Topic

นักลงทุนยุคใหม่ ไม่ต้องมูก็รู้อนาคตได้

 

  • นักลงทุนควรให้ความสำคัญกับข้อมูลที่สะท้อนอนาคต (Forward-looking Data) ซึ่งมีส่วนช่วยคาดการณ์แนวโน้มและทิศทางของธุรกิจที่เข้าไปลงทุน
  • ข้อมูลที่เป็นขุมทรัพย์ของนักลงทุน เช่น รายงานประจำปี หรือแบบ 56-1 One Report และแผนการเพิ่มมูลค่ากิจการ (Corporate Value Up Plan)
  • นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มความมั่นใจนักลงทุนสามารถไปสอบถามข้อมูลโดยตรงกับบอร์ดและผู้บริหารบริษัทในงาน Opportunity Day และที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี (AGM) ได้อีกด้วย

 


 

Warren Buffett ปรมาจารย์ด้านการลงทุนเน้นคุณค่าหรือ Value Investor (VI) เคยกล่าวไว้ว่า "The rear-view mirror is always clearer than the windshield” หรือ “กระจกมองหลังมักจะชัดเจนกว่ากระจกหน้ารถเสมอ" เป็นคำพูดเตือนใจนักลงทุนว่า การมองย้อนกลับไปในอดีตมักจะง่ายกว่าการคาดการณ์อนาคต และผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้รับประกันผลลัพธ์ในอนาคต นักลงทุนจึงไม่ควรตัดสินใจลงทุนโดยอ้างอิงจากข้อมูลในอดีตเพียงอย่างเดียว

 

 

ในการลงทุน ข้อมูลสำคัญที่ต้องนำมาใช้ในการตัดสินใจลงทุนอาจแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ 1) ข้อมูลในอดีต (Historical Data) ซึ่งเป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นและเห็นผลแล้ว และ 2) ข้อมูลที่สะท้อนอนาคต(Forward-looking Data) ซึ่งเป็นข้อมูลที่บ่งชี้แนวโน้มและทิศทางการดำเนินธุรกิจในอนาคต โดยข้อมูลทั้ง 2 ส่วนจะช่วยให้นักลงทุนคาดการณ์แนวโน้มและทิศทางการลงทุนให้สอดคล้องกับเป้าหมายการลงทุน โดยประเมินและบริหารจัดการทั้งความเสี่ยงและโอกาสที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการวิเคราะห์มูลค่าที่แท้จริงของหลักทรัพย์ ก่อนจะตัดสินใจลงทุน  

 

นักลงทุนหาข้อมูล Forward-looking ได้จากไหน

เมื่อนักลงทุนเข้าใจดีว่า Forward-looking Data มีส่วนสำคัญในการชี้ชะตาความสำเร็จในการลงทุน คำถามสำคัญคือแล้วนักลงทุนจะสามารถค้นหาข้อมูลนี้ได้จากที่ไหน อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่าข้อมูลนี้หาได้จากหลายแหล่ง ซึ่งจะขอจัดกลุ่มง่าย ๆ เป็นข้อมูลที่บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยอยู่แล้ว และข้อมูลที่อยู่ในรูปแบบต่าง ๆ จากหลากหลายแหล่งข้อมูล

 

ตัวอย่างข้อมูล Forward-looking ที่บริษัทเปิดเผยกันอยู่

ข้อมูลที่เรียกได้ว่าเป็นขุมทรัพย์ของนักลงทุนเลย เช่น รายงานประจำปี หรือแบบ 56-1 One Report หากลองไปวิเคราะห์ดู จะพบว่าข้อมูลในหลายส่วนในรายงานจะช่วยให้นักลงทุนสามารถประเมินทิศทางในการดำเนินธุรกิจได้ เช่น

