Topic
ESG bond ดีต่อโลก ดีต่อใจนักลงทุน
- ธุรกิจทุกวันนี้ต้องเผชิญกับมาตรการ กฎเกณฑ์และนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ เพื่อลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ธุรกิจจึงต้องเร่งปรับตัวและหาแหล่งเงินทุนให้พร้อมรับมือกับความเสี่ยงและโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจ
- ESG bond หรือตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Environmental, Social, and Governance: ESG) เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่เน้นลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาวและต้องการมีส่วนร่วมลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม
เพราะวิกฤตโลกร้อนกำลังส่งผลกระทบอย่างมากต่อทุกคน ภาครัฐจึงได้พยายามลดผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยออกมาตรการ กฎเกณฑ์และนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ (ปัจจุบันกรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีคาร์บอน) ธุรกิจทุกวันนี้จึงจำเป็นต้องเร่งปรับตัวและหาแหล่งเงินทุนให้พร้อมรับมือกับความเสี่ยงและโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจ ซึ่ง ESG bond หรือตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนได้กลายเป็นหนึ่งในทางเลือกในการระดมทุนเพื่อนำเงินไปใช้ดำเนินโครงการด้าน ESG
“การระดมเงินทุนด้วย ESG bond หรือตราสารหนี้ความยั่งยืน เพื่อให้ธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ธุรกิจเลือกใช้ ซึ่งนอกจากได้ต้นทุนการเงินที่ต่ำ ยังเป็นที่ต้องการของนักลงทุนที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม”
ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA)
โดยทั่วไป ESG bond สามารถออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่
ที่มา : สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA)
ESG bond ไทยโต 800% ในช่วง 5 ปี
สำหรับในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2019 ที่มีการออก ESG bond เป็นครั้งแรก จนถึงปี 2023 มูลค่าการออก ESG bond ได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จาก 23,000 ล้านบาท เป็น 179,866 ล้านบาท หรือเติบโต 8 เท่าในช่วงเวลาเพียง 5 ปี
ตลอดระยะเวลาดังกล่าว ตราสารหนี้เพื่อส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability bond) เป็น ESG bond ที่มีมูลค่าการออกสูงที่สุด สะท้อนให้เห็นว่า ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนกำลังเร่งระดมทุนเพื่อไปดำเนินโครงการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
ที่มา : สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA)
สำหรับในต่างประเทศ Climate Bonds Initiative ระบุว่า ในช่วงเวลาเดียวกัน การออก ESG bond ทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 870,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 32,000,000 ล้านบาท) คิดเป็นอัตราการเติบโตถึง 300%
โดยตราสารหนี้สีเขียว (Green bond) มีมูลค่าการออกสูงที่สุด สะท้อนให้เห็นว่า ทั่วโลกกำลังเร่งระดมทุนเพื่อไปดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังทวีความรุนแรง
ที่มา : Climate Bonds Initiative
ลงทุนใน ESG bond ได้ประโยชน์ถึง 2 ต่อ
สำหรับในฝั่งของผู้ลงทุน ซึ่งวันนี้สถานการณ์ตลาดหุ้นอยู่ในช่วงขาลง อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ประกอบกับกระแสการลงทุน ESG ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจมากขึ้น ทำให้การลงทุนใน ESG bond เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน โดยอาจมุ่งหวังผลตอบแทน คือ ดอกเบี้ย (coupon)ประมาณ 3-5% ต่อปี ซึ่งอาจสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากที่ประมาณ 1-2% ต่อปี นอกจากนี้ การลงทุนใน ESG bond ยังทำให้นักลงทุนสามารถมีส่วนร่วมในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เหมือนลงทุนครั้งเดียวได้รับผลประโยชน์ 2 ต่อ ต่อที่ 1 คือผลตอบแทนในรูปตัวเงินจากอัตราดอกเบี้ย และต่อที่ 2 คือผลตอบแทนทางใจให้รู้สึกดี
3 คำแนะนำก่อนลงทุนใน ESG bonds
- ศึกษา factsheet ทำความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะและประเภท ESG bond ที่จะเข้าไปลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยอาจพิจารณาจากอันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating) ของ ESG bond ซึ่งยิ่งอันดับเครดิตยิ่งสูง ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ก็ยิ่งต่ำ
- กระจายความเสี่ยง เพื่อบริหารความเสี่ยงจากการลงทุนที่กระจุกตัวอยู่ในสินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่ง
- ติดตามผลการดำเนินงานต่อเนื่อง เนื่องจากการลงทุนใน ESG bond เป็นการลงทุนระยะกลางถึงยาว นักลงทุนจึงควรติดตามและตรวจสอบรายงานผลการดำเนินงานของโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าเงินลงทุนได้ถูกนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดและโครงการสามารถบรรลุผลตามเป้าหมาย ESG ที่วางไว้
ESG bond เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน โดยปัจจุบันมี ESG bond ออกมาค่อนข้างมาก
นอกจากนี้ สำหรับนักลงทุนไทยที่ต้องการลดหย่อนภาษี สามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (ThaiESG) ที่บางกองทุนก็มีนโยบายการลงทุนใน ESG bond ด้วย
สำหรับผู้สนใจลงทุน สามารถศึกษาข้อมูลได้ง่ายๆ ที่: SETInvestnow และสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
ข้อมูลในบทความนี้ส่วนหนึ่งมาจากงาน SET Sustainability Forum 2/2024: Scaling up Synergies and Solutions for Net-Zero Keynote #2 “Unlocking Private Capital at Scale: An Accelerator to Net-Zero” ที่จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
ผู้เขียนบทความ
ฝ่ายพัฒนาการลงทุนอย่างยั่งยืน
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย