Topic
Sustainability Assurance คืออะไร? เจาะลึกมาตรฐาน และแนวปฏิบัติเพื่อรายงานความยั่งยืนที่น่าเชื่อถือ
การตรวจสอบและการให้ความเชื่อมั่นในรายงานความยั่งยืน (Sustainability Assurance):
การยกระดับความน่าเชื่อถือใน Sustainability Data
โดย ชยาธร ฉันท์เรืองวณิชย์
หุ้นส่วน PwC Thailand และสมาชิก SET ESG Experts Pool *
*บทความนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง SET ESG Experts Pool และ SET ESG Academy ในการนำเสนอประเด็น ESG ที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจและการลงทุนของไทย
Highlights:
- เข้าใจความสำคัญและแนวโน้ม: การให้ความเชื่อมั่นรายงานความยั่งยืน (Sustainability Assurance) ในระดับสากล และผลกระทบต่อธุรกิจไทย
- คำจำกัดความที่ชัดเจน: ของคำศัพท์ที่เกี่ยวข้อง เช่น การทวนสอบ การสอบทาน และการตรวจสอบ เป็นต้น
- ภาพรวมมาตรฐานสากลที่ใช้ในการให้ความเชื่อมั่น เช่น A1000AS, ISAE 3000/3410, ISO 14064-3 เป็นต้น
- ความแตกต่างระหว่างระดับความเชื่อมั่น: การให้ความเชื่อมั่นรายความยั่งยืนแบบจำกัด (Limited Assurance) และแบบสมเหตุสมผล (Reasonable Assurance)
- แนวทางปฏิบัติสำหรับองค์กร: แนวทางเริ่มต้นกระบวนการให้ความเชื่อมั่นในรายงานความยั่งยืน
บทนำ: ทำไมความน่าเชื่อถือของข้อมูล ESG จึงสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน
ปัจจุบันผู้ลงทุน ลูกค้า และสังคมต่างให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ(ESG) มากขึ้น "การเปิดเผยข้อมูลและการจัดทำรายงานความยั่งยืน" จึงเป็นเครื่องมือสื่อสารสำคัญที่องค์กรใช้เพื่อแสดงความมุ่งมั่นและความคืบหน้าในการดำเนินงาน คำถามสำคัญที่ตามมาคือ "เราจะเชื่อถือข้อมูลในรายงานเหล่านั้นได้อย่างไร?"
ด้วยเหตุนี้ กระบวนการ "การตรวจสอบและให้ความเชื่อมั่นรายงานความยั่งยืน" (Sustainability Assurance)” จึงทวีความสำคัญ และกลายเป็นแนวโน้มสากลที่ธุรกิจทั่วโลกกำลังมุ่งไป
แนวโน้มสากล: ข้อมูลสะท้อนความต้องการการรับรองที่เพิ่มขึ้น
ข้อมูลล่าสุดจากการศึกษาโดย IFAC AICPA และ CIMA ในปี 2023 พบว่า 73% ของบริษัทขนาดใหญ่ในกลุ่มประเทศ G20 มีการขอรับรองข้อมูลด้านความยั่งยืนบางส่วน โดยเฉพาะข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG Emissions) สะท้อนให้เห็นถึงความคาดหวังจากผู้มีส่วนได้เสียที่สูงขึ้นทั่วโลก
สำหรับประเทศไทย แม้การตรวจสอบและการให้ความเชื่อมั่นในรายงานความยั่งยืนจะยังอยู่ในระยะเริ่มต้นและเป็นไปโดยสมัครใจ องค์กรชั้นนำหลายแห่งได้เริ่มปรับตัวเพื่อยกระดับความน่าเชื่อถือของข้อมูลให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุน แต่ยังเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับกฎระเบียบต่าง ๆ ในอนาคตอีกด้วย
เข้าใจคำศัพท์พื้นฐาน: ทวนสอบ สอบทาน ตรวจสอบ และการให้ความเชื่อมั่น ต่างกันอย่างไร
เพื่อให้เข้าใจกระบวนการและนำไปใช้อย่างถูกต้อง เรามาทำความรู้จักกับคำศัพท์พื้นฐานที่มักพบเจอบ่อยครั้ง
- การทวนสอบ (Verification): มักใช้ในบริบทด้านสิ่งแวดล้อม เป็นการยืนยันความถูกต้องของข้อมูลเชิงปริมาณที่เฉพาะเจาะจงในรายงาน เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้ทรัพยากร โดยผู้ทวนสอบที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านตามมาตรฐาน ISO 14064-3เป็นต้น
- การสอบทาน (Review): เป็นกระบวนการที่ให้ความเชื่อมั่นในระดับจำกัด (Limited Assurance) โดยต่ำกว่าระดับ Audit ซึ่งผู้ตรวจสอบจะใช้วิธีการสอบถาม (Inquiries) และวิเคราะห์เปรียบเทียบ (Analytical Procedures) เป็นหลัก เพื่อดูว่ามีสิ่งใดที่บ่งชี้ว่าข้อมูลไม่ถูกต้องหรือไม่
- การตรวจสอบ (Audit): เป็นกระบวนการตรวจสอบข้อมูลหรือระบบขององค์กรเพื่อให้ความเห็นว่าข้อมูลที่นำเสนอนั้น "ถูกต้องตามเกณฑ์ที่ตกลงกัน" หรือไม่ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ให้ความเชื่อมั่นในระดับสูง (Reasonable Assurance)
- การให้ความเชื่อมั่น (Assurance): เป็นคำที่กว้างที่สุดและครอบคลุมทุกกระบวนการข้างต้น ทั้ง การทวนสอบ สอบทาน และตรวจสอบ โดยหมายถึงกระบวนการที่บุคคลภายนอกที่เป็นอิสระเข้ามาตรวจสอบข้อมูลหรือระบบขององค์กร เพื่อเพิ่มระดับความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้งานข้อมูลนั้น ๆ
มาตรฐานของการตรวจสอบและการให้ความเชื่อมั่นในรายงานความยั่งยืน
การตรวจสอบและให้ความเชื่อมั่นในรายงานความยั่งยืนอ้างอิงมาตรฐานสากลหลายฉบับ โดยมาตรฐานหลักที่นิยมใช้ ได้แก่
- AA1000 Assurance Standard (AA1000AS) *
เป็นมาตรฐานที่พัฒนาโดยองค์กร AccountAbility โดยมุ่งเน้นการประเมิน "กระบวนการ" จัดทำรายงานว่าสอดคล้องกับหลักการสำคัญ 3 ประการหรือไม่ ดังนี้:
- Inclusivity (การมีส่วนร่วม): การตรวจสอบว่าผู้มีส่วนได้เสียได้รับการมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างรายงานอย่างเหมาะสมหรือไม่ รวมถึงการที่ข้อมูลและมุมมองจากผู้มีส่วนได้เสียถูกนำมาพิจารณาในการจัดเตรียมรายงานหรือไม่
- Materiality (สาระสำคัญ): การตรวจสอบสาระสำคัญเกี่ยวข้องกับการประเมินว่า รายงานครอบคลุมประเด็นที่เป็นสาระสำคัญที่มีผลกระทบต่อองค์กรและผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม หรือไม่
- Responsiveness (การตอบสนอง): การประเมินว่ารายงานได้มีการตอบสนองต่อข้อเสนอแนะ ความกังวล และความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียอย่างไร รวมถึงมีการปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อสะท้อนการตอบสนองนี้หรือไม่
- มาตรฐานงานที่ให้ความเชื่อมั่น (ISAE) *
- ISAE 3000: งานที่ให้ความเชื่อมั่นนอกเหนือจากการตรวจสอบ หรือสอบทานข้อมูลทางการเงินในอดีต เช่น ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม หรือการกำกับดูแล เป็นต้น อันเป็นส่วนหนึ่งของรายงานความยั่งยืน โดย ISAE 3000 ถูกใช้ในการตรวจสอบความถูกต้องและความโปร่งใสของข้อมูลในรายงานความยั่งยืน และประเมินว่าสิ่งที่ระบุในรายงานสอดคล้องกับข้อกำหนดและหลักการที่องค์กรหรือมาตรฐานที่ระบุไว้หรือไม่
- ISAE 3410: งานที่ให้ความเชื่อมั่นต่อรายงานก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเน้นการตรวจสอบและรับรองข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อมของรายงานความยั่งยืน ซึ่ง ISAE 3410 จะใช้ในการตรวจสอบข้อมูลที่องค์กรรายงานเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อตรวจสอบว่ามีความถูกต้องและสอดคล้องตามหลักการที่องค์กรตั้งไว้หรือไม่
- มาตรฐานที่กำลังจะบังคับใช้: ISSA 5000 เป็นมาตรฐานใหม่ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นกรอบสำหรับการตรวจสอบและการให้ความเชื่อมั่นด้านความยั่งยืนโดยเฉพาะ ซึ่งให้ความสำคัญกับการระบุและจัดลำดับประเด็นด้านความยั่งยืนที่มีความสำคัญต่อลักษณะการดำเนินธุรกิจโดยผู้ตรวจสอบต้องพิจารณาข้อมูลสำคัญ เช่น
- กระบวนการจัดทำข้อมูล
- การระบุและจัดลำดับความสำคัญของประเด็นที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับการตรวจสอบ
- ความเหมาะสมและการบรรลุเกณฑ์ที่ใช้ในการสร้างข้อมูลด้านความยั่งยืน
- ความสำคัญของการเปิดเผยข้อมูลทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ
ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มใช้กับรายงานที่มีรอบระยะเวลาเริ่มต้นในหรือหลังวันที่ 15 ธันวาคม 2569
- ISO 14064-3
เป็นมาตรฐานที่กำหนดหลักการและข้อกำหนดสำหรับการตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องหรือที่เรียกว่า "การทวนสอบ (Verification)" ของรายงานปริมาณก๊าซเรือนกระจก ซึ่งครอบคลุมการวัด การติดตาม การรายงาน และการตรวจสอบข้อมูลก๊าซเรือนกระจกทั้งในระดับองค์กร โครงการ และผลิตภัณฑ์ โดยเป็นการยืนยันความถูกต้องของข้อมูลและการคำนวณตามหลักการที่ยอมรับสากล เช่น GHG Protocol หรือแนวทางขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เป็นต้น
* ขอบเขตของการตรวจสอบและการให้ความเชื่อมั่นในรายงานความยั่งยืน ขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างบริษัทและผู้ตรวจฯ ซึ่งอาจเป็นการตรวจสอบและการให้ความเชื่อมั่นในข้อมูลเพียงบางส่วน (รายตัวชี้วัด) หรือทั้งรายงานความยั่งยืน ว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากลต่าง ๆ เช่น GRI TCFD CSRD IFRS S1 S2 เป็นต้น ซึ่งการระบุขอบเขตของการตรวจสอบและให้ความเชื่อมั่นนี้จะแสดงอยู่ในหน้ารายงานนั้น ๆ
ผลลัพธ์ของการตรวจสอบและการเชื่อมั่นในรายงานความยั่งยืน
การตรวจสอบและการเชื่อมั่นที่เกี่ยวข้องกับรายงานความยั่งยืนมี 2 ระดับ ได้แก่
- Limited Assurance (การให้ความเชื่อมั่นในระดับจำกัด)
เป็นการให้ความเชื่อมั่นระดับจำกัด ซึ่งหมายความว่า ผู้ตรวจได้ดำเนินการอย่างเหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยงของข้อมูลที่ผิดพลาดผ่านการสอบถาม สอบทาน และวิเคราะห์แล้ว โดยรายงานที่ได้รับ limited assurance มักจะระบุข้อความที่บ่งบอกถึงระดับความแน่ใจที่ต่ำกว่าการตรวจสอบแบบ reasonable assurance โดยรายงานจะระบุว่า "ไม่มีสิ่งใดที่บ่งชี้ว่าข้อมูลไม่ถูกต้อง" - Reasonable Assurance (การให้ความเชื่อมั่นในระดับสมเหตุสมผล)
เป็นระดับความเชื่อมั่นที่สูงกว่า ซึ่งต้องการกระบวนการตรวจสอบที่ลงลึกและครอบคลุมกว่ามาก ทั้งภาพรวมและวิธีการที่ได้มาของหลักการและข้อมูล การประเมินและตรวจทานการควบคุมภายในของบริษัท การระบุความเสี่ยง การทดสอบรายละเอียด การประเมินหลักฐานที่ได้รับ และการสร้างข้อสรุปของความเห็น โดยรายงานที่ได้รับ reasonable assurance มักจะระบุว่า "ข้อมูลดังกล่าวมีความถูกต้องตามเกณฑ์ที่ตกลงกันอย่างมีนัยสำคัญ"
ประโยชน์ของการตรวจสอบและการให้ความเชื่อมั่นในรายงานความยั่งยืน
กระบวนการ Assurance อาจมีต้นทุนการดำเนินการที่สูงขึ้น แต่เป็นการลงทุนที่สร้างมูลค่ากลับคืนสู่องค์กรได้ เพราะ:
- เพิ่มความเชื่อมั่นให้ผู้ลงทุนและตลาดทุน: ข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบช่วยให้ผู้ลงทุนมั่นใจในการตัดสินใจและสร้างคุณค่าต่อการลงทุนต่อบริษัท
- ยกระดับการสื่อสารขององค์กร: สร้างความน่าเชื่อถือและความโปร่งใสในการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่คุณค่า
- ลดความเสี่ยงด้านชื่อเสียง: ป้องกันข้อกล่าวหาเรื่องการฟอกเขียว(Greenwashing) จากข้อมูลที่อาจผิดพลาดหรือเกินจริง
- ปรับปรุงกระบวนการภายใน: การตรวจสอบช่วยให้องค์กรเห็นจุดที่ต้องปรับปรุง/พัฒนาในระบบการจัดเก็บและบริหารจัดการข้อมูลด้านความยั่งยืน ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ตัวอย่างแนวทางปฏิบัติ: จะเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการ Assurance ได้อย่างไร
สำหรับองค์กรที่สนใจเริ่มต้นกระบวนการตรวจสอบและการให้ความเชื่อมั่นในรายงานความยั่งยืน ควรเตรียมความพร้อม ดังนี้:
- กำหนดขอบเขตงานและวัตถุประสงค์การตรวจสอบที่ชัดเจน: การตกลงภายในองค์กรว่าต้องการให้ตรวจสอบข้อมูลส่วนใด เช่น เฉพาะข้อมูล GHG ข้อมูลด้านสังคม หรือทั้งรายงานความยั่งยืน เป็นต้น ภายใต้มาตรฐานใด และต้องการระดับความเชื่อมั่นแบบใด (Limited หรือ Reasonable) เพื่อช่วยให้ได้รายงานตรงตามจุดประสงค์ของการตรวจสอบของบริษัท
- พัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูล: เพื่อให้มีข้อมูลที่พร้อมตรวจสอบ ควรวางระบบการรวบรวม จัดเก็บ และควบคุมคุณภาพข้อมูลด้านความยั่งยืน ให้เป็นระบบและมีหลักฐานอ้างอิงที่ชัดเจน (Audit Trail) เพื่อลดเวลาและความผิดพลาดในการรวบรวมข้อมูล
- เตรียมความพร้อมให้ทีมงาน: จัดอบรมทีมงานที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจความสำคัญและกระบวนการ Assurance เพื่อให้สามารถเตรียมข้อมูลและประสานงานกับผู้ตรวจสอบฯ ได้อย่างราบรื่น
- ทำงานร่วมกับผู้ตรวจสอบ: คัดเลือกผู้ตรวจสอบ ที่มีความเชี่ยวชาญและทำงานร่วมกันตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผน เพื่อให้กระบวนการเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถตอบสนองต่อความต้องการขององค์กรและผู้มีส่วนได้เสียได้อย่างเต็มที่
การเตรียมความพร้อมที่ดีจะช่วยให้กระบวนการตรวจสอบและการให้ความเชื่อมั่นเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถตอบสนองต่อความต้องการขององค์กรและผู้มีส่วนได้เสียได้อย่างเต็มที่
ข้อมูลอ้างอิง (References)
AccountAbility. (2018). AA1000 Assurance Standard v3. https://www.accountability.org/standards/
International Auditing and Assurance Standards Board (IAASB). (2024). International Standard on Sustainability Assurance (ISSA) 5000. https://www.iaasb.org/publications/international-standard-sustainability-assurance-issa-5000-general-requirements-sustainability
International Federation of Accountants (IFAC). (2023). The State of Play in Sustainability Assurance. https://www.ifac.org/knowledge-gateway/contributing-global-economy/publications/state-play-sustainability-assurance-2023
International Organization for Standardization (ISO). (2018). ISO 14064-3:2019 Greenhouse gases — Part 3: Specification with guidance for the verification and validation of greenhouse gas statements. https://www.iso.org/standard/66463.html