Topic
ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (Conflict of Interest)
ความขัดแย้งทางผลประโยชน์สามารถบ่อนทำลายประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจและส่งผลเสียต่อความเจริญก้าวหน้าขององค์กรได้ หากกรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าความเจริญเติบโตของบริษัท การตัดสินใจที่เกิดขึ้นอาจไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดขององค์กร การตัดสินใจทางธุรกิจควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นกลาง ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และผลประโยชน์สูงสุดขององค์กร
ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ คืออะไร
ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ คือ การที่บุคคลในองค์กรไม่ได้ทำหน้าที่ให้เกิดผลลัพธ์หรือผลประโยชน์ตรงตามวัตถุประสงค์ของบริษัท แต่กลับเอื้อประโยชน์ให้ตนเองหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ทำให้บริษัทไม่ได้ประโยชน์เต็มที่หรืออาจเสียหายจนทำให้บริษัทมีปัญหา
ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์
- ความรู้และตำแหน่งหน้าที่ ยิ่งมีความรู้เกี่ยวกับข้อมูลและระบบองค์กร รวมถึงดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่รับผิดชอบสูง ทำให้ยิ่งมีโอกาสในการเกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ได้
- ระบบควบคุมภายใน หากไม่มีระบบควบคุมภายในที่เพียงพอหรือมีบทลงโทษที่ไม่จริงจัง อาจเปิดช่องให้เกิดการกระทำที่ไม่เหมาะสมได้ง่ายขึ้น
ประเภทของรายการที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์
สามารถแบ่งประเภทของรายการที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ได้เป็น 3 ประเภท คือ
- ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างส่วนตัวหรือผู้ปฏิบัติหน้าที่และองค์กร เช่น
การให้บริการแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง ต้องเปิดเผยหรือรายงานก่อนเข้าทำงานหรือทำรายการทั้งกรณีจ้างญาติสนิทเข้าทำงานในบริษัทโดยเฉพาะในหน่วยงานเดียวกัน หรือมีญาติสนิททำงานกับคู่แข่ง - ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างส่วนตัวหรือผู้ปฏิบัติหน้าที่กับผู้มีส่วนได้เสียภายนอก เช่น
การรับงานภายนอกบริษัท ต้องไม่ใช้เวลาของบริษัทไปทำงานให้ลูกค้า คู่ค้า หรือคู่แข่ง หรือมีโอกาสเป็นลูกค้า คู่ค้า หรือคู่แข่ง ทั้งนี้หากมีความเกี่ยวข้องอื่น ๆ บริษัทอาจกำหนดให้ต้องขออนุญาตก่อนทำงานนอกเวลาหรือนอกบริษัท
การรับตำแหน่งกรรมการในบริษัทอื่น ต้องไม่เป็นกรรมการในบริษัทลูกค้า คู่ค้า หรือคู่แข่ง แต่โดยทั่วไปต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการก่อน และมีการจำกัดจำนวนบริษัทที่สามารถเป็นกรรมการได้
การลงทุนหรือถือหุ้น หากถือหุ้นในปริมาณเล็กน้อย (ไม่เกิน 1%) อาจไม่ต้องดำเนินการใด ๆ แต่หากถือหุ้นจำนวนมาก ต้องรายงานหรือขออนุมัติก่อน และต้องไม่ถือหุ้นในบริษัทคู่แข่ง - ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างองค์กรกับผู้มีส่วนได้เสียภายนอก
การซื้อหรือขายทรัพย์สิน กับผู้เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตามระเบียบที่กำหนด เช่น การให้บุคคลภายนอกประเมินราคา ต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นเพื่อพิจารณารายการที่มีความเกี่ยวข้องกัน เป็นต้น
การดำเนินการเพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์
- กำหนดแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์โดยกำหนดไว้ในจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัท โดยแนวปฏิบัติจะกำหนดเรื่องต่าง ๆ เช่น เรื่องที่ควรหรือไม่ควรหรือต้องไม่ปฏิบัติ การเปิดเผย การขออนุญาต การรายงาน เป็นต้น พร้อมนี้ กำหนดความผิดทางวินัยและบทลงโทษของการไม่ปฏิบัติตาม เช่น ถูกปลดออกจากงาน ถูกดำเนินคดีในกรณีที่ทำให้บริษัทเสียหาย เป็นต้น
- มีระบบติดตามและประเมินผลเพื่อทำการทบทวนและปรับปรุงจรรยาบรรณธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
- มีการกำหนดบุคคลหรือหัวหน้างาน และคณะอนุกรรมการที่ทำหน้าที่ตอบคำถาม ชี้แจงให้ความกระจ่างกรณีที่มีการตีความ ตลอดจนการพิจารณารายการที่มีขนาดใหญ่และมีความสำคัญซึ่งมีความเสี่ยงต่อชื่อเสียงหรือภาพพจน์ของบริษัท
- สื่อสารและจัดอบรมให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความขัดแย้งทางผลประโยชน์
- พิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจทำธุรกรรม
- รายการดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของบริษัทหรือไม่
- มีความจำเป็นและความสมเหตุสมผลในการทำรายการหรือไม่
- ผิดกฎหมายหรือไม่
- มีผลกระทบต่อบริษัทหรือบุคคลอื่นอย่างไร
- สาธารณชนเข้าใจต่อการทำธุรกรรมนี้หรือไม่
การจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์
- การใช้เทคโนโลยีในการจัดการ
องค์กรสามารถใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลและระบบ AI เพื่อช่วยตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดจากความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เช่น การใช้ Blockchain ในการตรวจสอบซึ่งช่วยเพิ่มความโปร่งใสในการทำธุรกรรมและลดโอกาสเกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยทุกฝ่ายสามารถตรวจสอบข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ การใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ช่วยให้องค์กรสามารถคาดการณ์และป้องกันความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางผลประโยชน์ได้อย่างแม่นยำ
- การกำหนดมาตรฐานและกระบวนการตรวจสอบ
องค์กรควรกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจนในการจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เช่น การให้บุคคลภายนอกประเมินราคาสินค้า การจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบธุรกรรม การใช้ระบบการอนุมัติที่มีหลายขั้นตอนสำหรับรายการที่มีนัยสำคัญ เป็นต้น
- การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่โปร่งใส
องค์กรควรส่งเสริมวัฒนธรรมที่เปิดเผยและโปร่งใส โดยการกำหนดนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลผลประโยชน์ส่วนตัว เช่น การรายงานการถือหุ้น การรับงานภายนอก การมีความสัมพันธ์กับคู่ค้า เป็นต้น
- ESG Supplier Checklist
หากองค์กรกำหนดให้ใช้ ESG มาเป็นเกณฑ์หลักในการคัดเลือกซัพพลายเออร์ ความขัดแย้งทางผลประโยชน์จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากทุกกระบวนการตัดสินใจจะต้องอิงจากหลักเกณฑ์ที่ตรวจสอบได้ แทนที่จะพึ่งพาความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือการตัดสินใจที่อาจนำไปสู่ผลประโยชน์ทับซ้อน
- การฝึกอบรมและสร้างความตระหนักรู้
การอบรมเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์ควรถูกออกแบบให้เหมาะสมกับบริบทปัจจุบัน องค์กรสามารถใช้เทคโนโลยีเสมือนจริง (VR) หรือแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อจำลองสถานการณ์และสร้างความเข้าใจให้พนักงาน
ความขัดแย้งทางผลประโยชน์เป็นปัญหาที่อาจพบได้ในทุกองค์กรและมีผลกระทบรุนแรงต่อความโปร่งใส ความน่าเชื่อถือ และประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ การกำหนดแนวทางดำเนินการต่อรายการที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างชัดเจน ยึดถือหลักการที่คำนึงถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจของบริษัทเป็นหลัก คำนึงถึงความซื่อสัตย์สุจริต (honest) และความเป็นธรรม (fair) จะช่วยป้องกันความเสียหายและสร้างผลประโยชน์ให้บริษัทได้
ความยิ่งใหญ่ขององค์กรที่ยั่งยืนไม่ได้ขึ้นอยู่กับผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วย
ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย