Topic
7 เช็กลิสต์ คัดหุ้นเด่นพื้นฐานดี
- การกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance) เป็นรากฐานสำคัญของการทำธุรกิจ ช่วยให้องค์กรมีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ สามารถรับมือกับความเสี่ยงและปรับตัวได้ดี
- บริษัทที่มี Governance ที่ดี มีแนวโน้มสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนที่โดดเด่นในระยะยาว
- นักลงทุนสามารถใช้ 7 เช็กลิสต์ในการคัดกรองหุ้นที่มี Governance ที่ดี และค้นหาข้อมูลได้จากแหล่งต่าง ๆ เช่น แบบ 56-1 One Report หรือเว็บไซต์ SETSMART
Governance: รากฐานสำคัญสู่การเติบโตในระยะยาวของธุรกิจ
การกำกับดูแลกิจการ หรือ Governance (G) คือ ความสัมพันธ์ในเชิงกำกับดูแล รวมถึงกลไกมาตรการที่ใช้กำกับการตัดสินใจของคนในองค์กรให้เป็นไปตามวัตถุุประสงค์ เป้าหมาย และทิศทางขององค์กรตามวัตถุประสงค์ รวมถึงปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ มีระบบตรวจสอบการดำเนินงานที่ชัดเจน แม้หลายคนมองว่าเป็นเพียงการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส ไม่มีการทุจริต แต่ในปัจจุบัน การกำกับดูแลกิจการมีบทบาทมากขึ้นและเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้ในระยะยาว
การกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน เพราะมีระบบบริหารจัดการที่ดี ทำให้องค์กรสามารถวางกลยุทธ์ กำหนดทิศทางและเป้าหมายขององค์กร และดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ นอกจากนี้ การกำกับดูแลกิจการที่ดียังครอบคลุมถึงการควบคุม การตรวจสอบ การบริหารความเสี่ยง และการถ่วงดุลไปพร้อมกัน ส่งผลให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ธุรกิจที่มีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดีเปรียบเสมือนมีรากฐานโครงสร้างที่มั่นคง สามารถบริหารความเสี่ยงและปรับตัวได้ในทุกสถานการณ์ ยกระดับความสามารถในการแข่งขันและขยายศักยภาพในการเติบโตได้ในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม (E) และสังคม (S) กำลังมีบทบาทต่อการตัดสินใจทางธุรกิจและการลงทุน จนกลายเป็นกติกาใหม่ในเวทีการค้าโลก
หุ้น Governance ดี: มีโอกาสสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน?
บริษัทที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีมีแนวโน้มที่จะสร้างผลการดำเนินงานทางการเงินที่โดดเด่นได้ในระยะยาว โดยมักมีอัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity: ROE) และอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (Return on Asset: ROA) สูงกว่าบริษัทที่มีปัญหาด้านการกำกับดูแลกิจการ เพราะมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและความเสี่ยงต่ำ นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนโดยรวม (Total Shareholder Return: TSR) ได้ดีกว่าและมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (Compound Annual Growth Rate :CAGR) สูงกว่า เพราะสามารถปรับตัวได้ดีในภาวะเศรษฐกิจผันผวนและมีผลการดำเนินงานด้าน ESG ที่ดี
ที่มา: SET ESG Professionals Forum 2024: Innovative Corporate Governance | Exclusive Feature
บทวิจัยจาก Financial Analysts Journal ระบุว่า ในช่วงปี 2009-2017 หากเราลงทุนในหุ้นทั่วโลก โดยแบ่งเป็นพอร์ตที่ลงทุนในหุ้นที่มีคะแนนการกำกับดูแลกิจการ (G) สูง เทียบกับพอร์ตที่ลงทุนในหุ้นที่มีคะแนน G ต่ำ พบว่าพอร์ตหุ้นที่มีคะแนน G สูงให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของ JUST Capital ที่แสดงให้เห็นว่าในช่วงวิกฤต Covid-19 ปี 2020 การลงทุนในหุ้นที่มีคะแนน G สูงให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าหุ้นที่มีคะแนน G ต่ำ
ที่มา: Corporate Governance, ESG, and Stock Returns around the World, Mozaffar Khan
ที่มา: Chart of the Week: Companies with Strong Corporate Governance Lead the Market in a Downturn, Charlie Mahoney
7 เช็กลิสต์ ค้นหาหุ้นเด่น Governance ดี
เช็กลิสต์คัดกรองหุ้นเด่น Governance ดีจาก “Bain’s 7 question framework for evaluating your company’s Corporate Governance”
- คณะกรรมการมีความหลากหลายช่วยให้ตัดสินใจได้รอบด้าน
บอร์ดที่มีความหลากหลายทั้งในด้านเพศ อายุ เชื้อชาติ และประสบการณ์ ช่วยให้มีมุมมองที่หลากหลายในการตัดสินใจ ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาและพัฒนาธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น บริษัท TSMC ที่มีกรรมการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ความปลอดภัยทางไซเบอร์ การเงิน การศึกษาวิจัยและพัฒนา และการบริหารความเสี่ยง ส่งผลให้บริษัทสามารถรักษาความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก - บูรณาการ ESG เข้ากับ DNA องค์กร
โดยผนวก ESG เป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ พันธกิจ และกลยุทธ์หลักขององค์กร รวมถึงการปฏิบัติงานประจำวัน ไม่ใช่แค่การทำเพื่อปฏิบัติตามกฎระเบียบ เช่น บริษัท Nike ที่ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตทั้งห่วงโซ่อุปทานให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การใช้วัตถุดิบรีไซเคิล การลดการปล่อยคาร์บอน ไปจนถึงการพัฒนาชุมชน ทำให้แบรนด์แข็งแกร่งและได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคทั่วโลก - มีวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นนวัตกรรมและพร้อมปรับตัวอยู่เสมอ
องค์กรสนับสนุนให้พนักงานกล้าคิดนอกกรอบและนำเสนอไอเดียใหม่ ๆ เช่น บริษัท 3M อนุญาตให้พนักงานใช้เวลา 15% จากเวลางานทั้งหมด ไปทดลองสร้างสรรค์อะไรก็ได้ที่มีความสนใจ โดยที่บริษัทจะสนับสนุนเครื่องมืออย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ของพนักงาน เปิดโอกาสให้พนักงานได้พัฒนาศักยภาพ - กำหนด KPI ด้านความยั่งยืนให้คณะกรรมการและผู้บริหาร
ตั้งเป้าหมายตัวชี้วัดด้านความยั่งยืนที่เชื่อมโยงกับผลตอบแทนของบอร์ดและผู้บริหารระดับสูง เช่น บริษัท Ørsted ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 70% ภายในปี 2030 โดยผูกเป้าหมายกับโบนัสของบอร์ดและผู้บริหาร ทำให้สามารถเปลี่ยนธุรกิจหลัก จากการเป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ กลายเป็นผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนได้อย่างรวดเร็วภายในระยะเวลา 10 ปี - ประเมินความเสี่ยงได้ พร้อมรับมือทุกสถานการณ์
จากการมีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี บริษัทต้องมีการประเมินความเสี่ยงและเตรียมพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในภาวะวิกฤต เช่น บริษัท ASML มีระบบการประเมินความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทานอย่างสม่ำเสมอ เป็นผลให้สามารถรับมือกับวิกฤตการขาดแคลนชิปและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานในช่วงโควิด-19 ในขณะที่หลายบริษัทไม่สามารถส่งมอบสินค้าได้ - พัฒนาศักยภาพกรรมการอย่างต่อเนื่อง
บอร์ดจำเป็นต้องได้รับความรู้และอัพเดทเทรนด์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การบริหารความเสี่ยงใหม่ ๆ (Emerging Risks) และการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น บริษัท NVIDIA ส่งเสริมให้บอร์ดเข้าใจเทคโนโลยี AI อย่างลึกซึ้ง ทำให้สามารถกำหนดทิศทางและกลยุทธ์ด้าน AI ได้อย่างแม่นยำ นำไปสู่การเป็นผู้นำในตลาด AI Chip - วางแผนสืบทอดตำแหน่งที่ชัดเจน
เพื่อให้บริษัทมีความต่อเนื่องในการบริหารจัดการและลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงผู้นำ บริษัทจำเป็นต้องมีแผนพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ เช่น บริษัท Apple ที่มีการวางแผนสืบทอดตำแหน่งอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านจาก Steve Jobs สู่ Tim Cook ที่ใช้เวลาเตรียมการกว่า 10 ปี ด้วยการให้ Cook เข้ามาเรียนรู้งานในตำแหน่ง COO ก่อน ทำให้สามารถรักษาวัฒนธรรมองค์กรและต่อยอดความสำเร็จ จนทำให้ Apple กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุดในโลก
(ส่วนหนึ่งจากงาน SET ESG Professionals Forum 2024)
นักลงทุนสามารถค้นหาข้อมูลการกำกับดูแลกิจการของหุ้นเพื่อตอบ 7 เช็กลิสต์ได้จากหลายแหล่ง เช่น เว็บไซต์ของบริษัท แบบ 56-1 One Report (หัวข้อ "การขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน" และ "การกำกับดูแลกิจการ") เว็บไซต์ SETSMART (เมนู "ข้อมูล ESG”) ดังรูป
- ข้อมูลการบริหารความเสี่ยง ช่วยให้นักลงทุนประเมินความเสี่ยงของธุรกิจที่เข้าไปลงทุนได้แม่นยำขึ้น และมั่นใจได้ว่าบริษัทมาตรการจัดการความเสี่ยงในสถานการณ์ต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
- ข้อมูลความหลากหลายของคณะกรรมการ ช่วยให้นักลงทุนประเมินศักยภาพของบอร์ดในการนำพาองค์กรท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน
- ข้อมูลการพัฒนาความรู้กรรมการ ทำให้นักลงทุนเห็นความพร้อมของบอร์ดในการรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ และโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
การกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance) ไม่เพียงเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยให้องค์กรเติบโตได้ในระยะยาว แต่ยังสร้างโอกาสให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ดี โดยนักลงทุนสามารถใช้ 7 เช็กลิสต์ในการคัดเลือกหุ้นที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดีจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เช่น แบบ 56-1 One Report หรือเว็บไซต์ SETSMART เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน
ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: SET ESG Professionals Forum 2024
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
ผู้เขียนบทความ
ฝ่ายพัฒนาการลงทุนอย่างยั่งยืน
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย