Topic

6 เรื่องต้องรู้ เกี่ยวกับ FTSE Russell ESG Scores

เมื่อโลกตั้งกติกาใหม่ให้ “ความยั่งยืน” เป็นหนึ่งในเป้าหมายแห่งอนาคต บริษัทจดทะเบียน ผู้ลงทุน และทุกคนในแวดวงตลาดทุนจึงต้องเตรียมตัวรับมือกับโอกาสและความท้าทายจากเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) การประเมินด้านความยั่งยืนที่เทียบกับมาตรฐานโลกได้จึงเป็นแต้มต่อให้กับหุ้นไทย ให้มีความน่าเชื่อถือและน่าสนใจในสายตานักลงทุนทั่วโลก พร้อมส่องสปอตไลท์มาที่ตลาดทุนไทย


ภาษิตว่าไว้ “หนทางหมื่นลี้ เริ่มต้นด้วยก้าวแรก”

หาก SET ESG Ratings [1] คือก้าวแรกบนเส้นทางแห่งความยั่งยืน
FTSE Russell ESG Scores คือก้าวสำคัญของบริษัทจดทะเบียนไทยที่จะยกระดับการประเมินและเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของตนเองให้เปรียบเทียบได้ในระดับสากล และเสริมสร้างให้ตลาดทุนไทยได้ทำความรู้จักกับการประเมินด้านความยั่งยืนโดยผู้ประเมินระดับโลก

ได้เวลาสำรวจความพร้อม ล้อมวงส่องรายละเอียดชวนสงสัย พร้อมไขทุกข้อข้องใจกับ 6 เรื่องน่ารู้เพื่อให้เข้าใจว่าทำไม FTSE Russell ESG Scores จึงเป็นก้าวสำคัญของตลาดทุนไทยในการยกระดับการประเมิน ESG สู่มาตรฐานสากล

 

 

  1. FTSE Russell เพื่อนคนเก่งแห่งวงการตลาดทุน

    FTSE Russell คือ ผู้ประเมินและจัดอันดับระดับโลก (Global rater) ที่ได้รับการยอมรับจากนักลงทุนทั่วโลก ทุกวันนี้กองทุนรวมชั้นนำระดับโลกใช้บริการของ FTSE Russell คิดเป็นมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของทุกกองทุนมากถึง 15.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3 เท่าของ GDP ของประเทศไทย นอกจากนี้ FTSE Russell เป็นบริษัทในเครือตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน (London Stock Exchange Group: LSEG) ซึ่งเป็นตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำของโลก และเป็นคนในวงตลาดทุนตัวจริง เปรียบเหมือนเพื่อนคนเก่งแห่งวงการตลาดทุนที่ทั่วโลกให้การยอมรับ

    FTSE Russell ESG Scores คือการประเมินการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน โดย FTSE Russell แบ่งการประเมินออกเป็น 3 มิติ คือ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านบรรษัทภิบาล ประกอบไปด้วย 14 ธีม ครอบคลุมกว่า 300 ตัวชี้วัด ซึ่งทาง FTSE Russell ใช้วิธีการประเมินแบบเดียวกันนี้กับบริษัทชั้นนำอีกกว่า 8,000 แห่งใน 47 ประเทศทั่วโลก ทำให้ผลประเมินของบริษัทจดทะเบียนไทยสามารถเทียบได้กับบริษัทระดับโลก ในขณะเดียวกันนักลงทุนระดับโลกก็สามารถนำ FTSE Russell ESG Scores ไปใช้คัดหุ้นและจัดพอร์ตการลงทุนได้สะดวกขึ้น เพราะสามารถเทียบคะแนนได้กับบริษัทจดทะเบียนทั่วโลก


  2.  เปิดเผยข้อมูลหนึ่งครั้ง คุ้มค่าไปตลอดปี ด้วยวิธีประเมินของ FTSE Russell ESG Scores

    FTSE Russell ประเมินจากข้อมูลที่บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยสู่สาธารณะเท่านั้น บริษัทจดทะเบียนจึงไม่มีภาระในการตอบแบบประเมินอีกต่อไป เพียงแค่นำข้อมูลผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน เช่น รายงานความยั่งยืน แบบ 56-1 One Report หรือข้อมูลในรูปแบบอื่น ๆ ไปเผยแพร่บนเว็บไซต์ให้สาธารณชนสามารถเข้าถึงได้ จากนั้นทาง FTSE Russell จะดึงข้อมูลมาประมวลผลคะแนน ซึ่งก็ไม่ได้มีเพียง FTSE Russell เท่านั้น แต่ยังมีผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุน ลูกค้า คู่ค้า องค์กรอิสระ หรือผู้ที่สนใจก็สามารถเข้ามาดูและใช้ข้อมูลได้เช่นกัน เรียกได้ว่า เปิดทีเดียว คุ้มค่าหลายต่อ!

