Topic
เศรษฐกิจโตขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมลดลง ด้วยการฟื้นฟูสีเขียว (Green Recovery)
เป็นไปได้หรือไม่?
เศรษฐกิจโตขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมลดลง (Decoupling) ด้วยการฟื้นฟูสีเขียว (Green Recovery)
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การระบาดของโควิด-19 ส่งผลเสียอย่างมหาศาลต่อโลกในทุก ๆ ด้าน นอกจากชีวิตผู้คนทั่วโลกแล้ว ด้านเศรษฐกิจถูกกระทบอย่างหนัก เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ภาครัฐต่างมองหาแนวทางในการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจจะเป็นรูปแบบเดิมที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ และคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรองลงมา หรือจะมองว่า วิกฤติโควิด-19 เป็นโอกาสอันดีในการเริ่มพัฒนาทั้งเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคมควบคู่กัน
ทุกคนคงพอทราบกันอยู่แล้วว่า โควิด-19 นี้ เกิดจากการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จากค้างคาวสู่คน แต่ทุกคนอาจจะคาดไม่ถึงว่าโรคอุบัติใหม่นี้มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับการทำลายสิ่งแวดล้อม การล่มสลายของระบบนิเวศ รวมถึงภาวะโลกรวน (Climate Change) ที่กลายเป็นปัญหายุ่งเหยิงและทับซ้อนกันลงไป และนำมาซึ่งความเจ็บปวดและทุกข์ยากของประชาชนทุกคน ดังนั้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ไข (Collective Action) ไม่อาจเพิกเฉยหรือละเลยได้อีกต่อไปแล้ว
นักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมมองว่า ตอนนี้เป็นโอกาสดีที่จะปรับนโยบายเศรษฐกิจของประเทศให้เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยไม่สร้างผลเสียต่อเศรษฐกิจด้วย จึงเกิดแนวคิด "การฟื้นฟูสีเขียว หรือ Green Recovery" ซึ่งเป็นคำเรียกแนวทางและมาตรการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในลักษณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเติบโตแบบยั่งยืน
Green Recovery ถูกคิดค้นขึ้นมาบนหลักการที่ท่านคงคุ้นเคยกันบ้างกับคำว่า ‘Decoupling’ ซึ่งถูกนำมาอ้างถึงในการประชุมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมในระดับโลกเสมอ ๆ ความหมายตามพจนานุกรม คือ ‘แยกออกจากกัน’ ส่วนความหมายที่นักเศรษฐศาสตร์นำมาใช้และยกเป็นหลักการคือ ‘การแยกออกจากกันระหว่างอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น (Economic Output) และความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Pressure)’
องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ได้แบ่ง Decoupling ในบริบทของสิ่งแวดล้อมออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ
- Absolute Decoupling คือ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ในขณะที่อัตราความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติคงที่หรือลดลง
- Relative Decoupling คือ อัตราการเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติที่สูงขึ้นแต่ไม่สูงไปกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ที่มา: (Fedrigo-Fazio et al., 2016) |
ตามข้อมูลทางสถิติจาก Our World in Data ที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศต่อหัว (GDP per Capita) ของสหราชอาณาจักร (United Kingdom) ตั้งแต่ปี 1990 พบว่า ตลอดสามสิบปีที่ผ่านมา GDP per Head เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่การผลิตและบริโภคก๊าซเรือนกระจกต่อหัวลดลงอย่างมากซึ่งตรงกับหลักการ Decoupling ที่ว่า อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้น ในขณะที่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลดน้อยลง (รูปแบบAbsolute Decoupling) และนอกจากสหราชอาณาจักรแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศที่กำลังพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน เช่น
ประเทศสวีเดน เป็นต้น
ดังนั้น จึงอาจเป็นโอกาสที่ดีในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจแบบยั่งยืน โดยอิงมุมมองจากหลักการ Decoupling เพื่อที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมให้เติบโตได้ โดยส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
รายงานล่าสุดของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) มองว่า แนวทางการฟื้นฟูสีเขียวจำเป็นอย่างยิ่งต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของอาเซียนหลังวิกฤติโควิด-19 เนื่องจากเหตุผล 4 ประการ คือ
- การฟื้นฟูสีเขียว มีความสำคัญในการป้องกันโรคระบาด หรือโรคอุบัติใหม่ในอนาคต เนื่องจากประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพของมนุษย์
- การฟื้นฟูสีเขียว มีความสำคัญในการสร้างความสามารถในการรับมือการเปลี่ยนแปลง (Resilience) จากภาวะโลกรวนและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Loss) รวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค
- การฟื้นฟูสีเขียว มีศักยภาพอย่างยิ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ (Economic Stimulus)
- การฟื้นฟูสีเขียว จำเป็นต่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งและความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาคในระยะยาว
และยังชี้ให้เห็นถึง 5 โอกาสสำคัญหากภูมิภาคอาเซียนนำแนวคิดการฟื้นฟูสีเขียวมาปรับใช้ เพื่อนำไปสู่ ‘การเติบโตสีเขียว หรือ Green Growth’ ต่อไป ได้แก่
- การเกษตรปฏิรูปเพื่อฟื้นฟูดิน (Regenerative Agriculture)
- การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน (Sustainable Urban Development) และโมเดลขนส่งสาธารณะ
- การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด (Clean Energy Transition)
- เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
- มหาสมุทรที่อุดมสมบูรณ์ (Productive and Healthy Oceans)
ซึ่งทั้งหมดนี้อาจต้องใช้เงินในการลงทุนมากถึง 176,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6.2 ล้านล้านบาท เพื่อที่จะให้ผลตามเป้าหมายที่วางไว้ อย่างไรก็ตาม นี่เป็นโอกาสสำคัญต่อภาคแรงงานที่จะนำมาซึ่งการจ้างงานคุณภาพกว่า 30 ล้านตำแหน่งภายในปี 2030 และจากการวิเคราะห์ของ ADB ยังพบว่า โอกาสเหล่านี้มีความสัมพันธ์สูงกับ 169 เป้าหมายย่อยภายใต้ 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์กรสหประชาชาติ (United Nations’ Sustainable Development Goals) ซึ่งหากทำได้ตามแนวทางข้างต้นจะสามารถบรรลุเป้าหมาย UN SDGs กว่า 60% อีกด้วย
โดยสรุปจะเห็นได้ว่า แนวคิดด้านความยั่งยืนหรือด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่ถูกพูดถึงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้น ล้วนมาจากการคิด วิเคราะห์บนหลักการทางวิทยาศาสตร์ (Science-Based) ประสบการณ์ และข้อมูลที่ได้รับการพิสูจน์แล้วทั้งสิ้น ประกอบกับวิกฤติโควิด-19 ที่เป็นตัวเร่งให้เห็นถึงปัญหาของโลกที่มีอยู่และต้องการการแก้ไข ทำให้แนวคิดการฟื้นฟูสีเขียวนี้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการออกแบบนโยบาย ไม่ว่าจากภาครัฐหรือเอกชน ซึ่งสามารถหวังผลที่มั่นคงในระยะยาว เป็นโอกาสในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป
ประเทศไทยเอง ก็ได้นำหลักการและแนวคิดดังกล่าวมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศ โดยประกาศโมเดล "เศรษฐกิจ BCG" เป็นวาระแห่งชาติ เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2021 ที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนระดับภูมิภาคและระดับโลก โมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) คือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นแนวคิดการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (First S-Curves) ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุ อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ โดยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ผลิตที่เป็นฐานการผลิตเดิม เช่น เกษตรกรและชุมชน ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงหรือนวัตกรรม กล่าวคือ โมเดลนี้จะเป็นกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และป้องกันจากการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
จากรากฐานทรัพยากรทางธรรมชาติ วัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามโมเดล BCG จะสร้างโอกาสธุรกิจใหม่ ๆ ตามมาอีกมาก ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างร่วมกันปรับตัวโดยเริ่มจากสิ่งที่เราทำได้ดีและมีอยู่แล้ว ให้เกิดการสร้างมูลค่า ผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นและนำไปสู่การต่อยอดอื่น ๆ ในอนาคต
ตัวอย่างของโอกาสทางธุรกิจภายใต้โมเดล BCG
- Bio Economy เศรษฐกิจชีวภาพ คือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มุ่งที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง โดยมีตัวอย่างโอกาสธุรกิจดังนี้
- ธุรกิจอาหาร Plant-based Meat, นมวัว Lactose Free
- ธุรกิจพลังงาน Bio-Fuel, Sustainable Aviation Fuels (SAF)
- Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน คือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เน้นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า และนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยตัวอย่างโอกาสธุรกิจ ได้แก่
- ธุรกิจก่อสร้างที่นำเทคโนโลยีมาช่วยคำนวณการใช้วัตถุดิบตั้งแต่กระบวนการออกแบบ เพื่อลดของเสีย
- ธุรกิจที่นำวัตถุดิบรีไซเคิลมาใช้ เช่น นวัตกรรมเส้นด้ายพลาสติกรีไซเคิล อุปกรณ์ภายในรถยนต์ที่ทำจากส่วนผสมพลาสติกรีไซเคิล ขวดแก้ว กระป๋องอะลูมิเนียม เป็นต้น
- ธุรกิจให้เช่าหรือส่งต่อ เช่น co—office space, สินค้ามือสอง เป็นต้น
- Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว คือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน โดยตัวอย่างโอกาสธุรกิจ ได้แก่
- การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EVs และยานยนตร์ไร้คนขับ
- ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism)
หรือการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ โมเดลเศรษฐกิจ BCG เช่น การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาสร้างต้นแบบบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม
เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาและเป็นสื่อกลางในการสร้างความร่วมมือให้กับทุกภาคส่วน เป็นต้น
ทั้งนี้ แม้อุตสาหกรรมเป้าหมายเดิม (First S-Curve) จะมีมูลค่าสูงก็จริง แต่ก็อาจช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้เพียงระยะสั้น-กลางเท่านั้น เพราะความต้องการตลาดกำลังเปลี่ยนไป ทรัพยากรธรรมชาติ กฏเกณ์กติกาก็เปลี่ยนไป อุตสาหกรรมเดิมที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาจมีต้นทุนสูงขึ้นและไม่ให้ผลตอบแทนเช่นเดิม จึงต้องถูกหันมาให้ความสนใจกับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต(New S-Curve) ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์, การบินและโลจิสติกส์, เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, ดิจิทัลและการแพทย์ครบวงจร เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดและมั่นคงในระยะที่ยาว ควบคู่ไปกับสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีนั่นเอง
*********************************
References
International Resource Panel, United Nations Environment Programme. Sustainable Consumption and Production Branch, 2011. Decoupling natural resource use and environmental impacts from economic growth. UNEP/Earthprint.
Lenaerts, K., Tagliapietra, S. and Wolff, G.B., 2022. The Global Quest for Green Growth: An Economic Policy Perspective. Sustainability, 14(9), p.5555.
Lim, G., Ng, T.H. and Zara, D., 2021. Implementing a green recovery in Southeast Asia.
Our World in Data. 2020. Change in per capita CO₂ emissions and GDP. [online] Available at: https://ourworldindata.org/grapher/co2-emissions-and-gdp-per-capita.
Vadén, T., Lähde, V., Majava, A., Järvensivu, P., Toivanen, T., Hakala, E., & Eronen, J. T. (2020). Decoupling for ecological sustainability: A categorisation and review of research literature. Environmental science & policy, 112, 236–244. https://doi.org/10.1016/j.envsci.2020.06.016
ZHENWEI QIANG, C., SAURAV, A. and VINEY, B., 2021. Global investors shift focus to sustainability amid push for a green recovery. [online] World Bank Blogs. Available at: https://blogs.worldbank.org/psd/global-investors-shift-focus-sustainability-amid-push-green-recovery.
Nxpo.or.th. 2022. [online] Available at: https://www.nxpo.or.th/th/bcg-economy/.
Fedrigo-Fazio, D., Schweitzer, J.P., Ten Brink, P., Mazza, L., Ratliff, A. and Watkins, E., 2016. Evidence of absolute decoupling from real world policy mixes in Europe. Sustainability, 8(6), p.517.
Eec.vec.go.th. 2022. [online] Available at: Eec.vec.go.th.