Topic
Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (ตอนที่ 3)
Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (ตอนที่ 3)
บทความในตอนนี้จะกล่าวถึงสภาพแวดล้อมที่เป็นแรงผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (CE)ขึ้น ในมิติโครงสร้างของประชากร จากข้อมูลของ องค์การสหประชาชาติ (UN) ประมาณการว่า ประชากรของโลกที่จัดว่าเป็นกลุ่มคนชั้นกลาง (Middle class) ในปี 2018 มีถึง 3.6 พันล้านคน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.3 พันล้านคนในปี 2030 การเติบโตขึ้นของประชากรกลุ่มนี้หมายคงามว่าจะมีความต้องการบริโภคสินค้าประเภท More resource-intensive goods เช่น เนื้อสัตว์ ที่อยู่อาศัย และยานพาหนะ เป็นต้น เพิ่มขึ้น มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2030 โลกจะมีความต้องการด้านอาหารเพิ่มขึ้น 30% ความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้น 40% และมีความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอีก 50% จะมัการแย่งชิงทรัพยากรจนทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำมากขึ้นในโลก รวมทั้งจะเกิดปัญหาความตึงเครียดในเขิงภูมิรัฐศาสตร์บนพื้นที่ต่างๆ
ในด้านการใช้ทรัพยากร แม้ว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่จะช่วยเพิ่มปริมาณและคุณภาพของทรัพยากรได้แต่ก็คงไม่ทันกับการเพิ่มขึ้นของการบริโภค มีการสรุปไว้ว่าแม้แต่ในปัจจุบันนี้โลกบริโภคเป็น 1.75 เท่า ของกำลังการผลิต แปลว่าเรามีคงามต้องการเกินกว่ากำลังการผลิตถึง 75% ทรัพยากรธรรมชาติที่มีจึงไม่มีทางเพียงพอ
ลองดูจากทรัพยากรสำคัญ 2 ชนิด ได้เเก่ น้ำสะอาด (Clean water) และ อากาศบริสุทธิ์ (Fresh air) ข้อมูลของ World Health Organization (WHO) ระบุว่า ปัจจุบันประชากรโลกประมาณ 785 ล้านคนยังขาดแคลนน้ำดื่ม และภายในปี 2025 ประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรโลกจะอยู่อาศัยในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ แม้แต่ในขณะนี้มีพลเมือง 4 พันล้านคน ดำรงชีวิตโดยมีระยะเวลาอย่างน้อย 1 เดือนใน 1 ปีที่ขาดแคลนน้ำ ยังพบด้วยว่ามีประชากรถึง 1.2 พันล้านคนที่มีความเสี่ยงจะเจอกับอุทกภัย และตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 พันล้านคนภายในปี 2050
ตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับพลาสติกก็น่ากลัวเช่นกัน ภายในปี 2050 คาดการณ์ว่าจำนวนน้ำหนักของขยะพลาสติกในมหาสมุทรจะมีน้ำหนักมากกว่าปลาทั้งหมดรวมกัน ในด้านอากาศนั้น มลพิษทางอากาศคาดว่าจะคร่าชีวิตคนได้ถึง 7 ล้านคนต่อปีเท่ากับคนที่เสียชีวิตจากโรคภัยที่มาจากการสูบบุหรี่ และปัญหามลพิษทางอากาศนี้ก็จะเป็นปัญหาคล้ายๆกันในพื้นที่ต่างๆของโลก
ในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ในเดือนตุลาคม 2018 ข้อมูลของ the International Panel on Climate Change (IPCC) ระบุว่าถ้าโลกยังถูกปล่อยให้ดำเนินต่อไปเช่นในปัจจุบัน อุณหภูมิของโลกจะเพิ่มขึ้นอีก 1.5 องศาเซลเซียส ภายในระหว่างปี 2030-2052 และอาจเพิ่มขึ้น 3-5 องศาเซลเซียสได้ภายในปี 2000 การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมินี้ส่งผลให้เกิดทั้งความแห้งแล้ง อุทกภัย ความผันผวนของอากาศ จนเป็นสภาพที่เรียกว่าภาวะโลกรวน และกระทบต่อคนจนอักหลายร้อยล้านคน ข้อมูลจาก IPCC ยังระบุว่าหากอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ภายในปี 2100 จะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 5.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หากอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส มูลค่านี้จะสูงขึ้นเป็น 6.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
ที่มา : Introduction: The Path to Transformation is Circular in The Circular Economy Handbook, Accenture Strategy, 2020
บทความโดย
รศ.(พิเศษ)ดร.กฤษฎา เสกตระกูล
ที่ปรึกษา
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย