Topic

Social Return on Investment (SROI) ตอนที่ 3

SROI เป็นเครื่องมือที่ใช้วัดความคุ้มค่าของการลงทุนในโครงการโดยรวมผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยตีเป็นมูลค่าปัจจุบันให้เป็นตัวเงินและนำไปเปรียบเทียบกับมูลค่าปัจจุบันที่เป็นตัวเงินของเงินลงทุน ดังตัวอย่างต่อไปนี้

SROI = มูลค่าปัจจุบันสุทธิของผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม/มูลค่าปัจจุบันสุทธิของเงินลงทุน
   
โดยอธิบายได้ว่า 

SROI = เรานำเงินลงทุนไป 1 บาท สร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม…บาท ตัวอย่างเช่น

SROI = 40,000,000/8,000,000 = 5
อธิบายได้ว่า ลงทุนไป 1 บาท มีผลตอบแทนทางสังคมเกิดขึ้น 5 บาท

วิธี SROI จะคำนวณผลประโยชน์สุทธิที่เกิดขึ้นทั้งหมดหลังโครงการเพื่อสังคมถูกขับเคลื่อน และหากนำไปเปรียบเทียบกับผลประโยชน์สุทธิดั้งเดิมก่อนที่จะคำนึงถึงผลกระทบทางสังคม ส่วนแตกต่างนี้ก็คือผลประโยชน์สุทธิส่วนเพิ่มที่กระทบต่อสังคม ยิ่งค่า SROI มีค่าสูงก็จะสะท้อนเกิดผลกระทบทางบวกที่ดีต่อสังคมต่อ 1 หน่วยของเงินลงทุน

ผลประโยชน์สุทธิที่เกิดขึ้นอาจตีความว่าเป็น ผลตอบแทน ซึ่งเป็น "คุณค่า" ของโครงการ แต่ถูกตีมูลค่าออกมาเป็นตัวเงิน เพื่อให้ง่ายต่อการอธิบาย ผลประโยชน์สุทธิอาจแบ่งออกได้เป็น 3 กรณี ดังต่อไปนี้

  1. ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นเชิงสิ่งแวดล้อม 
    ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นกับกลุ่มบุคคลที่เข้าไปสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพของสิ่งแวดล้อมในสังคม เช่น คุณภาพอากาศดีขึ้น สารเคมีตกค้างลดลง ป่าไม้อุดมสมบูรณ์มากขึ้น ไฟป่าหมดไป สัตว์ป่ากลับคืนมา ระบบนิเวศน์ดีขึ้น ผลตอบแทนรูปแบบนี้ต้องแปลงค่าผ่าน Financial Proxy ก่อน
  2. ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นเชิงสังคม
    ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นกับกลุ่มบุคคลที่กิจกรรมเข้าไปสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพของมนุษย์ เช่น คนในสังคมมีการศึกษาที่ดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น อายุยืนขึ้น โรคภัยไข้เจ็บลดลง ผลตอบแทนในรูปแบบนี้ต้องแปลงค่าผ่าน Financial Proxy ก่อน
  3. ผลตอบแทนทางสังคมในทางเศรษฐกิจ
    ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นกับกลุ่มบุคคลที่กิจกรรมเข้าไปสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงรายได้ เช่น คนในสังคมมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ผลตอบแทนในรูปแบบนี้มักกำหนดมูลค่าเป็นตัวเงินได้อยู่แล้ว ไม่ต้องแปลงค่าผ่าน Financial Proxy

ในการวิเคราะห์โครงการทั่วไปเราอาจพิจารณา ผลผลิต (Output) ของโครงการว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งถ้าย้อนทวนไป Output ที่เกิดขึ้นมาจาก Input และ Activities ที่เราใส่เข้าไป ซึ่งทั้ง 3 รายการนี้ เราต้องเก็บข้อมูลเป็นปกติอยู่แล้ว

แต่ในโครงการที่มีผลกระทบทางสังคมสิ่งที่จะต้องเก็บเพิ่มก็คือ ผลลัพธ์ (Outcome) และผลกระทบ (Impact) ซึ่งทั้ง Outcome และ Impact นี้เกี่ยวข้องกับอีก 2 ตัวแปร คือ User หรือผู้ใช้ จะเลือกเอาไปใช้ (Adoption) ให้เกิด Outcome และ Impact ต่อไป

การเกิดขึ้นของ Output, Outcome, Impact แสดงว่า Input + Activities, User + Adoption อยู่ภายใต้ความเชื่อเกี่ยวกับ Theory of Change ว่าเมื่อใส่ปัจจัยต่าง ๆ เข้าไป พร้อมการกระทำบางอย่าง จะเกิดผลของการเปลี่ยนแปลงนั้นในรูปแบบ Output, Outcome และ Impact ได้

 

ที่มา : คู่มือการประเมินผลกระทบทางสังคมและผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุนโครงการเพื่อสังคม, สิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2564

บทความโดย
รศ.(พิเศษ)ดร.กฤษฎา เสกตระกูล
ที่ปรึกษา
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย