Topic

Sustainable Finance Initiatives for Thailand

Sustainable Finance Initiatives for Thailand

(การพัฒนาภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน)

ประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญของการเติบโตของเศรษฐกิจที่ยั่งยืน รวมถึงความเป็นอยู่ที่ดีของภาคธุรกิจและประชาชน โดยที่ผ่านมาได้ให้การรับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติในปี 2558 เพื่อร่วมกันพัฒนาโลกให้มีความสมดุลและยั่งยืน และให้สัตยาบันต่อความตกลงปารีส (Paris Agreement) ในปีต่อมา ซึ่งให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20-25 จากกรณีฐาน (Business-as-usual) ภายในปี 2573 

ภาคการเงินในฐานะที่เป็นตัวกลางในการจัดสรรเงินทุนในระบบเศรษฐกิจ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของประเทศ โดยปัจจุบันหน่วยงานในภาคการเงินได้เริ่มนำแนวคิดการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) มาผนวกในกลยุทธ์การทำธุรกิจซึ่งคำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ในทุกกระบวนการอย่างจริงจัง

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญนี้ หน่วยงานกำกับดูแลในภาคการเงินได้จัดตั้งคณะทำงานด้านความยั่งยืนในภาคการเงิน (Working Group on Sustainable Finance) ซึ่งประกอบด้วย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อร่วมมือกันกำหนดทิศทางการดำเนินการด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนในภาคการเงินไทยที่ชัดเจนและสอดคล้องกัน

ในวันที่18 สิงหาคม 2564 Working Group on Sustainable Finance ได้ร่วมกันเผยแพร่แนวทางการพัฒนาภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance Initiatives for Thailand) ซึ่งเป็นหนึ่งในความร่วมมือสำคัญเพื่อกำหนดทิศทางและกรอบการดำเนินงานด้าน sustainable finance ในภาคการเงินไทย โดยได้ระบุแนวทางขับเคลื่อนสำคัญ 5 ข้อ รายละเอียดดังนี้

1) Developing a Practical Taxonomy: การกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่โครงการหรือกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นมาตรฐานเดียวกัน (Taxonomy) เพื่อให้ผู้กำกับดูแลใช้อ้างอิงในการออกนโยบายสนับสนุนการเงินที่ยั่งยืนให้สอดคล้องกัน และให้ผู้ประกอบธุรกิจการเงินนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์การขับเคลื่อนเป้าหมายด้านความยั่งยืน

2) Improving the Data Environment: การเปิดเผยข้อมูล ESG ที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการติดตาม วิเคราะห์ และตัดสินใจทางการเงิน รวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์และนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ อีกทั้ง สามารถจำแนกประเภทการลงทุนและวัดความเสี่ยงของสินทรัพย์ที่เกิดจากประเด็นด้าน ESG ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเพิ่มความโปร่งใสในการกำกับและตรวจสอบการดำเนินธุรกิจ 

3) Implementing Effective Incentives: การสร้างมาตรการจูงใจ (Incentives) เพื่อกระตุ้นให้เกิดตลาดและการลงทุนในผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืน โดยส่งเสริมให้ทั้งฝั่งผู้ระดมทุนและผู้ลงทุนเห็นโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีด้วยความเสี่ยงที่ต่ำลง

4) Creating Demand-led Products and Services: การสร้างสภาพแวดล้อมที่จะเอื้อให้ผู้เล่นในภาคการเงินสามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องมือทางการเงินที่ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน ในขณะที่ปรับลดกฎเกณฑ์เพื่อลดภาระสำหรับการออกผลิตภัณฑ์และบริการใหม่

5) Building Human Capital: การสร้างทรัพยากรบุคคลในภาคการเงินที่มีคุณภาพและมีองค์ความรู้ในการผลักดันงานด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนให้เห็นผลเป็นรูปธรรม

การดำเนินงานทั้ง 5 ข้อดังกล่าว จะเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยให้ภาคการเงินมีระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ที่เอื้อให้การจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจตั้งอยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืนและสร้างประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน

 

  VDO Clip: แถลงข่าว Sustainable Finance Initiatives for Thailand  

 

 

  เอกสารประกอบ: Sustainable Finance Initiatives for Thailand  

 

Press Release (Thai)
ข่าวประชาสัมพันธ์ (ภาษาไทย)
แนวทางการพัฒนาภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน

Press Release (English)
ข่าวประชาสัมพันธ์ (ภาษาอังกฤษ)
แนวทางการพัฒนาภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน

e-Book
หนังสือเสริมสร้างความรู้ด้าน
การพัฒนาภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน