Topic
ประชุมผู้ถือหุ้นกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนขององค์กร
ประชุมผู้ถือหุ้นไปทำไม?
ถ้าตอบตามตำรา ก็คือ เพื่อให้เกิด “การกำกับดูแลกิจการที่ดี”
แต่ถ้าว่ากันตามกฎหมาย ก็คือ พรบ. บริษัทมหาชนจำกัด กำหนดให้คณะกรรมการต้องจัดให้มี การประชุมผู้ถือหุ้นเป็นการประชุมสามัญประจำปี "Annual General Meeting หรือ AGM" ภายใน 4 เดือนนับแต่วันสิ้นสุดของรอบปีบัญชีของบริษัท
“การกำกับดูแลกิจการที่ดี” คืออะไร และ เพราะเหตุใด กฎหมายจึงต้องกำหนดไว้เช่นนั้น?
เริ่มต้นจากการอธิบายถึง “โครงสร้างการกำกับดูแลกิจการ” กันก่อน อาจกล่าวได้ว่ามีตัวละครอยู่ 3 กลุ่ม คือ ผู้ถือหุ้น คณะกรรมการบริษัท และคณะจัดการ
ผู้ถือหุ้น ถือว่าเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจเรื่องสำคัญต่างๆ และเป็นผู้อนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัท เพื่อเป็นตัวแทนดูแลการจัดการบริษัท ซึ่งมีคณะจัดการหรือคณะผู้บริหารที่ดำเนินกิจการและปฏิบัติงานของบริษัทนั่นเอง
ดังนั้น เมื่อกิจการดำเนินไปครบรอบหนึ่งปี ย่อมจะต้องมีเรื่องสำคัญต่างๆ ที่ต้องการการตัดสินใจจากผู้ถือหุ้น รวมถึงการรายงานผลการดำเนินกิจการในด้านต่างๆ ให้ผู้ถือหุ้นได้รับทราบ อนุมัติ แสดงความคิดเห็นและเสนอแนะ จึงต้องมีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีขึ้น (ถ้ามีวาระเร่งด่วนกว่านั้น และรอรอบปีไม่ได้ ก็สามารถเรียกจัด “Extraordinary General Meeting” หรือ EGM ได้) เรื่องหรือวาระประจำในการประชุมตามที่กฎหมายกำหนดนั้น ยกตัวอย่างเช่น การอนุมัติงบการเงินประจำปี การอนุมัติการจัดสรรกำไรเพื่อเป็นทุนสำรองตามกฎหมาย การอนุมัติการจ่ายเงินปันผล การอนุมัติแต่งตั้งผู้สอบบัญชีและค่าสอบบัญชี การอนุมัติแต่งตั้งกรรมการแทนกรรมการที่ออกตามวาระและค่าตอบแทนกรรมการ เป็นต้น และเรื่องสำคัญอื่นๆ ตามแต่ความจำเป็นของกิจการและเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
การประชุมจึงมีผู้เข้าร่วมหลักทั้ง 3 กลุ่ม คือ ผู้ถือหุ้น คณะกรรมการบริษัทและคณะจัดการ และเป็นลักษณะการลงคะแนนเสียงของผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติหรือไม่อนุมัติ (หรืองดออกเสียง) ในวาระต่างๆ รวมถึงแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะให้ทางคณะกรรมการบริษัทและคณะจัดการนำไปเป็นแนวทางในการดำเนินกิจการต่อไป
เหตุใดจึงต้องจัดประชุมภายใน 4 เดือน นับจากปิดรอบบัญชีประจำปี?
