Topic

พันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืนของภาครัฐกับการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

ข่าวที่รัฐบาลมีแผนจะออก "พันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน" (Sustainability-Linked Bond) ซึ่งเผยแพร่ในช่วงที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 รวมถึงได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับผู้นำ ว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี ค.ศ.2023 (Sustainable Development Goals (SDG) Summit 2023) นอกจากจะทำให้นานาประเทศได้รับรู้ว่าประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นอย่างมากแล้ว ยังมีนัยสำคัญต่อการระดมทุนการออก "พันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน" อีกด้วย

ประการแรก คือ การทำให้คนไทยรู้จักตราสารหนี้หรือ “พันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน” ในวงกว้างมากขึ้น แม้ว่า ภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจจะมีการออกตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืนบ้างแล้ว แต่การที่ภาครัฐเป็นผู้ระดมทุนเอง น่าจะทำให้การให้ความรู้ ความเข้าใจ และข้อมูลเกี่ยวกับตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืนแก่ประชาชนโดยทั่วไปมีเพิ่มมากขึ้น

ประเด็นเรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับ "พันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน" ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ควรรู้ คือ ตราสารประเภทนี้ แตกต่างจากตราสารหนี้ด้านความยั่งยืนอื่นๆ เช่น ตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) หรือตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) ตรงที่ตราสารประเภทหลังนี้ ผู้ออกตราสารจะต้องนำเงินที่ได้รับจากการออกและเสนอขายตราสารไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้โดยเฉพาะ

ส่วน "พันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน" นั้น ไม่มีหลักเกณฑ์ให้ผู้ออกต้องกำหนดวัตถุประสงค์การใช้เงินให้เป็นเรื่องของความยั่งยืน แต่ผู้ออกจะต้องกำหนดตัวชี้วัด (Key Performance Indicator หรือ KPI) และเป้าหมายด้านความยั่งยืน (Sustainability Performance Target หรือ SPT) ซึ่งหากผู้ออกบรรลุหรือไม่บรรลุเป้าหมายนั้น ก็จะทำให้คุณลักษณะของตราสารหนี้หรือพันธบัตร (เช่น อัตราดอกเบี้ย) เปลี่ยนแปลงไป

ตัวอย่าง เช่น กรณีรัฐบาลประเทศชิลีที่ออก "พันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน" เมื่อปี 2022 ซึ่งนับเป็นการออก "พันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน" ครั้งแรก โดยภาครัฐ (Sovereign) ซึ่งรัฐบาลประเทศชิลีกำหนดตัวชี้วัด (KPI) ไว้สองตัวชี้วัด คือ (1) การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสัมบูรณ์ (Absolute Greenhouse Gas Emission) โดยมีเป้าหมายที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือไม่เกิน 95 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าภายในปี 2030 และ (2) การเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ร้อยละ 60 ของปริมาณการผลิตไฟฟ้าภายในปี 2032 ทั้งนี้ ในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทน (Premium) เพิ่มเติมอีก 12.5 Basis Points (bps) หรือหากไม่สามารถดำเนินการตามได้ทั้งสองเป้าหมาย ผลตอบแทน (Premium) ที่จะได้รับก็จะเพิ่มเป็น 25 Basis Points (bps)

ความแตกต่างนี้ ยังนำไปสู่นัยสำคัญประการถัดไป กล่าวคือ ด้วยความที่ตราสารหนี้ หรือ “พันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน” ไม่บังคับให้ผู้ออกจะต้องนำเงินที่ได้ไปใช้กับโครงการใดโครงการหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่มุ่งเน้นที่เป้าหมายที่จะต้องดำเนินการให้สำเร็จแทน จึงทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการกำหนดโครงการ หรือการดำเนินการที่ผู้ออกจะนำเงินไปใช้เพื่อพัฒนาหรือส่งเสริม ซึ่งเหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับการระดมทุนโดยภาครัฐที่จำเป็นจะต้องพิจารณาการใช้เงินให้ครอบคลุมในหลายๆ ด้าน เพื่อสร้างผลลัพธ์ด้านความยั่งยืนต่อไป

ทั้งนี้ ด้วยความที่ผู้ออกเป็นภาครัฐ ความท้าทายจึงอยู่ที่การเลือกตัวชี้วัด (KPIs) และเป้าหมาย (SPTs) ซึ่งควรจะสะท้อนถึงประเด็นด้านความยั่งยืนที่มีความสำคัญมากที่สุดในระดับประเทศ รวมทั้งจะต้องพิจารณาว่าตัวชี้วัดและเป้าหมายจะเกี่ยวข้องกับด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม หรือหลายด้านพร้อมกัน

อย่างไรก็ดี หากรัฐบาลสามารถออก "พันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน" สำเร็จและสามารถสร้างแบบอย่างเกี่ยวกับการดำเนินการตามตัวชี้วัดและเป้าหมายได้ ก็จะเป็นโอกาสสำหรับผู้ระดมทุนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือภาคเอกชน หรือแม้กระทั่งประเทศอื่นๆ ที่จะดำเนินการตาม และอาจจะเป็นการช่วยดึงผู้ลงทุนประเภทใหม่ที่มีศักยภาพเข้ามา ในตลาดทุนของไทย อันจะเป็นการยกระดับของประเทศไทยในการเป็นผู้นำด้านเครื่องมือทางการเงินเพื่อกระตุ้นการพัฒนาที่ยั่งยืนไปด้วยในตัว

 

บทความโดย
โกวิท อดิเรกสมบัติ
ทนายความหุ้นส่วน
บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด
สมาชิก SET ESG Experts Pool