Topic
CG Today : OECD ปรับปรุงหลักการ CG 2023 เน้นหน้าที่คณะกรรมการในการกำกับดูแลความยั่งยืน
OECD ปรับปรุงหลักการ CG 2023 เน้นหน้าที่คณะกรรมการในการกำกับดูแลความยั่งยืน
สวัสดีครับท่านผู้อ่าน CG Today ฉบับนี้ จะมาอัปเดตหลักการกำกับดูแลกิจการที่กล่าวได้ว่าเป็นปฐมบทของโลกเลยทีเดียวก็ว่าได้ นั่นคือ The G20/OECD Principles of Corporate Governance ซึ่งจัดทำโดย OECD และล่าสุดเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา OECD ก็ได้ประกาศฉบับอัปเดตล่าสุด version 2023 ออกมาอย่างเป็นทางการ โดยฉบับล่าสุดนี้ได้ปรับปรุงหลักการในเรื่องสิทธิของผู้ถือหุ้น บทบาทของนักลงทุนสถาบัน การเปิดเผยข้อมูล ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ และได้เพิ่มหลักการบทใหม่ เรื่อง sustainability and resilience เข้ามา
OECD หรือ องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Co Operation and Development) ได้ออก Principles of Corporate Governance ครั้งแรกในปี 1999 และมีการปรับปรุงหลายครั้งจนล่าสุดคือ ปี 2023 ซึ่งถือเป็นมาตรฐานสากลด้านการกำกับดูแลกิจการที่ได้กลายเป็นบรรทัดฐานให้กับหลายประเทศนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นของตน ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย
การปรับปรุงครั้งนี้เกิดจากแรงผลักดันจากประเทศสมาชิกของ OECD และกลุ่ม G20 ที่เห็นว่าหลักการกำกับดูแลกิจการควรมีหลักการในเรื่องความยั่งยืนและการฟื้นตัวของกิจการหลังเผชิญภาวะวิกฤต (sustainability and resilience) เพื่อตอบรับเทรนด์การลงทุนที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยหลักการบทใหม่ เรื่อง sustainability and resilience มีสาระที่น่าสนใจที่ผู้เขียนจะนำมาเล่าสู่กันฟัง คือ
- คณะกรรมการมีหน้าที่กำกับดูแลให้การบริหารความเสี่ยงองค์กรจะต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงด้านความยั่งยืน รวมถึงความเสี่ยงทางกายภาพและความเสี่ยงเปลี่ยนผ่านด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Risk Physical & Transition Risk) ด้วย
- คณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงควรจัดให้มีเวทีการพบปะกับผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและมุมมองด้านกลยุทธ์ความยั่งยืนขององค์กร
- การเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนควรมีทั้งประเด็น เป้าหมาย และตัวชี้วัด รวมถึงควรจัดทำรายงานตามกรอบมาตรฐานสากล ตลอดจนการจัดให้มีการรับรองจากผู้ตรวจสอบอิสระ ทั้งนี้ การเปิดเผยดังกล่าวควรทำอย่างต่อเนื่อง สามารถเปรียบเทียบข้อมูลของปีก่อนหน้าได้ ตลอดจนมีการคาดการณ์ความเสี่ยงในอนาคตด้วย
นอกจากหลักการเรื่อง sustainability and resilience ที่กล่าวมาแล้ว ยังได้มีการปรับปรุงเรื่องความรับผิดชอบของคณะกรรมการโดยได้ขยายความการบริหารจัดการความเสี่ยงให้ครอบคลุมความเสี่ยงดิจิทัล ความเสี่ยงด้านมาตรการทางภาษี รวมถึงการตั้งคณะกรรมการชุดย่อยที่จำเป็นให้เหมาะสมกับบริบทองค์กร เช่น คณะกรรมการด้านความยั่งยืนเพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ หรือ คณะกรรมการด้านเทคโนโลยีเพื่อให้คำปรึกษาด้านความเสี่ยงดิจิทัล เป็นต้น
