Topic

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยฟื้น ธุรกิจเร่งปรับตัว พร้อมโตอย่างยั่งยืน

  • ธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทยกำลังฟื้นตัว เกือบถึงระดับก่อนช่วงโควิดอีกครั้ง
  • การสนับสนุนให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสามารถเติบโตได้ในระยะยาวจำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่องผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
  • ธุรกิจต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกำลังเร่งปรับตัวอย่างหนัก ยกเครื่องเรื่องประสิทธิภาพการบริการ เป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาจุดขาย หวังดันธุรกิจให้เติบโตต่อเนื่อง

 


 

ท่องเที่ยวไทยฟื้น ใกล้เข้าจุดพีคก่อนช่วงโควิด

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาสรุปสถิติปี 2567 นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยรวม 35.54 ล้านคน เกือบเท่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 สร้างรายได้เข้าประเทศไทยแล้วกว่า 1.67 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 34% เป็นผลมาจากความต้องการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก รวมถึงมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น มาตรการยกเว้นวีซ่า (Visa-Free) เป็นต้น

คาดกันว่าภายในปี 2569 อัตราการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาถึงระดับก่อนช่วงโควิดอีกครั้ง โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน มาเลเซีย และอินเดีย ซึ่งยังคงนิยมมาเยือนประเทศไทยมากที่สุด เนื่องจากชื่นชอบความหลากหลายของอาหาร วัฒนธรรมที่เป็นมิตร ค่าครองชีพที่ไม่สูงนัก และธรรมชาติที่สวยงามมีชื่อเสียงติดอันดับโลก

อย่างไรก็ดี อัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอาจต้องเจอภาวะสะดุด หากเรามุ่งกระตุ้นแต่ในเชิง “ปริมาณ” ให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวมาก แต่ละเลยการดูแล “คุณภาพ” ของการจัดการทรัพยากรและการดูแลสิ่งแวดล้อม ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 ทำให้นักท่องเที่ยวหวาดผวา เลี่ยงการเดินทางเข้าตัวเมือง เกิดค่าเสียโอกาสของการท่องเที่ยวในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นมูลค่าราว 1,000-2,400 ล้านบาท และหากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ในระยะยาว น่าจะส่งผลเสียหายต่อภาคการท่องเที่ยวในภาพรวมอย่างแน่นอน

เอกชนเร่งปรับตัว หนุนท่องเที่ยวโตอย่างยั่งยืน

ภาคเอกชนจึงกำลังเร่งปรับตัว พร้อมอ้าแขนต้อนรับนักท่องเที่ยว เน้นพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการ การอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และการพัฒนานวัตกรรมเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เช่น

  • ธุรกิจสนามบิน เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) ตั้งเป้ามุ่งสู่การเป็น Green Airport ทั้งการเชื่อมโยงกับระบบขนส่งทางราง เรือ เพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินทางได้สะดวกขึ้น ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ให้ความสำคัญกับ “ความยั่งยืน” โดยไม่เพียงแต่ปรับสนามบินให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการ ทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด เช่น ติดตั้งโซลาร์เซลล์ 4.4 เมกะวัตต์บนหลังคาอาคารผู้โดยสารที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และช่วยลดความร้อนภายในอาคารลงกว่า 7 องศาเซลเซียส ลดการใช้พลังงานจากระบบความเย็นในอาคาร 2% ลดค่าใช้จ่ายได้ปีละกว่า 11 ล้านบาท และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ปีละกว่า 3,600 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ (เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ถึง 3.6 แสนต้นต่อปี) อีกทั้งใช้เทคโนโลยี Biometrics ในการระบุตัวตนของผู้โดยสาร เพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็ว จากใช้เวลา 3 นาทีเหลือเพียง 1 นาทีต่อคน ลดการรอคิวในแต่ละจุดบริการภายในสนามบิน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก
  • ธุรกิจสายการบิน เช่น บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส (BA)เดินหน้านโยบายการจัดการพลังงานเชื้อเพลิงอย่างเหมาะสม ใช้น้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพ โดยทุกเที่ยวบินของสายการบินบางกอกแอร์เวย์สลดการใช้เอกสารในรูปแบบกระดาษ เปลี่ยนเป็นเอกสารรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด มีการคำนวณสมรรถนะของเครื่องบินและข้อมูล Navigation Chart ในรูปแบบ Jeppesen FliteDeck Pro X Application ทำให้สามารถลดน้ำหนักในเที่ยวบินลง ประหยัดเชื้อเพลิงในการบินได้ถึง 3,583 ตันในปี 2566 ประหยัดต้นทุนได้ 129.7 ล้านบาท เทียบเท่าการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 11,321 ตันคาร์บอนไดออกไซด์
  • ธุรกิจโรงแรม เช่น บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (MINT) ธุรกิจอาหารและโรงแรมชื่อดัง เช่น เครืออนันตรา โฟร์ซีซั่นส์ เซ็นต์รีจิส และแมริออท ติดตั้งระบบไฟฟ้า LED ใช้แอร์ประสิทธิภาพสูงและระบบควบคุมอุณหภูมิอัตโนมัติ มีการประเมินความเสี่ยงและผลกระทบสำหรับโรงแรมที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติและเกี่ยวข้องกับเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ โดยยึดตามกรอบการรายงานสากล Taskforce on Nature-related Financial Disclosures (TNFD) มุ่งสร้างการเติบโตทางธุรกิจควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
  • ธุรกิจอาหาร เช่น บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) (TWPC) เจ้าของแบรนด์เส้นหมี่และเส้นก๋วยเตี๋ยวตรากิเลนคู่ เน้นพัฒนาห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน โดยเริ่มตั้งแต่การให้ความรู้ Smart Farming กับเกษตรกร ผ่านโครงการ “Thai Wah Farmer Network” สนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้กลับไปพัฒนาบ้านเกิด ไปจนถึงการพัฒนาเครื่องมือช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงความรู้และเทคโนโลยีการเกษตรอย่างถูกต้อง ช่วยเพิ่มผลผลิต พร้อมยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ได้สินค้าที่ดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังเน้นการพัฒนานวัตกรรม เช่น พัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพจากแป้งมันสำปะหลังที่ย่อยสลายเองได้ เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกในไทย
  • ธุรกิจสถาบันการเงิน เช่น บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) (SCBX) กำหนดนโยบายไม่ปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจถ่านหินใหม่ สนับสนุนสินเชื่อพลังงานสะอาด โดยสร้างแรงจูงใจด้วยการออกผลิตภัณฑ์การเงินยั่งยืน “สินเชื่อลด PM 2.5” ซึ่งเป็นสินเชื่อที่เน้นสำหรับผู้ประกอบการอ้อยและน้ำตาลทราย ให้เป็นเงินทุนในการซื้อรถตัดอ้อยแทนการเผา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาฝุ่นและมลพิษ


ในขณะที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยกำลังฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว การจัดการทรัพยากรและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ไปจนถึงการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ จึงเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างการเติบโตของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ท่ามกลางการขยายตัวของตลาดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศและความท้าทายด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ต้องรับมืออย่างจริงจัง

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

 


 

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1160350
https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1754630

 

ผู้เขียนบทความ

ฝ่ายพัฒนาการลงทุนอย่างยั่งยืน 
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย