Topic

CG Today 2

 

ASEAN Corporate Governance Scorecard (ACGS) Update 2023

ในวันที่ 16 ตุลาคม 2023 ที่ผ่านมา ASEAN Capital Market Forum (ACMF) ได้มีการประกาศเกณฑ์ ASEAN Corporate Governance Scorecard (ACGS) ฉบับปรับปรุงใหม่เพื่อบังคับใช้ในการประเมินครั้งต่อไปในปี 2024 เนื้อหาในการปรับปรุงครั้งนี้สอดรับกับหลักการ OECD CG Principles ฉบับล่าสุดที่เพิ่งประกาศใช้ในเดือนกันยายนปีเดียวกันนี้ โดยมีการเพิ่มเติมเกณฑ์วัดผลเรื่อง Sustainability and Resilience ซึ่งกล่าวถึงการจัดการด้านความยั่งยืนในองค์กร ตั้งแต่โครงสร้างองค์กร การกำหนดกลยุทธ์ จนถึงการรายงานด้านความยั่งยืน ซึ่งผู้เขียนจะกล่าวถึงรายละเอียดต่อไปในบทความนี้ครับ 

ก่อนอื่นต้องขอเล่าถึงที่มาของตัวเกณฑ์ ACGS ก่อนอย่างพอสังเขป เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับผู้อ่านที่อาจจะยังใหม่กับการประเมินครับ เกณฑ์ ACGS นั้นประกาศใช้ครั้งแรกในปี 2011 และเริ่มใช้ในการประเมินในปี 2012 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของภูมิภาค ASEAN ให้เป็นเป้าหมายในการลงทุนของนักลงทุนระดับโลก ผู้ประเมินจะทำการคัดเลือกจากบริษัทจดทะเบียนที่มี Market Cap. สูงสุด 100 อันดับแรกของแต่ละประเทศ ที่มีการเปิดเผยรายงานประจำปีภาษาอังกฤษลงบนเว็บไซต์ของบริษัท จาก 6 ประเทศในภูมิภาคประกอบด้วย ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์อินโดนีเซีย โดยในช่วงปี 2012 – 2015 จะมีการทำการประเมินทุกปี จนถึงปี 2016 ได้มีการยกเว้นการประเมินในปีนั้นเพื่อปรับปรุงเกณฑ์ และมีการปรับวิธีการประเมินให้เป็นการประเมินแบบปีเว้นปีนับตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา จนปี 2023 นี้ก็ได้มีการยกเว้นการประเมินเพื่อปรับปรุงเกณฑ์อีกครั้งและจะทำการประเมินครั้งถัดไปในปี 2024 ดังที่กล่าวไปช่วงต้นนั่นเอง
 

สำหรับการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ ACGS ครั้งนี้ มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของข้อคำถาม และเนื้อหาซึ่งผู้เขียนจะขอเขียนโดยสรุป ดังนี้

  • มีการรวมหมวด A-Rights of Shareholders และหมวด B-Equitable Treatment of Shareholders เข้าด้วยกัน โดยใช้ชื่อใหม่ว่า A, B-Rights and Equitable Treatment of Shareholders และปรับลดข้อคำถามเหลือ 30 ข้อ
  • เปลี่ยนชื่อหมวดที่ 3 เดิม จาก C-Role of Stakeholder เป็น C-Sustainability and Resilience และปรับเพิ่ม เป็น 22 ข้อ โดยมีการเพิ่มข้อคำถามใหม่ในประเด็นที่สอดคล้องกับความยั่งยืนในองค์กร อาทิ
     
    • การจัดการโครงสร้างขององค์กร เช่น การจัดให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านความยั่งยืนโดยตรง การกำหนดค่าตอบแทนผู้บริหารที่เชื่อมโยงกับผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน การจัดให้มีหน่วยงานอิสระมาดูแลเรื่องการรับข้อร้องเรียน เป็นต้น
    • การกำหนดกลยุทธ์ เช่น การระบุประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนที่ต้องสอดคล้องกับกลยุทธ์ขององค์กร และครอบคลุมประเด็นด้าน Climate Change โดยจัดให้ผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นสำคัญที่มีผลกระทบต่อองค์กร การประเมินความเสี่ยงด้าน Climate Change และการจัดการ การกำหนดเป้าหมายเชิงปริมาณจนถึงการรายงานผลความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน เป็นต้น
    • การรายงานความยั่งยืน เช่น การอ้างอิงมาตรฐานการรายงานด้านความยั่งยืนในระดับสากล (GRI, IR, SASB, IFRS) โดยจัดให้มีการอนุมัติรายงานความยั่งยืนโดยคณะกรรมการบริษัท รวมถึงการทวนสอบโดยผู้ทวนสอบภายนอก เป็นต้น

     

(ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในตารางแนบที่ 1)

จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ มุ่งเน้นไปที่การขับเคลื่อนความยั่งยืนภายในองค์กรเป็นสำคัญ ซึ่งบริษัทจดทะเบียนไทยนั้นได้ถูกเตรียมพร้อมในเบื้องต้นโดยการประเมิน CG Report ปี 2566 โดยผู้อ่านจะเห็นได้ว่าเนื้อหาของข้อคำถามที่เพิ่มขึ้นมานั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน หากผู้อ่านต้องการศึกษาเกณฑ์โดยละเอียด สถาบันพัฒนากรรมการบริษัทไทย (Thai IOD) ร่วมกับสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เผยแพร่ e-learning อธิบายเกณฑ์เอาไว้อยู่แล้ว จากพื้นฐานที่ดีดังกล่าวของบริษัทจดทะเบียนไทย ผู้เขียนนั้นเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าในการประเมินครั้งถัดไป บริษัทจดทะเบียนไทยจะยังคงมาตรฐานได้เหนือกว่าคู่แข่งในภูมิภาคดังเช่นเดิม

ตารางแนบที่ 1 : การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างข้อคำถาม ACGS (2023)

 

ที่มา :