แน่นอนว่า บริษัทมหาชนนั้น มีจำนวนผู้ถือหุ้นจำนวนมาก ต้องมีขั้นตอนการแจ้ง เตรียมและจัดการประชุม จึงมีระเบียบปฏิบัติมากมาย เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม ทั่วถึงและโปร่งใสให้มากที่สุด จึงต้องให้เวลาที่เพียงพอกับผู้ปฏิบัติงานได้ดำเนินการ ตั้งแต่เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้เสนอชื่อกรรมการและวาระ นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาวาระส่งงบการเงิน จัดทำรายงานประจำปี (56-1 one report) ส่งหนังสือแจ้งวัน เวลา สถานที่ และวาระในการประชุม ปิดทะเบียนรายชื่อผู้ถือหุ้นเพื่อสิทธิในการเข้าประชุมผู้ถือหุ้นและการรับปันผล การลงทะเบียนและยืนยันตัวตนเพื่อเข้าร่วมประชุมของผู้ถือหุ้น อีกทั้งเตรียมสถานที่ ระบบลงคะแนน และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับวันประชุม เป็นต้น
หากไม่มีการประชุมผู้ถือหุ้น จะเกิดอะไรขึ้น?
ประการแรก คณะกรรมการมีความผิดตามกฎหมาย ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกินสองหมื่นบาท ตาม พรบ.บริษัทมหาชนจำกัด
ประการถัดไปที่เป็นสิ่งสำคัญ คือ ผู้ถือหุ้นจะไม่สามารถรับทราบได้เลยว่า กิจการที่ตนลงทุนไปนั้น มีสถานะเป็นอย่างไร ทั้งข้อมูลการดำเนินการที่เกี่ยวกับการเงิน และข้อมูลการดำเนินการที่ไม่ใช่การเงิน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากการดำเนินกิจการหรือการลงทุนนั้น สร้างผลกระทบทั้งตัวผู้ถือหุ้นเอง และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ กล่าวคือ สร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม หรือสังคม ชุมชน หรือการดำเนินการบางประการของบริษัททำให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนทั่วไปในวงกว้าง (ซึ่งสุดท้ายแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็จะกลับมามีผลกระทบกับตัวบริษัทและผู้ถือหุ้นเอง) เช่น การก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งดิน น้ำ อากาศ เสียง ระบบนิเวศและคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบ ซึ่งโครงการนั้นอาจไม่ผ่านการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) หรือแม้ว่าผ่าน EIA แล้วก็ตาม ก็อาจถูกเพิกถอนสิทธิในการก่อสร้างได้ในภายหลัง ดังนั้น ผู้ถือหุ้น จะเป็นตัวแปรที่สำคัญในการพิจารณาว่า โครงการหรือการลงทุนที่ทำอยู่นั้น จะดำเนินการต่อไปหรือไม่และจะมีทิศทางดำเนินการอย่างไร
การจัดประชุมผู้ถือหุ้นนั้น เกี่ยวข้องและมีความสำคัญกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนขององค์กรอย่างไร?
กล่าวมาถึงส่วนนี้ ผู้อ่านคงจะเริ่มเห็นความเชื่อมโยงมากขึ้นแล้วว่า การจัดประชุมผู้ถือหุ้นนั้น เกี่ยวข้องและมีความสำคัญกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนขององค์กรอย่างไร ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ยิ่งการดำเนินกิจการ หรือการดำเนินธุรกิจใดๆ ที่มีโอกาสสร้างผลกระทบ โดยเฉพาะผลกระทบในเชิงลบกับสังคม (S-Social) สิ่งแวดล้อม (E-Environmental) และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ (Stakeholders) ก็ยิ่งต้องมีการควบคุม ดูแลกำกับ ให้เป็นไปอย่างมีระบบระเบียบ มีมาตรฐานและประสิทธิภาพ อันเป็นที่มาของข้อกำหนดกฎหมายต่างๆ ให้บริษัทต้องปฏิบัติตาม (รวมถึงการจัดการประชุมผู้ถือหุ้นตามกฎหมายข้างต้นด้วย) นั่นคือ “การกำกับดูแลกิจการที่ดี” (G-Governance) .. เพื่อให้ในท้ายที่สุด เกิดผลลัพธ์ที่เราทุกคนคาดหวัง คือ การทำธุรกิจโดยสร้างประโยชน์สูงสุดร่วมกัน และการอยู่ร่วมกันของทุกภาคส่วนได้ แบบพึ่งพาอาศัยกัน อย่างมีสมดุล และเกิดความยั่งยืน
บทความโดย
กทลี กระจ่างแสง
เลขานุการบริษัทและผู้จัดการนักลงทุนสัมพันธ์
บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน)
สมาชิก SET ESG Experts Pool