  • สารจากประธานกรรมการและผู้นำองค์กร มักให้ข้อมูลที่สะท้อนวิธีคิดและแนวทางในการดำเนินธุรกิจที่บริษัทยึดมั่น และข้อมูลที่บ่งบอกถึงปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจมหภาค แนวโน้มของอุตสาหกรรม ทิศทางของตลาด และกลยุทธ์การปรับตัวขององค์กร ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันและทิศทางการทำธุรกิจด้วยกันทั้งสิ้น
  • โครงสร้างและการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท หัวข้อสำคัญที่นักลงทุนไม่ควรมองข้าม เช่น หัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการที่สำคัญ” สะท้อนสิ่งที่ธุรกิจได้ลงทุน ปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงในปีที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนประเมินทิศทางการเติบโตของธุรกิจในอนาคต
  • การบริหารจัดการความเสี่ยง นำเสนอนโยบายและแผนการบริหารความเสี่ยงทั้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและปัจจัยความเสี่ยงใหม่ ๆ (Emerging Risk) ที่อาจจะกระทบต่อธุรกิจในอนาคต
  • การขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืน มักระบุกลยุทธ์การทำธุรกิจในระยะยาว โดยวิเคราะห์ประเด็นสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน (Material Issues) โดยอาจครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ ในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ซึ่งท้ายที่สุดแล้วย่อมส่งผลต่อฐานะการเงินของบริษัท
  • การวิเคราะห์และคำอธิบายของฝ่ายจัดการ (MD&A) นักลงทุนควรอ่านประกอบกับการวิเคราะห์งบการเงินและหมายเหตุประกอบงบการเงิน ซึ่งจะสะท้อนความเห็นของผู้บริหารเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและที่จะมีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อฐานะการเงินและอนาคตของบริษัท การอ่าน MD&A จึงถือเป็นเรื่อง “จำเป็น” สำหรับนักลงทุน นอกจากนี้ ข้อมูลประมาณการทางการเงิน เช่น ประมาณการรายได้ ประมาณการรายจ่ายฝ่ายทุน (Capital Expenditures) ประมาณการกระแสเงินสด แผนการลงทุน ยังช่วยให้นักลงทุนสามารถทำประมาณการทางการเงิน (Financial Projection) ของบริษัทได้อีกด้วย
  • รายงานความเห็นของผู้สอบบัญชี เรียกได้ว่าเป็นจุดไฮไลต์ที่สำคัญเลย นักลงทุนจะสบายใจเชื่อมั่นได้ในระดับหนึ่งถ้าพบว่า “งบการเงินนี้ถูกต้องตามที่ควรในสาระสําคัญตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน” หรือ “ไม่พบสิ่งที่เป็นเหตุให้เชื่อว่าข้อมูลทางการเงินดังกล่าวไม่ได้จัดทำขึ้นตามมาตรฐานการบัญชี” แต่ถ้าพบว่า “ข้าพเจ้าไม่สามารถแสดงความเห็นต่องบการเงินของบริษัท” ก็น่าจะเป็น red flag ที่เตือนให้เราเอะใจได้แล้ว

 

นอกจากนี้ ในปี 2568 บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งยังให้ความสนใจเปิดเผยแผนการเพิ่มมูลค่ากิจการ (Corporate Value Up Plan) ซึ่งเป็นการนำเสนอข้อมูลในลักษณะ “มองไปข้างหน้า” ที่จะเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุน เช่น

 

  • แผนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มมูลค่ากิจการ จะช่วยให้นักลงทุนเข้าใจโมเดลหรือรูปแบบธุรกิจ (Business Model) ที่จะมีส่วนเสริมสร้างคุณค่าของกิจการ แผนธุรกิจหรือแผนการดำเนินงาน (Business Plan) ที่สะท้อนกลยุทธ์ในการเพิ่มมูลค่าหรือสร้างการเติบโตทางธุรกิจ นอกจากนี้ ยังมีหัวข้อ “บทบาทและการกำกับดูแลของคณะกรรมการบริษัทในการสร้างมูลค่าให้กิจการ” ที่สะท้อนความเข้มแข็งในการกำกับดูแลกิจการของธุรกิจได้เป็นอย่างดี ทั้งหมดนี้จะช่วยให้นักลงทุนมองเห็นเป้าหมายระยะยาวและกลยุทธ์ในการเติบโตของบริษัท สามารถประเมินศักยภาพการเติบโตในอนาคต ไปพร้อมกับเข้าใจความเสี่ยงและวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของแผนงาน เพื่อการตัดสินใจลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

