Topic

Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (ตอนที่ 6)

Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (ตอนที่ 6)

ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) หรือ CE ถือว่าเป็นเเนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่ที่สามารถสร้างมูลค่าใหม่ ๆ ให้แก่ธุรกิจต่าง ๆ และทำให้เปลี่ยนโฉมหน้าของระบบเศรษฐกิจแบบเดิม (Linear Economy) ไปได้ในที่สุด จุดสำคัญของ CE ก็คือการขยายอายุของผลิตภัณฑ์ (Extending Product Lifespan) โดยผ่านการออกแบบใหม่หรือเสนอบริการรูปแบบใหม่ รวมไปถึงการหาวิธีจัดการขยะแบบใหม่ ซึ่งแต่เดิมนั้นขยะถือว่าอยู่ในจุดสุดท้ายของห่วงโซ่อุปทาน (The End of Supply Chain) ให้กลับขึ้นมาอยู่ในจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่ผ่านการกลับนำมาใช้ใหม่ เป็นต้น เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากกว่าเดิม

ข้อมูลจาก World Bank ในปี 2012 คาดการณ์ว่าปริมาณขยะในเขตเมืองต่าง ๆ ของโลกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวในปี 2032 หากไม่มีการดำเนินการอะไร และปริมาณขยะมหาศาลเหล่านี้ก็จะไม่ไปไหน นอกจากกลายเป็นมลพิษต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์แล้ว ยังมีผลทำให้สภาพแวดล้อมยิ่งเสื่อมโทรมลงไปอีก

ในระบบของ CE ให้ความสำคัญต่อ

  • การทำให้เกิดความคงทนถาวร (Durability)
  • การใช้ซ้ำ (Reuse)
  • การนำกลับมาหมุนเวียน (Recycle)
  • การนำวัตถุดิบจากผลิตภัณฑ์เดิมมาสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ (Materials For New Products Come From Old Products)

 

ในปี 2008 ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนได้มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับ Circular Economy Law เพื่อสนับสนุนให้เกิดการนำขยะมาพัฒนาเป็นวัตถุดิบเพื่อใช้ใหม่ และในปีเดียวกันนี้รัฐมนตรีของประเทศ G8 ประกาศแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินการจริงเรื่อง 3R ได้เเก่ Reduce, Reuse, Recycle และมาตอกย้ำอีกครั้งหนึ่งในปี 2015 ในที่ประชุม G7 Summit Leaders มีการประกาศเจตนารมณ์การสร้าง "Sustainable Supply Chains" เพื่อปกป้องแรงงานและสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันในปี 2015 The European Union ได้พัฒนา CE Package ขึ้น ซึ่งรวมเป้าหมายเกี่ยวกับ อาหาร และการนำพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำ 

ที่จริงแล้วมีตัวอย่างของธุรกิจที่ทำเรื่อง CE ได้ดี เช่น Nike, Google, H&M เป็นต้น โดยได้ริเริ่มและทำโครงการนี้บน Supply Chain ที่กระจายอยู่ทั่วโลก หรือตัวอย่างจากบริษัทเทคโนโลยีเชื้อสาย Dutch ชื่อ Phillips ก็ริเริ่มโครงการนำเอาเครื่องมืออุปกรณ์เเพทย์ เช่น เครื่อง MRI ที่ใช้แล้วมาทำให้ใหม่เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ต่อ หรือ Chilean Pump Technology ผู้ผลิต Neptuno Pumps ก็มีโครงการนำ Pumps เก่ามาใช้ซ้ำและหมุนเวียนในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ แม้ว่าจะไม่ระบุชื่อธุรกิจแต่ก็ทราบเป็นอย่างดีว่ามีการนำ Recycled Plastics เข้ามาเป็นชิ้นส่วนอะไหล่ต่าง ๆ ในการผลิตรถยนต์ เป็นต้น ข้อดีของการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่โดยใช้ขยะจากผลิตภัณฑ์เดิมนี้ ช่วยลดการใช้วัตถุดิบใหม่และลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาวัตถุดิบด้วย หากแนวโน้มความนิยมนี้ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง The Ellen MacArthur Foundation คาดการณ์ว่าภายในปี 2025 ธุรกิจต่าง ๆ จะประหยัดค่าใช้จ่ายจาก Material Cost Savings ได้สูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ  ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยสร้างมูลค่าในธุรกิจที่มุ่งมั่นแนว Circular Business Model

หากกระแสของเรื่อง CE ยังเดินหน้าและยังแรงอยู่ ในภาพรวมเราอาจจะได้เห็นประเทศที่พัฒนาแล้วและร่ำรวยประกาศนโยบายการยืดอายุการใช้ทรัพยากร และลดการพึ่งพา Imported Materials และผลิตภัณฑ์นำเข้าจากต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น เนเธอร์แลนด์ได้ประกาศเมื่อเร็ว ๆ มานี้ว่าจะลดการใช้ Primary Raw Materials จากกลุ่ม Minerals, Fossil Fuels, Metals ลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 และตั้งเป้าจะลดลงจนเป็น A Fully Circular Economy ภายในปี 2050 ส่วนประเทศกำลังพัฒนาก็ลำบากมากขึ้นเพราะอาจเข้าไม่ถึงแหล่งความรู้และเทคโนโลยี เกี่ยวกับ CE รวมทั้งผลิตภัณฑ์แบบเดิมที่เคยผลิตอยู่อาจจะถูกนำเข้าลดลงจากประเทศพัฒนาแล้ว สิ่งเหล่านี้จะกระทบต่อฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในระยะต่อไปหากไม่สามารถปรับตัวเข้าสู่ CE

 

ที่มา : Circular Economy, United Nations Industrial Development Organization (UNIDO), www.unido.org

บทความโดย
รศ.(พิเศษ)ดร.กฤษฎา เสกตระกูล
ที่ปรึกษา
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย