติ ซึ่งสามารถดูได้จากเมนูบนเว็บไซต์ set.or.th “Market Alert” ซึ่งเป็นข้อมูลข่าวสารสำคัญเพื่อเตือนนักลงทุนให้ศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน

พูดง่าย ๆ นอกจากต้องติดตามข้อมูลข่าวสารด้วยตัวเองแล้ว ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังช่วยนักลงทุนด้วยอีกทางหนึ่ง ผ่านการส่งสัญญาณในรูปของ “เครื่องหมาย” ท้ายชื่อหุ้น

โดยเครื่องหมายท้ายชื่อหุ้นที่สำคัญ ที่นักลงทุนควรรู้จัก ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนให้นักลงทุนต้องระมัดระวังว่า บริษัทมีเหตุการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อฐานะการเงินและการดำเนินธุรกิจ แบ่งออกเป็น 4 เครื่องหมาย

 

CB (Caution - Business) เป็นสัญญาณเตือนว่า บริษัทเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับฐานะการเงินหรือผลการดำเนินงาน

CS (Caution - Financial Statements) เครื่องหมายนี้ กำลังเตือนนักลงทุนให้ศึกษาข้อมูลในงบการเงินของบริษัทโดยละเอียด

CF (Caution - Free Float) บริษัทมีผู้ถือหุ้นรายย่อยน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งอาจกระทบต่อสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้น

CC (Caution - Non-Compliance) บริษัทไม่ปฏิบัติตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ 

 

บทบาทของระบบแจ้งเบาะแส

“ระบบการแจ้งเบาะแสที่มีประสิทธิภาพคือเกราะป้องกันที่สำคัญขององค์กร”  หากองค์กรสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้พนักงานกล้าที่จะแจ้งเบาะแส และมีระบบคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสที่เข้มแข็ง การทุจริตขนาดใหญ่จะถูกยับยั้งได้ตั้งแต่เริ่มต้น

จากการศึกษาพบว่า องค์กรที่มีระบบแจ้งเบาะแสที่มีประสิทธิภาพมักสามารถตรวจพบการทุจริตได้เร็วกว่า และมีมูลค่าความเสียหายน้อยกว่า ในทางกลับกัน องค์กรที่ไม่มีระบบแจ้งเบาะแส หรือมีแต่ไม่มีใครกล้าใช้ มักพบว่าเมื่อการทุจริตถูกเปิดโปง ความเสียหายมักมีมูลค่ามหาศาล เนื่องจากปล่อยให้การกระทำผิดดำเนินไปเป็นเวลานาน

หลายองค์กรภูมิใจที่ไม่มีการแจ้งเบาะแสเลย โดยคิดว่านั่นแปลว่าองค์กรปลอดทุจริต แต่ความจริงอาจตรงกันข้าม การไม่มีการแจ้งเบาะแสเลยอาจสะท้อนว่าพนักงานไม่กล้าแจ้ง ไม่เชื่อมั่นในระบบ หรือกลัวผลกระทบที่จะตามมาหรือไม่

กรณีของ บมจ.วิวัฒน์พลัส สะท้อนให้เห็นความสำคัญของระบบแจ้งเบาะแสที่มีประสิทธิภาพได้อย่างชัดเจน

 

 


 



ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย