Topic
5 จุดเหมือน-จุดต่างระหว่าง SET ESG Ratings และ FTSE Russell ESG Scores
ในบทความตอนที่แล้ว (6 เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับ FTSE Russell ESG Scores) ถือเป็นก้าวแรกที่ชวนให้ทุกคนได้ทำความรู้จักกับ FTSE Russell ESG Scores โดยในปี 2567 บริษัทจดทะเบียนไทยที่เข้าเกณฑ์ตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดจะเป็นกลุ่มบริษัทนำร่องที่ได้รับการประเมินโดย FTSE Russell ก่อนใคร และตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเปิดโอกาสให้บริษัทที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมการประเมินได้ ก่อนที่ FTSE Russell ESG Scores จะมาแทนที่ SET ESG Ratings อย่างเต็มตัวในปี 2569
บทความนี้จึงอยากให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับ FTSE Russell ESG Scores โดยสิ่งแรกที่ทุกคนควรทำความเข้าใจ คือ ข้อแตกต่างระหว่างการประเมิน SET ESG Ratings และ FTSE Russell ESG Scores เพื่อให้บริษัทสามารถประเมินความพร้อมและวางแผนปรับตัวเพื่อเตรียมเข้ารับการประเมินโดยFTSE Russell ในอนาคต
- เดินคนละแนวทาง: SET ESG Ratings และ FTSE Russell ESG Scores ประเมินด้วยวิธีการต่างกัน
SET ESG Ratings ประเมินความยั่งยืนของบริษัทด้วยข้อมูลที่บริษัทตอบแบบประเมิน ต่างจาก FTSE Russell ESG Scores ที่รวบรวมข้อมูลที่บริษัทเปิดเผยสู่สาธารณะอยู่แล้ว
สำหรับ SET ESG Ratings บริษัทจะต้องกรอกใบสมัครเข้าร่วมการประเมินของตลาดหลักทรัพย์ฯ และตอบข้อคำถามในแบบประเมินโดยแนบเอกสารอ้างอิงมาเป็นหลักฐานให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ พิจารณา เช่น เอกสารที่บริษัทเปิดเผยสู่สาธารณะอยู่แล้ว ข้อมูลที่บริษัทกรอกไว้ใน SET ESG Data Platform รวมถึงเอกสารภายในของบริษัท
ในการประเมิน FTSE Russell ESG Scores บริษัทไม่ต้องกรอกข้อมูลและไม่ต้องตอบแบบประเมิน ทีมนักวิเคราะห์ของ FTSE Russell จะไปใช้ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลสาธารณะ เช่น รายงานความยั่งยืน รายงานประจำปี แบบ 56-1 และเอกสารต่าง ๆ ที่บริษัทเผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ของบริษัท โดย FTSE Russell ไม่ประเมินจากเอกสารภายในเลย ซึ่งถือเป็นจุดต่างสำคัญจาก SET ESG Ratings ทำให้ข้อมูลที่นำมาใช้ในการประเมินมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และยังช่วยลดภาระให้บริษัทไม่ต้องตอบแบบประเมินอีกต่อไป
การปรับตัวเพื่อเข้ารับการประเมิน FTSE Russell ESG Scores จึงอาศัยการพัฒนาหรือปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนให้ครอบคลุม ครบถ้วน ถูกต้อง และเป็นระบบยิ่งขึ้น นอกจากจะเป็นผลดีต่อการประเมินโดย FTSE Russell แล้ว ยังทำให้ผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ ของบริษัท เช่น นักลงทุน ลูกค้า คู่ค้า ได้เข้าใจการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัทอย่างถ่องแท้ผ่านข้อมูลที่เข้าถึงและเชื่อถือได้อีกด้วย
- จัดกลุ่มบริษัทคนละแบบ: FTSE Russell ESG Scores จัดกลุ่มบริษัทด้วยมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับและใช้กันในกว่า 80 ประเทศทั่วโลก
เพื่อให้การประเมินสอดคล้องกับลักษณะการทำธุรกิจ ทั้ง SET ESG Ratings และ FTSE Russell ESG Scores จึงมีชุดตัวชี้วัดสำหรับแต่ละกลุ่มธุรกิจ โดย SET ESG Rating แบ่งธุรกิจออกเป็น 8 กลุ่มอุตสาหกรรมและ 28 หมวดธุรกิจ (ตามการจัดกลุ่มของตลาดหลักทรัพย์ฯ) ในขณะที่ FTSE Russell ESG Scores ใช้มาตรฐาน Industry Classification Benchmark (ICB) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ใช้จัดกลุ่มหุ้นกว่า 85,000 ตัวทั่วโลก โดยแบ่งธุรกิจออกเป็น 11 กลุ่มอุตสาหกรรม 20 หมวดธุรกิจหลัก 45หมวดธุรกิจ และ 173 หมวดธุรกิจย่อย
รูปที่ 1: โครงสร้างการจัดกลุ่มธุรกิจของ ICB
ก
วิธีการแบ่ง ICB subsector คือ ดูจากข้อมูลแหล่งรายได้หลักของบริษัทตามที่ปรากฏในงบการเงินที่ผ่านการสอบบัญชีและรายงานของบริษัท บริษัทที่มีธุรกิจหลักหลายธุรกิจอาจได้รับการระบุให้อยู่ใน subsector หลายหมวด เพื่อให้การประเมินครอบคลุมทุกกิจกรรมทางธุรกิจของบริษัทอย่างแท้จริงที่สำคัญ การประเมิน FTSE Russell ESG Scores ยังดูเรื่องประเทศที่ตั้งของธุรกิจประกอบด้วย เพื่อให้สะท้อนบริบทที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศอีกด้วย
นอกจากนี้ FTSE Russell ยังกำหนดระดับความเสี่ยง (risk exposure) ของธีมและตัวชี้วัดที่มีผลต่อแต่ละ Subsector ด้วย โดยกำหนดเป็นระดับสูง ปานกลาง ต่ำ และไม่เกี่ยวข้องกับ Subsector นั้น ๆ ซึ่งแต่ละระดับจะมีค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักและตัวชี้วัดที่แตกต่างกัน ทำให้การคำนวณคะแนนตามธีมสะท้อนความสามารถในการจัดการกับความเสี่ยงแต่ละเรื่องได้ พูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าธุรกิจของบริษัทมีความเสี่ยงสูงในประเด็น ESG ในเรื่องไหน บริษัทยิ่งต้องบริหารจัดการความเสี่ยงในเรื่องนั้นให้รัดกุมอย่างเต็มที่มากขึ้นนั่นเอง
-
กำหนดตัวชี้วัดคล้ายกัน: FTSE Russell ออกแบบตัวชี้วัดให้ประเมินได้ละเอียดยิ่งขึ้น
ในภาพรวม SET ESG Ratings และ FTSE Russell ESG Scores มีโครงสร้างการประเมินเป็น 3 มิติคล้ายกัน (มิติสิ่งแวดล้อม มิติสังคม และมิติบรรษัทภิบาล) ครอบคลุมประเด็นด้าน ESG ที่คล้ายคลึงกันในหลายหัวข้อ เช่น การบริหารจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้า การจัดการด้านสภาพภูมิอากาศ และการเคารพสิทธิมนุษยชน
แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปในระดับตัวชี้วัด จะเห็นว่า SET ESG Ratings มีตัวชี้วัด 140-150 ตัวชี้วัด โดย 90% เป็นตัวชี้วัดทั่วไป และอีกประมาณ 10% เป็นตัวชี้วัดเฉพาะตามลักษณะของธุรกิจ
ในขณะที่ FTSE Russell ESG Scores มีตัวชี้วัดกว่า 300 ตัวชี้วัด โดย 56% เป็นตัวชี้วัดทั่วไป และอีก 44% เป็นตัวชี้วัดเฉพาะตามลักษณะของธุรกิจและประเทศที่ตั้ง ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วแต่ละบริษัทจะได้รับการประเมินราว 125 ตัวชี้วัด
นอกจากนี้ FTSE Russell ESG Scores ยังมีตัวชี้วัดบางตัวที่เพิ่มระดับความเข้มข้น เช่น ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 ปี หรือมีการทวนสอบข้อมูลโดยผู้ทวนสอบภายนอก เป็นต้น
ดังนั้น บริษัทจึงควรศึกษาและทำความเข้าใจกับตัวชี้วัดต่าง ๆ เพื่อไปปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลให้สอดคล้องและครบถ้วนตามตัวชี้วัดที่ใช้ประเมินเฉพาะบริษัท
-
เปิดโอกาสให้คอมเมนต์: FTSE Russell ESG Scores เปิดช่องให้บริษัททบทวนผลประเมินได้
ที่ผ่านมา SET ESG Ratings ประเมินจากข้อมูลที่บริษัทรวบรวมและส่งให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่างจากการประเมิน FTSE Russell ESG Scores ที่ทีมนักวิเคราะห์ของ FTSE Russell เข้าไปประเมินจากแหล่งข้อมูลสาธารณะ
ดังนั้น เพื่อความสมบูรณ์ของข้อมูลที่ใช้ในการประเมิน FTSE Russell จึงเปิดโอกาสให้บริษัทสามารถใช้เวลาประมาณ 1 เดือนในการทบทวนผลการประเมินว่าครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ โดยบริษัทจะได้อีเมลจาก FTSE4GOOD ให้เข้าไปคอมเมนต์หรือให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ในแพลตฟอร์มของ FTSE Russell
และเมื่อครบกำหนด 1 เดือน FTSE Russell จะปิดแพลตฟอร์ม และประมวลผลข้อมูลคอมเมนต์ที่บริษัทส่งเข้าไปเพิ่มเติม ก่อนจะคำนวณและสรุปผลออกมาเป็นคะแนน FTSE Russell ESG Scores ในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี
ช่วงของการรีวิวผลประเมินและให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับ FTSE Russell นี้เอง ถือเป็นโอกาสทองที่บริษัทไม่ควรพลาด หลายบริษัทจึงตั้งหน้าตั้งตารออีเมลจาก FTSE4GOOD ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม เพื่อเข้าไปในแพลตฟอร์ม
ในกรณีที่บริษัทมีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ติดต่อ บริษัทต้องรีบแจ้งรายชื่อผู้ติดต่อใหม่ไปให้ทั้ง FTSE Russell และตลาดหลักทรัพย์ ฯ ทราบ เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทจะไม่พลาดโอกาสในการทบทวนผลการประเมินของตนเอง
-
ผลต่างกัน เทียบเคียงยาก แต่ยั่งยืนได้: ผลการประเมินแตกต่างกัน ไม่ควรนำมาเปรียบเทียบกัน
SET ESG Ratings ประกาศผลประเมินเป็น 4 ระดับเท่านั้น คือระดับ BBB, A, AA ไปจนถึง AAAเฉพาะบริษัทที่ผ่านเกณฑ์ (ทั้งเกณฑ์คะแนนจากแบบประเมินที่ต้องได้อย่างน้อย 50% ของคะแนนเต็มในแต่ละมิติ และเกณฑ์คุณสมบัติ เช่น ต้องเป็นบริษัทที่มีผลการประเมินคุณภาพรายงานด้านบรรษัทภิบาลตั้งแต่ 3 ดาวขึ้นไปในรอบปีที่มีการประเมิน ไม่เป็นบริษัทที่มีพฤติกรรมการซื้อขายที่ผิดปกติ เป็นต้น)
ผลประเมินของ FTSE Russell ESG Scores ประกาศเป็นระดับคะแนน 0.0 ถึง 5.0 ดังนั้นไม่ว่าบริษัทจะได้คะแนนสูงหรือไม่ ผลประเมินก็จะประกาศออกมาให้สาธารณชนรับรู้โดยทั่วกันตั้งแต่ปี 2569เป็นต้นไป
อย่างไรก็ดี ผลประเมินที่จะประกาศออกมานี้เป็นผลคะแนนรวม 0.0 ถึง 5.0 ไม่มีการประกาศผลคะแนนเชิงลึกในระดับมิติ ระดับธีม หรือระดับตัวชี้วัด แต่ละบริษัทจะต้องเข้าไปในแพลตฟอร์มของ FTSE Russell จึงจะสามารถดูผลคะแนนเชิงลึกของตนเองได้ โดยใช้ชื่อผู้เข้าใช้ (username) และรหัสผ่าน (password) เดียวกันกับที่ใช้ตอนทบทวนผลการประเมิน
โดยสรุป SET ESG Ratings และ FTSE Russell ESG Scores มีกระบวนการและวิธีการประเมิน แหล่งข้อมูลที่ใช้ และรูปแบบผลประเมินที่แตกต่างกัน นักลงทุนหรือผู้สนใจจึงไม่ควรนำผลประเมิน BBB-AAA จาก SET ESG Ratings ไปเปรียบเทียบโดยตรงกับคะแนนของ FTSE Russell ESG Scores ที่เป็นตัวเลข 0.0-5.0
แต่ไม่ว่าจะเป็นการประเมินแบบใด ข้อมูลผลประเมินความยั่งยืนทั้ง 2 แบบล้วนเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับให้นักลงทุนนำไปใช้ประกอบกับข้อมูลอื่น ๆ ในการตัดสินใจลงทุน เช่น ข้อมูลผลการดำเนินงานทางการเงิน ข้อมูลราคา และข้อมูลข่าวสารที่มีความเคลื่อนไหวอยู่เสมอ
เมื่อโลกหมุนไป ตลาดทุนก็หมุนตาม บริษัทเองควรปรับตัวให้พร้อมรับมือเพื่อการเติบโตได้อย่างเข้มแข็งในระยะยาว ทั้ง 5 จุดเหมือน-จุดต่างนี้เป็นจุดเริ่มต้นให้บริษัทจดทะเบียนไทยสามารถสำรวจ วางแผน และพัฒนาตัวเอง เพื่อเปลี่ยนผ่านจาก SET ESG Ratings ที่คุ้นเคย สู่การประเมินสากล FTSE Russell ESG Scores ที่จะยกระดับการทำธุรกิจของบริษัทไทยให้เทียบเคียงได้กับคู่แข่งในระดับโลก
ผู้สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ ที่นี่