Topic
อ่านเกมอย่างไร ให้ทันเหลี่ยมคนโกง
จับทางคนโกง ในโลกองค์กร
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้ยินข่าวบริษัทดัง ๆ มีข่าวโกงแบบสุดเหวี่ยงกันบ่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่มีการพูดถึง “ธรรมาภิบาล” กันทุกวัน แล้วทำไมถึงยังเกิดขึ้นได้?
ธรรมาภิบาลหรือระบบกำกับดูแลกิจการก็เหมือนกับการติดกล้องวงจรปิด มีเซฟการ์ดสารพัด ตั้งแต่มีคณะกรรมการคอยจับตาดู มีระบบควบคุมภายในที่แบ่งแยกหน้าที่ชัดเจน มีระบบการแจ้งเบาะแส และมีคนตรวจสอบบัญชี เรียกรวม ๆ ว่า “ระบบเตือนภัย” นั่นแหละ
แต่ถึงจะมีระบบเตือนภัยครบครัน การโกงก็ยังเกิดขึ้นจนนักลงทุนบ่นอุบ “มีไปทำไม ไม่เห็นช่วยอะไร”
สถานการณ์แบบนี้ก็เหมือนกับวลี “The dog that didn't bark” ในนิยายสืบสวน Sherlock Holmes เป๊ะ เพราะปกติสุนัขเห่าเมื่อเจอคนแปลกหน้า แต่ถ้าไม่เห่า นั่นหมายความว่า “ไม่มีอะไรเกิดขึ้น” หรือ “มีเหตุร้าย แต่คนร้ายเป็นคนคุ้นเคยหรืออาจเป็นเจ้าของซะเอง”
ในนิยาย คนอ่านเข้าใจว่าทำไมสุนัขถึงไม่เห่า แต่ในโลกธุรกิจ คงทำใจยอมรับได้ยากว่าทำไมระบบเตือนภัยไม่ทำงาน เพราะการที่ระบบไม่ทำงาน มันอาจสะท้อนได้ว่า การโกงนั้นอาจมีคนในเข้ามาเกี่ยวข้อง (ซึ่งกรณีทุจริตที่ผ่านมา ก็มีคนในเกี่ยวข้องจริง ๆ) แต่การบอกว่า “ธรรมาภิบาลไม่มีประโยชน์” อาจจะไม่ถูกซะทีเดียว เพราะจริง ๆ แล้ว ระบบธรรมาภิบาลก็ช่วยจับโจรได้เหมือนกัน
ข้อมูลจาก ACFE บอกว่า ยิ่งคนโกงมีตำแหน่งสูง เช่น กรรมการหรือผู้บริหาร ก็ยิ่งสร้างความเสียหายมากกว่าพนักงานทั่วไป 8 เท่า และเกือบครึ่งของการจับทุจริตเกิดจากการให้เบาะแสของคนในองค์กรด้วยกันเอง ตามมาด้วยการมีระบบตรวจสอบภายใน ซึ่งหากไม่มีระบบข้างต้น ธุรกิจที่มีคนโกงจะยิ่งเสียหายมากกว่านี้
ข้อมูลจาก John D. O'Gara บอกว่า คนตำแหน่งสูงมักใช้ “ความสัมพันธ์” เป็นตัวช่วยในการโกง ในขณะที่พนักงานทั่วไปโกงได้แค่ “ธุรกรรม” เล็ก ๆ น้อย ๆ แถมคนใหญ่คนโตยังมี “อำนาจ” “ตำแหน่ง” และ “ข้อมูล” ส่วนพนักงานทั่วไปจะไม่มี
วิธีโกงของคนใหญ่คนโตก็เลยมีหลากหลาย ตั้งแต่จ้างคนกลางกินหัวคิว การ Outsource งานให้กับคนที่รู้จัก การทำรายการที่เอื้อและถ่ายเทผลประโยชน์ให้พวกพ้องตัวเอง การไปตั้งบริษัทในประเทศที่เป็น Tax Heaven หรือพยายามออกไปลงทุนบ่อย ๆ แต่กลับไม่มีนโยบายเรื่องการลงทุนที่ชัดเจน
สรุปง่าย ๆ ถ้าอยากจับโจรให้ทัน ต้องรู้จักวิธีการ รูปแบบการโกง และธุรกรรมที่น่าสงสัย
แล้วคุณหล่ะ เคยเจออะไรแปลก ๆ ในบริษัทบ้างไหม?
มาร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงผ่านแนวคิด “Active Citizen” เพื่อเป็นพลเมืองที่มีความกระตือรือร้น มีบทบาท และมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน
ในบทความถัดไป เราจะไปไล่ล่ารวมถึงศึกษาขั้นตอนกลโกงต่าง ๆ เพื่อให้ทันเกมเหล่านี้มากยิ่งขึ้น
หมายเหตุ: มูลค่าความเสียหายคำนวณจาก F/X rate: USD1 = 35 บาท
Reference
- ACFE: Association of Certified Fraud Examiners
- Corporate Fraud, case studies in detection and prevention, John D. O’Gara