  3. FTSE Russell ESG Scores เน้นที่ผลลัพธ์ ให้ความสำคัญกับวามยั่งยืนที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

    จุดเด่นของการประเมิน FTSE Russell ESG Scores คือการให้ความสำคัญกับการกำหนดเป้าหมาย การเปิดเผยผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 ปี และการทวนสอบข้อมูลเชิงปริมาณ เพื่อให้ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือและสะท้อนให้เห็นความคืบหน้าของการดำเนินงาน ที่สำคัญ ตัวชี้วัดในการประเมิน FTSE Russell ESG Scores มีความสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ไม่ว่าจะเป็นข้อกำหนดของ Task Force in Climate-Related Financial Disclosures (TCFD) มาตรฐาน Global Reporting Standards (GRI) หรือมาตรฐาน ISO ต่าง ๆ โดยจะมีการประเมินข้อมูลทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ

  4. FTSE Russell ESG Scores ประเมินอย่างชัดเจน เน้นตัวชี้วัดเฉพาะตามแต่ละหมวดธุรกิจย่อย (Subsector)

    การประเมินด้วย FTSE Russell ESG Scores มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน แต่ยืดหยุ่นไปตามประเทศที่ตั้ง แหล่งรายได้ และจัดกลุ่มอุตสาหกรรมตามมาตรฐาน Industry Classification Benchmark (ICB) ที่ใช้กับหุ้นกว่า 85,000 ตัวในตลาดหลักทรัพย์กว่า 150 แห่งทั่วโลก นอกจากนี้ FTSE Russell ESG Scores มีจำนวนตัวชี้วัดมากกว่า SET ESG Ratings ถึง 2 เท่า โดยมีตัวชี้วัดทั้งหมดกว่า 300 ตัว แบ่งออกเป็น (1) ตัวชี้วัดทั่วไป และ (2) ตัวชี้วัดกลุ่มอุตสาหกรรม​ ซึ่งแต่ละบริษัทจดทะเบียนจะได้รับการประเมินโดยเฉลี่ยราว 125 ตัวชี้วัด โดยตัวชี้วัดของ FTSE Russell จะให้น้ำหนักกับคำถามทั่วไปประมาณ 56% และ 44% สำหรับคำถามที่เจาะลึกไปตามหมวดธุรกิจย่อยและประเทศที่ตั้ง

  5. FTSE Russell ESG Scores เปิดกว้างให้บริษัททบทวนผลและให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้

    FTSE Russell เปิดโอกาสให้บริษัทจดทะเบียนสามารถทบทวนผลประเมิน ตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนของข้อมูล และให้ข้อมูลเพิ่มเติมกลับไปยัง FTSE Russell ได้ภายในระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ก่อนที่จะมีการสรุปผลคะแนนออกมาอย่างเป็นทางการในท้ายที่สุด

  6. เริ่มนำร่องแล้ววันนี้ เตรียมประกาศผลคะแนน FTSE Russell ESG Scores สู่สาธารณชนในปี 2569

    ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยร่วมกับ FTSE Russell ได้เริ่มโครงการประเมินนำร่องแล้วตั้งแต่ปี 2567 โดยประเมินบริษัทที่อยู่ใน SET100 Index และ SET ESG Ratings ในปี 2566-2567 และจะเปิดให้บริษัทอื่น ๆ ที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมรับการประเมินได้ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป (ไม่มีค่าใช้จ่าย) และในช่วงนี้ จะยังไม่มีการประกาศผลคะแนน FTSE Russell ESG Scores สู่สาธารณะและยังคงมีการประเมิน SET ESG Ratings ควบคู่กันไป ก่อนที่ในปี 2569 จะเริ่มมีการประกาศผลคะแนน FTSE Russell ESG Scores รายบริษัทบนเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ และยกเลิกการประเมิน SET ESG Ratings

 

 

ดังนั้น ทุกบริษัทจดทะเบียนจึงควรบริหารจัดการประเด็น ESG ที่เป็นความเสี่ยงสำคัญของธุรกิจแบบเชิงรุก และพัฒนาผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง พร้อมเปิดเผยข้อมูล ESG อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และโปร่งใส พร้อมรับมือกับกติกาใหม่ในโลกการทำธุรกิจที่ต้องมี “ความยั่งยืน” เป็นอาวุธสำคัญให้สามารถค้าขายและแข่งขันได้ รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นในสายตานักลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า คู่ค้า หรือ NGOs

ตลาดหลักทรัพย์ฯ​ ได้วางแผนสนับสนุนการเตรียมความพร้อมเรื่องการประเมินหุ้นไทยตามมาตรฐานโลกผ่านการจัดอบรม สัมมนา เวิร์คช็อป และสื่อความรู้ต่าง ๆ (คลิก) เพื่อส่งต่อความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมิน FTSE Russell ESG Scores ให้ทุกภาคส่วนพร้อมปรับตัวสำหรับการนำ FTSE Russell ESG Scores มาใช้ในประเทศไทย และร่วมกันก้าวไปข้างหน้าเพื่อพัฒนาศักยภาพและยกระดับตลาดทุนไทยให้มีความโดดเด่น เป็นที่ยอมรับในวงกว้างต่อไป

 


[1] ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดทำ “รายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI (Thailand Sustainability Investment)” ตั้งแต่ปี 2558 เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุนในการตัดสินใจลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings” พร้อมทั้งประกาศผลประเมิน SET ESG Ratings ตั้งแต่ปี 2566

 

ข้อมูลอ้างอิง