Topic
การจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน...ปรับทางเดิมของธุรกิจ...ให้เป็นทางรอดในอนาคต
ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความยั่งยืนได้กลายเป็นข้อกังวลหลักสำหรับธุรกิจทั่วโลก เมื่อผู้คนตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการบริโภคผลิตภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น องค์กรต่าง ๆ จึงมุ่งบริหารและจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทานให้มีความยั่งยืนมากขึ้น (Sustainable Supply Chain Management - SSCM) โดยผนวกรวมแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนภายใต้ห่วงโซ่อุปทานและครอบคลุมวงจรชีวิตทั้งหมดของผลิตภัณฑ์ อาทิ การจัดหาวัตถุดิบ การขนส่ง/กระจาย/จัดจำหน่าย ตลอดจนการกำจัดเมื่อสิ้นอายุการใช้งาน อีกทั้งยังคำนึงถึงปัจจัยด้านความยั่งยืน (ESG) ในทุก ๆ กิจกรรม และไม่ใช่มองเพียงเฉพาะองค์กรเอง แต่มองถึงคู่ค้า (Suppliers) และผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานอีกด้วย
หากองค์กรยังไม่เริ่มทำ SSCM จะส่งผลอย่างไร ผลกระทบที่ชัดเจนที่สุดอาจเป็นการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในอนาคต เพราะรัฐบาลทั่วโลกกำลังปรับกฎเกณฑ์ในประเด็นความยั่งยืนให้เข้มงวดขึ้น เช่น มาตรการ CBAM เป็นต้น เห็นได้จากในปีที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอร่างกฎหมาย “EU Directive on Corporate Sustainability Due Diligence” ว่าด้วยหน้าที่ของภาคเอกชนในสหภาพยุโรปให้มีการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานของตนเพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการพิจารณาร่างฯ ดังกล่าว และคาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ปลายปีนี้ และแน่นอนว่าเมื่อสหภาพยุโรปขยับ มาตรการต่าง ๆ จะถูกบังคับใช้มากขึ้นในประเทศหรือองค์กรที่ต้องการค้าขายกับ EU โดยสังเกตจากการร้องขอการประเมินด้านความยั่งยืนจากกลุ่มลูกค้า คู่ค้า และผู้ลงทุนที่มาจากทวีปยุโรปและอเมริกา ถือเป็นแนวปฏิบัติใหม่ที่มีผลอย่างมากในการดำเนินธุรกิจทั่วโลก โดยการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์การดำเนินธุรกิจนี้อาจมองว่าเป็นโอกาสในการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจให้โปร่งใสและยั่งยืนมากขึ้น เพื่อจัดการกับความเสี่ยงในอนาคตและเพิ่มศักยภาพความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจในระยะยาวได้ |
อีกด้านหนึ่งที่กระแสผู้บริโภคเริ่มสนับสนุนแบรนด์ที่ใส่ใจความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น ธุรกิจควรคำนึงและประเมินผลกระทบมิติ ESG ในกระบวนการผลิตสินค้า/บริการ เพื่อสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจและตอบโจทย์ผู้บริโภค เช่น การใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนในการออกแบบวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ การใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ เป็นต้น แม้การปรับเปลี่ยนนี้มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นการเพิ่มเพียงช่วงเริ่มต้นเท่านั้น โดยสามารถประหยัดต้นทุนให้กับองค์กรได้ในระยะยาว ดึงดูดลูกค้าและพนักงานที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และกระตุ้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตาม การผนวกความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทานมีความท้าทายอยู่มาก แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการมีส่วนร่วมกับ Suppliers อย่างใกล้ชิดเพื่อพัฒนาและส่งเสริมความรู้ เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตเพื่อสร้างความยั่งยืนไปด้วยกัน
การจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืนเป็นความจำเป็นสำหรับธุรกิจที่ต้องการเติบโตในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การผนวกความยั่งยืนไม่เพียงช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อม แต่ยังนำไปสู่ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ชื่อเสียงและการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ เส้นทางสู่อนาคตที่ยั่งยืน ต้องการความมุ่งมั่นและความร่วมมือจากทุกฝ่ายตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งผลตอบแทนที่ได้รับนั้น คุ้มค่าอย่างแน่นอน
แหล่งข้อมูล:
- World Economic Forum (2020). "The future of the last-mile ecosystem". Retrieved from WEF Report.
- Sustainable Supply Chain (ห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน) - TRIS Corporation
- Thailand's green economy challenge - TDRI: Thailand Development Research Institute
- แนวทางการจัดการห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจสู่ความยั่งยืน (SSCM Showcase), SET ESG Academy,
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
บทความโดย
ปรัชญา ศรีแสนตอ
ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมและพัฒนาความยั่งยืน
บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน)
สมาชิก SET ESG Experts Pool