Topic

Nature-based Solution (NbS) …ทางรอดของธุรกิจในปัจจุบัน

หรือแนวทางการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (NbS) จะเป็นทางรอดของธุรกิจในปัจจุบัน?

ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลให้แนวทางการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solution ย่อว่า NbS) ได้ถูกหยิบยกมาพูดถึงและให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากเป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญในการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Mitigation) การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Adaptation) และมีศักยภาพอย่างมากในการแก้ไขปัญหาและประเด็นท้าทายระดับโลก เช่น ภาวะโลกรวน (Climate Change) การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Loss) การลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย (Disaster Risk Reduction) รวมถึงการเติบโตด้านเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย

ที่มา: (IUCN, 2020)      

องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ได้ให้คำจำกัดความของ NbS คือ “การดำเนินงานเพื่อคุ้มครอง จัดการอย่างยั่งยืน และฟื้นฟูระบบนิเวศ โดยการจัดการกับความท้าทายด้านสังคม (Societal Challenges) อย่างมีประสิทธิภาพและปรับให้เข้ากับสถานการณ์ เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีของมนุษย์ และดำรงรักษาประโยชน์ของความหลากหลายทางชีวภาพ”

หรือพูดให้เข้าใจง่ายคือ แนวทางการบริหารจัดการแบบองค์รวมที่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติ ระบบนิเวศ รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพเป็นพื้นฐาน แล้วจึงค่อยพัฒนาการดูแลรักษาพื้นที่ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยที่ผ่านมา กิจกรรมของมนุษย์ที่เน้น ‘การเติบโตทางเศรษฐกิจ’ เป็นเป้าหมายมากกว่าการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม ส่งผลกระทบให้ระบบนิเวศเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว และหากเราทุกคนยังคงละเลยคุณค่าของมิติเหล่านี้ ธรรมชาติอาจถึงจุดที่ไม่อาจหวนกลับ (Point of No Return) ดังนั้นแนวทาง NbS จึงอาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดในเวลานี้ในการจัดการอย่างยั่งยืน และแก้ไขปัญหาที่ครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันแนวทาง NbS ถูกนำมาปรับใช้กับการพัฒนาโครงการและโครงสร้างต่าง ๆ หลายรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น การแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งแบบอาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solution for Coastal Erosion) คือการเข้าใจรากของปัญหาต้นทาง และฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่งดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นพืชชายหาด ป่าชายเลน หญ้าทะเล และปะการังที่ล้วนเป็นปราการณ์ทางธรรมชาติ ป้องกันชุมชนใกล้เคียงจากพายุ คลื่นลมและการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล ซึ่งอาจใช้งบประมาณน้อยกว่าครึ่งของการสร้างกำแพงกันคลื่น (Sea wall) ที่เห็นตามชายทะเลในปัจจุบันเสียอีก (ONEP, 2019)

การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (Green Infrastructure) ระบบขนส่งสาธารณะ (Transport Model) และการพัฒนาเมือง (Urban Development)

จากข้อมูลของ World Bank (2021) แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของการนำ NbS ไปใช้งานในบริบทเมือง เช่น การเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างสวนสาธารณะ เป็นต้น นอกจากโครงสร้างเหล่านี้จะนำมาซึ่งสุขภาวะที่ดีของคนในเมืองแล้ว ยังเป็นส่วนช่วยซับปริมาณน้ำฝน และป้องกันน้ำท่วมอีกด้วย


ที่มา: (World Bank, 2021)      

การปกป้อง ฟื้นฟู และจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ(Wetlands) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งระบบนิเวศที่สำคัญและกำลังตกอยู่ในภาวะถูกคุกคามมากที่สุด จากการบุกรุกและกิจกรรมการพัฒนาในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเกษตร การขยายตัวของเมือง เป็นต้น

การดำเนินธุรกิจในปัจจุบันแท้จริงแล้วล้วนพึ่งพาธรรมชาติเป็นรากฐานและต้นทุน (Natural Capital) ทั้งสิ้น หรือหากคิดเป็นมูลค่าจะมีมากกว่าครึ่งหนึ่งของ GDP โลก โดยเฉพาะธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจทางการเกษตร จากแผนภาพของ We Value Nature (2020) จะเห็นได้ว่า ธุรกิจส่วนใหญ่ล้วนพึ่งพาทุนทางธรรมชาติ (Natural Capital) และการบริการจากระบบนิเวศ (Ecosystem Services) ในการดำเนินธุรกิจ ผ่านกระบวนการผลิตและการจัดการต่าง ๆ จนเกิดสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการของธุรกิจนั้นเป็นอันจบ แต่อย่าลืมว่า ทรัพยากรทางธรรมชาติเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด หากไม่ได้รับการปกป้องและฟื้นฟูอย่างเพียงพอ อาจสูญพันธุ์ได้ ซึ่งแน่นอนว่าธุรกิจที่พึ่งพาทรัพยากรนั้น (Resource-Intensive) ย่อมได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

ดังนั้นแล้ว หากธุรกิจยังต้องพึ่งพาธรรมชาติอยู่ ธุรกิจควรจะปรับเปลี่ยนการจัดการและแนวทางต่าง ๆ ให้เข้ากับธรรมชาติโดยอาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน เพื่อที่จะป้องกันและจัดการธรรมชาติให้กลับคืนมาอย่างยั่งยืน ลดความเสี่ยงที่เกิดจากการขาดแคลนทรัพยากร (Natural Capital Risk) รวมถึงฟื้นฟูและเพิ่มต้นทุนทางธรรมชาติ สำหรับใช้ประโยชน์ต่อไป


ที่มา: (We Value Nature, 2020)      

ธุรกิจส่วนใหญ่จัดทำหรือลงทุนในโครงการด้าน NbS เพราะเป็นหนึ่งในแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร (Decarbonization) และเพื่อมุ่งไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบว่าโครงการต่าง ๆ ที่ประยุกต์แนวคิด NbS ก่อให้เกิดประโยชน์ต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็นและอาจนำไปสู่การฟอกเขียว (Greenwashing) ได้ เหตุผลหนึ่งคือความยากของการประเมินมูลค่า/คุณค่าของธรรมชาติและผลกระทบเป็นหน่วยเงิน แม้ว่ามีความพยายามที่จะทำมาตลอดหลายสิบปีเพื่อหามูลค่าที่แท้จริง แต่ยังไม่สามารถประเมินค่าที่แท้จริงได้ และอีกส่วนหนึ่งคือการออกแบบโครงการด้าน NbS ที่ไม่ได้อิงแนวทางปฏิบัติระดับสากล ดังนั้นแล้ว เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่าธุรกิจสามารถนำแนวทางการปรับตัวตามธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ ธุรกิจควรยึดตามหลักมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก เช่น IUCN's Global Standard เป็นต้น

นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ยังเห็นว่าแนวทาง NbS นี้จะเป็นตัวขับเคลื่อนความสามารถในการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากสถานการณ์ที่ยากลำบากโดยอิงกับธรรมชาติ (Green Resilience) รวมถึงการพัฒนาที่ครอบคลุมอย่างทั่วถึง (Inclusive Development) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 อย่างไรก็ตาม เม็ดเงินที่ไหลไปสู่แนวทางสีเขียว (Green Recovery)ขาดแคลนอย่างมาก จากการศึกษาของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNEP พบว่า เงินส่วนใหญ่ที่ลงทุนในแนวทางการปรับตัวเข้ากับธรรมชาติมาจากนโยบายรัฐ น่าเสียดายที่เพียงส่วนน้อยเท่านั้นมาจากภาคเอกชน ซึ่งเป็นภาคส่วนที่สามารถขับเคลื่อนได้เร็วกว่า มีความยืดหยุ่นสูงกว่า สร้างผลกระทบในวงกว้างและมีพลังในการขับเคลื่อนมากที่สุด

ที่มา: (UNEP, WEF, ELD, Vivid Economics, 2021)    

จากการศึกษา UNEP ยังพบอีกว่า ภาคธุรกิจสามารถเร่งกลไกและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับแนวทาง NbS ซึ่งเป็นการดำเนินการไปสู่แนวทางสีเขียว ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น ง่าย ๆ ดังนี้

  1. การประเมินด้าน ESG ขององค์กร (Measure) โดยใช้ ESG Metrics เพื่อวัดผลกระทบและเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ
  2. การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Decarbonize) รวมถึงผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศจากพอร์ตการลงทุนของธุรกิจเอง
  3. การปรับเปลี่ยนและเปลี่ยนแปลง (Transform) โมเดลห่วงโซ่อุปทานไปสู่ความยั่งยืน
  4. การเพิ่มการสนับสนุนเงินทุน (Scale) สู่โครงการที่เกี่ยวข้องกับแนวทาง NbS
  5. การสร้างสรรค์ (Innovate) โมเดลทางธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการลงทุนของธุรกิจ

เพียงแค่ 5 ขั้นตอนนี้ จะเปลี่ยนกระแสเงินลงทุนไปสู่แนวทางที่เกี่ยวข้องกับ NbS หรือแนวทางสีเขียวมากขึ้น เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและยั่งยืนหลังวิกฤติโควิด-19 ได้

         นอกจากนี้ ธุรกิจในแต่ละภาคส่วนอุตสาหกรรมสามารถนำ NbS ไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทอุตสาหกรรมตัวเองได้แตกต่างกันไป โดย University of Cambridge Institute for Sustainability Leadership (CISL) ได้จัดทำแนวปฏิบัติเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม (Sector-Specific Guidelines) เพื่อให้แต่ละธุรกิจสามารถนำแนวทาง NbS ไปประยุกต์ใช้กับบริบทของอุตสาหกรรมตนเองได้ อย่างไรก็ตาม โครงการด้าน NbS ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นโครงการที่สร้างขึ้นแล้วจบไป ไม่สามารถพัฒนา หรืออยู่ได้ด้วยตนเอง นอกจากต่อยอดแนวทางดังกล่าวให้กลายเป็นแนวทาง NbS ที่มีความสามารถเชิงธุรกิจ (Bankable Nature Solution) มีรายได้ในการพัฒนาตัวเอง ดำรงอยู่ได้เองอย่างยั่งยืนและสร้างผลกระทบที่ดีต่อสังคมในวงกว้างขึ้นและต่อเนื่อง

ที่มา: (UNEP, WEF, ELD, Vivid Economics, 2021)    

สำหรับในประเทศไทย แนวทางนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ นอกจากอยู่ในวิถีชีวิตและภูมิปัญญาไทยซึ่งเป็นสังคมเกษตรกรรมและมีความผูกพันพึ่งพิงธรรมชาติอยู่แล้ว หลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เช่น การเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เพื่อแก้ไขปัญหาหรือยกระดับการพัฒนาโดยรวมให้ตรงกับบริบทความเป็นจริงและความต้องการทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อม โดยวิธีการ “ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ” เช่น ในโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำเสียชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งมีผลต่อการรักษาสภาพป่าชายเลน ด้วยระบบที่ใช้พืชและหญ้ากรองน้ำเสีย ยังสอดคล้องกับแนวทาง NbS ด้วย ดังนั้น การศึกษาเพื่อประยุกต์ใช้และต่อยอดอาจเป็นประโยชน์ที่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและวัดผลได้

กล่าวโดยสรุป การเติบโตอย่างยั่งยืนนั้นสามารถเติบโตไปพร้อม ๆ กัน ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมได้ และภาคธุรกิจเป็นส่วนสำคัญมากในการขับเคลื่อนนี้ อีกทั้งยังสามารถเร่งให้เกิดโครงการและการลงทุนที่มีประโยชน์ต่อสภาพภูมิอากาศ ธรรมชาติและผู้คนในวงกว้างได้ ธุรกิจจะได้รับโอกาสมูลค่ามหาศาลหากเลือกที่จะปรับตัวเข้ากับธรรมชาติ แต่จะเกิดความเสี่ยงมากมายขึ้นหากยังเลือกที่จะนิ่งเฉย และหากปรับตัวช้า มีโอกาสที่จะตกขบวนรถไฟ โดนทิ้งไว้และผลักออกจากตลาดสูง อย่างที่ทุกคนทราบดีว่า สังคมทุกวันนี้ คนรุ่นใหม่ที่จะกลายเป็นผู้บริโภคหลักของประเทศต่างให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ดังนั้น ธุรกิจอาจต้องเร่งหาคำตอบว่า จะปรับตัวอย่างไร เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านนี้และอยู่รอดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

 

โดย ทยุต สิริวรการวณิชย์
ฝ่ายส่งเสริมความรู้ด้านความยั่งยืน

 

References

เอกสารที่น่าสนใจอื่น ๆ