ตัวอย่างข้อมูล Forward-looking ในรูปแบบต่าง ๆ

  • บทวิเคราะห์ (Analyst Report) / รายงานการวิเคราะห์อุตสาหกรรม (Industry Outlook) ถือเป็นตัวช่วยที่ดีสำหรับนักลงทุน เพราะนักวิเคราะห์การลงทุนได้ช่วยสรุป ช่วยย่อยข้อมูลมาให้แล้ว แต่นักลงทุนต้องไม่ลืมว่า บทวิเคราะห์เขียนขึ้นจากความเห็นส่วนตัวของนักวิเคราะห์ก็อาจมีมุมมองเฉพาะตัวได้ นักลงทุนจึงควรศึกษาบทวิเคราะห์จากโบรกเกอร์หลาย ๆ แห่งมาเปรียบเทียบประกอบกัน
  • รายงานความเสี่ยงระดับโลก (Global Risks Report) สะท้อนมุมมองของผู้บริหารธุรกิจชั้นนำของโลก ช่วยให้นักลงทุนมองเห็นประเด็นความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการลงทุนและทิศทางของธุรกิจในระยะสั้น กลาง ยาว พร้อมช่วยค้นหาโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้เราปรับพอร์ตการลงทุนให้ยืดหยุ่นและเท่าทันกับความไม่แน่นอนได้ดียิ่งขึ้น
    ตัวอย่าง Global Risks Report 2025 ระบุว่า ปัจจัยความเสี่ยงสำคัญในระยะ 10 ปี เช่น เหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรง การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการล่มสลายของระบบนิเวศ การเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศโลกอย่างรุนแรง และการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ สะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนในอนาคตต้องคำนึงถึงการรับมือและการบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก

 

 

เช็กให้ชัวร์โดยตั้งคำถามในงาน Opportunity Day และที่ประชุมผู้ถือหุ้น

นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล นักลงทุนสามารถไปสอบถามเพิ่มเติมได้โดยการเข้าร่วมงาน Opportunity Day หรือที่นักลงทุนเรียกกันติดปากว่า "งาน Opp Day" ในแต่ละไตรมาส และเข้าร่วมการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี (Annual General Meeting หรือ AGM) ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี เพื่อตั้งคำถาม ตรวจสอบการทำงาน และให้ข้อสังเกตกับคณะกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่เราถือหุ้นอยู่ได้ ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในการลงทุนแล้ว ยังเป็นการรักษาและปกป้องผลประโยชน์ของตนเองโดยการใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมเพื่อมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอีกด้วย

 

 

นอกจากนี้ การเข้าร่วมเป็นสมาชิกในสมาคมและเพจต่าง ๆ ที่น่าเชื่อถือและได้รับการตรวจสอบยืนยันว่าไม่ใช่มิจฉาชีพ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักลงทุนอื่น ๆ ก็ยังเป็นอีกช่องทางสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนสำหรับนักลงทุนยุคดิจิทัล

โดยสรุป การตัดสินใจลงทุนต้องอาศัยทั้งข้อมูลที่สะท้อนอดีตและมองไปในอนาคตข้างหน้า นักลงทุนจึงควรศึกษาข้อมูลให้รอบด้านก่อนการตัดสินใจลงทุน เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายในการลงทุนได้อย่างที่ตั้งใจไว้

ท่านสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ESG ได้ที่: SET ESG Academy (Website) (Line)

และตรวจสอบรายชื่อบริษัทจดทะเบียนที่เปิดเผย Corporate Value Up Plan ได้จากหัวข้อ “แผนการเพิ่มมูลค่ากิจการ” (Website)

 

หมายเหตุ: บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลสำหรับการศึกษาในเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

 


 

ผู้เขียนบทความ

โดย กัญญารัตน์ ทวีศิริธนากุล

ฝ่ายพัฒนาการลงทุนอย่างยั่งยืน 
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย