Topic
ส่องกองทุนวายุภักษ์ในเลนส์ ESG
ส่องกองทุนวายุภักษ์ในเลนส์ ESG
- กองทุนวายุภักษ์แสนล้าน เป็นทางเลือกการลงทุนที่ตอบโจทย์นักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นด้านการลงทุนในหุ้นพื้นฐานดีและมีคะแนน ESG Ratings แถมยังได้รับผลตอบแทนที่น่าสนใจตลอดระยะเวลาการถือครอง
‘กองทุนวายุภักษ์’ ปิดจองซื้อไปแล้วด้วยยอดจองทะลักกว่า 190,000 ล้านบาท เกินวงเงินเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 150,000 ล้านบาท ถึง 1.3 เท่า ภายในระยะราว 2 สัปดาห์เท่านั้น
หลายท่านคงทราบดีอยู่แล้วว่าปัจจัยที่ทำให้กองทุนวายุภักษ์ได้รับความสนใจมากขนาดนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องผลตอบแทนที่กองทุนระบุว่าจ่ายผลตอบแทนขั้นต่ำ 3% สูงสุดถึง 9% ต่อปี โดยจะจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหน่วยอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง อย่างไรก็ตามหนึ่งในนโยบายการลงทุนของกองทุนวายุภักษ์ที่โดดเด่นคือ การเลือกลงทุนใน ‘หุ้นยั่งยืน’ ซึ่งวันนี้จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ ‘หุ้นยั่งยืน’ ที่กองทุนแสนล้านอย่างวายุภักษ์ให้ความสำคัญ
วายุภักษ์กับการคัดกรองหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings
กองทุนวายุภักษ์มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์ที่หลากหลาย โดยลงทุนในบริษัทที่มีอัตราผลตอบแทนดี มั่นคงในระยะยาว และมีความยั่งยืนในกระบวนการดำเนินธุรกิจ โดยคำนึงถึงการบริหารความเสี่ยงและปัจจัยการเปลี่ยนแปลงด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล
วันนี้จะขอพานักลงทุนไปส่องนโยบายการลงทุนในตราสารทุนที่วายุภักษ์กำหนดไว้ คือ 1) ตราสารทุนที่มีรายชื่ออยู่ใน SET100 โดยอาจพิจารณาจากหลักทรัพย์ที่ได้รับคะแนน “หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings” สูงสุดสามอันดับแรก เช่น ที่ระดับ A ขึ้นไป 2) ตราสารทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นอก SET100 ที่ผลประกอบการมีแนวโน้มที่ดี โดยอาจพิจารณาจากหลักทรัพย์ที่ได้รับคะแนน “หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings” สูงสุดสองอันดับแรก เช่น ที่ระดับ AA ขึ้นไป เป็นต้น
จะเห็นได้ว่านอกจากการเลือกลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานที่ดี มีแนวโน้มผลประกอบการดีแล้ว เงื่อนไขสำคัญอีกประการหนึ่งที่กองทุนวายุภักษ์ให้ความสำคัญคือ การลงทุนใน ‘หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings’
หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings คืออะไร
SET ESG Ratings คือ Ratings จัดทำขึ้นโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมาจากการประเมินผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของแต่ละบริษัทจดทะเบียน ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล หรือที่เรียกสั้น ๆ กันว่า ESG
โดยกระบวนการคัดเลือก SET ESG Ratings ก็มีความเข้มข้นและสอดคล้องกับเทรนด์ความยั่งยืนในระดับสากลและบริบทของประเทศไทย โดยพิจารณาตั้งแต่ระดับนโยบาย กระบวนการดำเนินงาน การวัดผลลัพธ์ และการเปิดเผยข้อมูล โดยบริษัทที่ได้รับการประกาศ SET ESG Ratings ต้องผ่านเกณฑ์ทั้ง 2 ข้อ ดังนี้
- ต้องมีผลคะแนนจากการตอบแบบประเมินอย่างน้อย 50% ในแต่ละมิติ E S และ G
- ต้องผ่านเกณฑ์คุณสมบัติตามที่กำหนด เช่น ไม่ส่งงบการเงินล่าช้า มีกำไรสุทธิอย่างน้อย 3 ใน 5 ปี ไม่ถูกทางการกล่าวโทษหรือตัดสินความผิดด้าน ESG
ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการติดตามเกณฑ์คุณสมบัติของบริษัทตลอดกระบวนการ หากบริษัทมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามเกณฑ์จะถูกคัดออกจาก SET ESG Ratings ระหว่างปีได้
โดยในปี 2566 มี 192 บริษัท ได้รับการประกาศผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ดูผลประเมินของบริษัทเพิ่มเติมได้ ที่นี่ สำหรับผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ของปี 2567 ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะประกาศในช่วงเดือน ธันวาคม 2567
ผลตอบแทนของหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ดีจริงหรือ
ที่มา: ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เดือนพฤศจิกายน 2566 ถึง สิงหาคม 2567
จากข้อมูลทางสถิติตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน 2566 ถึง สิงหาคม 2567 พบว่าผลตอบแทนจากหุ้น SET ESG Ratings ในระดับ AAA อยู่ที่ 3.06% สูงกว่าอัตราผลตอบแทนของ SET Index ที่เท่ากับ -1.70%
จากกราฟข้างต้นสะท้อนได้ว่าธุรกิจที่สามารถปรับตัวและบริหารจัดการประเด็นด้าน ESG ได้อย่างดี ภายใต้กฎเกณฑ์ ข้อบังคับ หรือข้อกีดกันทางการค้าใหม่ๆ ย่อมส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขัน ภาพลักษณ์ และชื่อเสียงของบริษัท ซึ่งล้วนส่งผลกระทบโดยตรงต่อมูลค่าของกิจการและมีโอกาสเติบโตในระยะยาว ในมุมของนักลงทุนเองก็ต้องให้ความสำคัญกับการนำข้อมูล ESG ของบริษัทมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุนควบคู่ไปกับการพิจารณาผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัท เพราะจะช่วยบริหารความเสี่ยง มีโอกาสสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาวได้
ทั้งนี้ กองทุนวายุภักษ์เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 7 ตุลาคม 2567 โดยใช้ชื่อ VAYU1 โดยราคาหน่วยลงทุนในตลาดรองจะเป็นไปตามกลไกของราคาตลาด
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
อ้างอิง
https://www.posttoday.com/business/713696
https://www.longtunman.com/53650
https://www.thansettakij.com/finance/financial-banking/606186
https://www.finnomena.com/editor/vayupak-fund-1/
ผู้เขียนบทความ
ฝ่ายพัฒนาการลงทุนอย่างยั่งยืน
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย