Topic

ความอยู่รอดขององค์กรยุคใหม่...อยู่ที่ 'ผู้นำ'และ 'แนวทางการนำพาองค์กร' - ภาวะผู้นำเชิงจริยธรรม (Ethical Leadership) คือคำตอบ -

เขียนโดย
ทยุต สิริวรการวณิชย์
SET ESG Academy 
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
2024-12-17 @16:05:16


ในยุคที่โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายที่ซับซ้อนสูง การกำกับดูแลกิจการหรือธรรมาภิบาลที่ดี (Good Governance)[1] ไม่เพียงเป็นเรื่องการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (Compliance) แต่ได้กลายเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยให้องค์กรสามารถปรับตัวรับมือกับความไม่แน่นอน สร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ (Competitive Advantage) และสร้างความยั่งยืนในระยะยาวได้อย่างแท้จริง

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ กล่าว Keynote หัวข้อ “Visionary Stewardship: Igniting Integrity and Innovation in Corporate Governance”  ในงาน SET ESG Professionals Forum 2024 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า Good Governance ไม่เพียงแต่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้เสีย แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้องค์กรสามารถสร้างนวัตกรรมและความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่โลกธุรกิจต้องเผชิญกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ประเด็นความอ่อนไหวด้านสังคม และวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมย้ำถึงความสำคัญของ Integrity หรือความซื่อสัตย์สุจริตในทุกระดับขององค์กร โดยเฉพาะในบทบาทของผู้นำที่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี (Role Model) และขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรที่โปร่งใสและมีจริยธรรม

 

ภาวะผู้นำที่ดี... ต้องมองไกล เปิดรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ และสร้างแรงบันดาลใจ

ปัจจุบันตลาดทุนต้องเผชิญกับเหตุการณ์และความท้าทายที่หลากหลาย ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และจริยธรรม (Ethical Leadership) คือรากฐานสำคัญความสำเร็จขององค์กรท่ามกลางความท้าทายนี้ เพื่อสร้างความไว้วางใจจากภายในสู่ภายนอกองค์กรได้อย่างลึกซึ้ง บริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ และพาองค์กรเดิบโตอย่างมั่นคงต่อไป การสร้างความไว้วางใจนี้จึงไม่เพียงแต่ช่วยลดต้นทุนการดำเนินการมหาศาลแล้ว ยังช่วยสร้างระบบนิเวศที่แข็งแกร่งให้กับธุรกิจ และความได้เปรียบการแข่งขันในระยะยาวอีกด้วย

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การที่ผู้นำต้อง “Walk the Talk ซึ่งหมายความถึงการทำสิ่งที่ถูกต้องตามที่ตนเองได้เคยกล่าวไว้ หรือมีภาระผิดชอบ (Accountability) ต่อคำพูดของตน ที่ไม่ใช่เพียงแค่การกำหนดนโยบายแต่ต้องลงมือทำให้เห็นเป็นตัวอย่างจริง (Lead by Example) โดยศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ ได้ยกตัวอย่าง การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี’ ต้องเริ่มจากผู้บริหารระดับสูง ที่ต้องสื่อสารและปลูกฝังค่านิยมที่ดีให้กับพนักงานจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของ DNA ขององค์กร

นอกจากนี้ ผู้นำองค์กรไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่บริหารจัดการหรือตัดสินใจ แต่ต้องเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ และขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้เกิดขึ้นจริงทั้งในและนอกองค์กร (Legacy of Positive Impact) ซึ่งหมายถึง การที่ผู้นำต้องสร้างผลกระทบเชิงบวกที่ยั่งยืนให้เป็นที่ประจักษ์ ไม่เพียงแต่ต่อองค์กร แต่ยังรวมถึงคู่ค้า ลูกค้า ผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ ตลอดจนสังคมในวงกว้าง


 

ความท้าทายเรื่องความเชื่อมั่นในตลาดทุนไทย

อย่างไรก็ตาม ในบริบทของประเทศไทย การกำกับดูแลกิจการที่ดียังคงเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะประเด็นการดำเนินธุรกิจที่ทุจริตไม่โปร่งใส ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ปี 2023 ที่แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 108 ของโลก (จาก 180 ประเทศ) โดยอาจสะท้อนได้ถึงปัญหาความไม่โปร่งใสและการทุจริตในภาคธุรกิจ ความสามารถในการกำกับดูแลของภาครัฐ รวมถึงความแข็งแกร่งของระบบนิเวศตลาดทุนไทยก็เป็นได้

การทุจริตไม่ใช่แค่ปัญหาขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม” พร้อมย้ำว่าการแก้ไขปัญหานี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนคนไทยทุกคน ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ กล่าว


บทสรุป: ธรรมาภิบาลและภาวะผู้นำที่ดี...เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

Good Governance ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือในการลดความเสี่ยงหรือการปฏิบัติตามกฎระเบียบของตลาดทุน แต่เป็นากฐานสำคัญที่ช่วยให้องค์กรสามารถสร้างความยั่งยืนในระยะยาวได้อย่างแท้จริง ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และจริยธรรมจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี และขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างมั่นคงในยุคที่โลกธุรกิจต้องเผชิญกับความท้าทายที่ซับซ้อน

ในท้ายที่สุด Good Governance ไม่ใช่เพียงแค่การทำสิ่งที่ถูกต้องในสายตาของกฎหมาย แต่คือการทำสิ่งที่ถูกต้องในทุกสถานการณ์ แม้ไม่มีใครมองเห็น เพราะสิ่งนี้คือรากฐานของความไว้วางใจ ความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ และความยั่งยืนในระยะยาวขององค์กร


 [1] การกำกับดูแลที่ดี (Good Governance) หากนำไปใช้ในบริบทขององค์กร นิยามไว้ว่า การกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือบรรษัทภิบาล (Corporate Governance: CG)

แหล่งอ้างอิง
 

Corporate governance - บรรษัทภิบาล หรือการกำกับดูแลกิจการ (no date) SET Sustainability | Sustainable Capital Market Development. Available at: https://setsustainability.com/page/corporate-governance  (Accessed: 13 December 2024).

Mohamed, I. et al. (2024) CPI 2023 for Asia Pacific: Regional stagnation marked by inadequate..., Transparency.org. Available at: https://www.transparency.org/en/news/cpi-2023-asia-pacific-stagnation-due-to-inadequate-anti-corruption-commitments  (Accessed: 09 December 2024).