อนึ่ง การให้ค่าตอบแทนแก่กรรมการและผู้บริหารองค์กร เป็นอีกประการหนึ่งในหลักการของ OECD 2023 ที่ไม่ควรมองข้าม นั่นคือ คณะกรรมการจะต้องกำหนดให้การประเมินผลงานมีตัวชี้วัดเป้าหมายด้านความยั่งยืนรวมอยู่ด้วย โดยคำนึงถึงผลตอบแทนระยะยาวของบริษัทและผู้ถือหุ้น
จากที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เมื่อพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นว่า เรื่องที่ปรับปรุงไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน แต่เป็นการเน้นย้ำให้ผู้มีหน้าที่ต้องใส่ใจและปฏิบัติอย่างจริงจัง ดังนั้น ในเรื่องนี้ หากมองกลับมาที่ตลาดทุนไทยจะพบว่า ตลาดหลักทรัพย์ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย สำนักงาน ก.ล.ต. และหลายภาคส่วนได้มีบทบาทในการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดทุนไทยดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืน รวมถึงการให้ความรู้แก่นักลงทุนเป็นเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา จะเห็นหลักฐานได้จากหลายแหล่ง เช่น “หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน 2560” แนะนำให้คณะกรรมการดูแลกลยุทธ์องค์กรด้านความยั่งยืน “แนวปฏิบัติที่ดีสำหรับคณะกรรมการในการกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อความยั่งยืน” กำหนดให้คณะกรรมการควรกำกับดูแลให้มีการบูรณาการนำปัจจัยที่ส่งผลต่อความยั่งยืนทั้งที่เป็นโอกาสและความเสี่ยงที่สัมพันธ์กับบริบทธุรกิจของบริษัทเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อความยั่งยืน เป็นต้น
สำหรับตลาดหลักทรัพย์ทำการส่งเสริมบริษัทจดทะเบียนให้ขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนและธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในองค์กรมาเป็นเวลาช้านานตั้งแต่ตลาดหลักทรัพย์เริ่มดำเนินการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยสิ่งที่เป็นประจักษ์แล้วก็เช่น การออกมาตรฐานและแนวปฏิบัติด้านบรรษัทภิบาล ด้านความยั่งยืน ด้านการวิเคราะห์ประเด็นสำคัญ ด้านการเปิดเผยข้อมูล ด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงการจัดทำ E-Learning การอบรมสัมมนา ตลอดจนการให้คำปรึกษาและคำแนะนำแก่คณะกรรมการบริษัท ผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานของบริษัทจดทะเบียน เป็นต้น ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ท่านผู้อ่านสามารถสืบค้นข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่มากมายได้จาก website ของตลาดหลักทรัพย์
จบแล้วครับ สำหรับฉบับนี้ผู้เขียนก็มีเรื่องเล่าสู่กันฟังเพียงเท่านี้ หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้รับประโยชน์จากข้อมูลที่ได้นำเสนอในบทความนี้และสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับการทำงานของท่านต่อไปนะขอรับ ฉบับหน้าผู้เขียนจะมาเล่าเรื่องอะไรดีๆ ที่มีประโยชน์อีกคอยติดตามนะครับ... สวัสดีครับ....
ที่มา :
https://www.oecd.org/publications/g20-oecd-principles-of-corporate-governance-2023-ed750b30-en.htm
ตลาดหลักทรัพย์ออกหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนตามแนวทางของ OECD ฉบับแรกปี 2549 ปรับปรุงปี 2555 และผนวกรวมเป็นฉบับปี 2560 ที่ออกโดย ก.ล.ต.
https://www.sec.or.th/cgthailand/TH/Documents/Regulation/CGCode.pdf
https://www.thai-iod.com/th/publications-detail.asp?id=733
https://www.set.or.th/set-esg-academy/home.html